เครือข่ายนักวิชาการ ผู้ปกครอง ครู เด็กและเยาวชน “ยื่นหนังสือถึง “ประธานกมธ.วิสามัญบุหรี่ไฟฟ้า” เรียกร้องให้ คงกฎหมาย “ห้ามนำเข้าห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า” และ “เร่งบังคับใช้กฎหมายอย่างเร่งด่วน” เพื่อปกป้องลูกหลานไทยจากภัยบุหรี่ไฟฟ้า
เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 26 ต.ค. 2566 เครือข่ายนักวิชาการ เครือข่ายผู้ปกครอง เครือข่ายครู เด็กและเยาวชน 40 คน นำโดย ผศ.ดร.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์จัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ได้เข้าพบและยื่นหนังสือถึง ‘ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษากฎหมายและมาตรการควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย’ เพื่อขอให้ขอเรียกร้องให้คงกฎหมาย ‘ห้ามนำเข้าห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า’ และ ‘เร่งบังคับใช้กฎหมายอย่างเร่งด่วน’ เพราะเป็นมาตรการที่ดีที่สุดในการปกป้องเด็กและเยาวชนไทยจากพิษภัยบุหรี่ไฟฟ้า และจากข้อมูลที่รับทราบกันในระดับสากลว่าเกิดการระบาดหนักของการเสพติดบุหรี่ไฟฟ้าในเยาวชนทั่วโลก และ ในประเทศไทยผู้ลักลอบขายบุหรี่ไฟฟ้าผิดกฎหมายมุ่งเป้าขายบุหรี่ไฟฟ้าไปที่เยาวชนไปถึงเด็กประถม ด้วยการทำรูปลักษณ์ของบุหรี่ไฟฟ้าเป็นตุ๊กตา (Toy Pod) และมีผู้ลักลอบขายผิดกฎหมายกว่า 390 รายบนเครือข่ายออนไลน์
นอกจากนี้ ผศ.ดร.นพ.วิชช์ กล่าวว่า สืบเนื่องจากการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2566 ที่ผ่านมา โดยมีวาระการพิจารณาญัตติ เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษากฎหมายและมาตรการควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยที่ประชุมได้มีมติสนับสนุนให้มีการตั้งและเห็นชอบรายชื่อคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ตามที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสนอ แต่พบปัญหาที่เกิดขึ้นคือ มีรายชื่อบุคคล 2 ราย ที่เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจยาสูบร่วมเป็นกรรมาธิการวิสามัญฯ ชุดนี้
ซึ่งเป็นการขัดต่อพันธกรณีที่ประเทศไทยมี ภายใต้มาตรา 5.3 อนุสัญญาควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลกว่าด้วยการป้องกันการแทรกแซงนโยบายควบคุมยาสูบจากธุรกิจยาสูบหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งจะทำให้กรรมาธิการวิสามัญฯ ชุดนี้ ขาดความน่าเชื่อถือ สร้างความเคลือบแคลงสงสัยจากสังคมว่ามีการแทรกแซงจากธุรกิจยาสูบเพื่อเปิดให้มีการขายบุหรี่ไฟฟ้าอย่างถูกกฎหมาย และจะทำให้การระบาดของการเสพติดนิโคตินจากบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในประเทศไทย จึงขอเข้าพบและยื่นหนังสือถึง ประธานกรรมาธิการวิสามัญบุหรี่ไฟฟ้า ให้ทบทวนในประเด็นดังกล่าว
นางสาวอิงฟ้า ประยูรสุข ตัวแทนสภาผู้ปกครองและครูแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าของลูกหลานไทย กำลังอยู่ในสถานการณ์น่าเป็นห่วงอย่างมาก เนื่องจากพบเด็กอายุน้อยลงเรื่อยๆ ที่เข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าได้ ซึ่งล่าสุดพบ เด็กวัยเพียง 9 ขวบ ทดลองสูบบุหรี่ไฟฟ้า จึงขอเรียกร้องให้ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษากฎหมายและมาตรการควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย คงกฎหมาย ‘ห้ามนำเข้าห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า’ และเร่งบังคับใช้กฎหมายอย่างเร่งด่วน เพราะเป็นมาตรการที่ดีที่สุดในการปกป้องเด็กและเยาวชนไทยจากพิษภัยบุหรี่ไฟฟ้า