เสียงเรียกร้องจากชุมชนเทศบาลเมืองปทุมธานีและบ้านไร่ศิลาทอง ลำปาง “ไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า”

เสียงเรียกร้องจากชุมชนเทศบาลเมืองปทุมธานีและบ้านไร่ศิลาทอง ลำปาง “ไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า”

วันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) และหน่วยวิชาการเครือข่ายนักสาธารณสุขจัดการปัจจัยเสี่ยง (สปสส.) คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และธรรมศาสตร์ ร่วมกันจัดกิจกรรม ประชุมถอดบทเรียน “บทบาทของชุมชนกับการควบคุมยาสูบ บุหรี่ไฟฟ้าและกัญชา จากชุมชน 3 ลักษณะ: เมือง กึ่งเมือง และชนบท” ณ ห้องประชุมบอลรูม C โรงแรมมารวยการ์เด้น

ศาสตราจารย์เกียรติคุณแพทย์หญิง สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ กล่าวว่า “ปัญหาเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า กำลังเป็นปัญหาที่คุกคามเด็กและเยาวชนไทยอยู่ในขณะนี้ จึงขอให้ทางรัฐบาลในฐานะผู้กำหนดนโยบาย ขอให้คงไว้ซึ่งมาตรการห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า เพราะเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการปกป้องเยาวชน ตลอดจนทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขอให้ร่วมกันบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด และเร่งรณรงค์และให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ทุกภาคส่วน”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรรณภา นาราเวช อาจารย์พิเศษ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า “ปัญหายาสูบในชุมชนกึ่งเมืองพบว่า แรงงานต่างด้างที่เข้ามาทำงานในโรงงาน เป็นกลุ่มที่ใช้ยาสูบเป็นจำนวนมาก และมีปัญหาการเข้าถึงข้อมูลสุขภาพ ดังนั้นในโครงการ ได้ริเริ่มทำงานกับแกนนำแรงงานต่างด้าว ให้เกิดการ ลด ละ เลิก ยาสูบ เพื่อให้เกิดสุขภาวะที่ดีของคนในชุมชน ขณะเดียวกันก็ปรับทัศนะให้เกิดการทำงาน ลด ละ เลิก ยาสูบ ร่วมกันทั้งคนในชุมชน และแรงงานต่างด้าว โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภา วิตตาภรณ์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า “การสร้างเสริมความเข้มแข็งและยกระดับขีดความสามารถการควบคุมยาสูบของชุมชน ชักชวนให้ผู้เสพเลิกใช้ยาสูบ โดยชุมชน โดย อสม. ซึ่งเป็นแกนนำด้านสุขภาพของชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ประเมินสถานการณ์การสูบบุหรี่ในชุมชน วิเคราะห์ปัญหา ดำเนินกิจกรรมแก้ไขปัญหาบุหรี่เพื่อป้องกันนักสูบหน้าใหม่ ลดผู้สูบบุหรี่ และจัดสภาพแวดล้อมที่ปลอดบุหรี่ ทั้งที่บ้านและชุมชน อย่างไรก็ตามบุหรี่ไฟฟ้าที่อาจจะเป็นภัยคุกคามสุขภาพของเด็กและเยาวชนในอนาคต จึงจำเป็นต้องสนับสนุนให้ชุมชนทั้งเมืองและชนบทเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด”

อ.จุฑาทิพย์ คงปั้น คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “สถานการณ์ บุหรี่ไฟฟ้าในชุมชน พบเด็กเริ่มใช้ตั้งแต่ประถม และยังพบว่า ผู้ปกครองยังมีความเข้าใจผิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่เป็นอันตราย ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดที่เป็นอันตรายอย่างยิ่ง นอกจาก บุหรี่ไฟฟ้าจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพแล้ว ยังเป็นประตูไปสู่การใช้สารเสพติดด้วย”

อ.ดร.วศิน พิพัฒนฉัตร หน่วยวิชาการเครือข่ายนักสาธารณสุขจัดการปัจจัยเสี่ยง (สปสส.) กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “การแก้ปัญหาปัจจัยเสี่ยง เรื่องบุหรี่ไฟฟ้ากัญชา นอกเหนือจากเรื่องนโยบายของรัฐบาล การมีส่วนร่วมของชุมชนในการแก้ปัญหาก็นับเป็นปัจจัยสำคัญในความสำเร็จเพื่อให้เกิดสังคมสุขภาวะ ขอขอบคุณทุกชุมชนทั้งจากเทศบาลเมืองปทุมธานี และบ้านไร่ศิลาทอง จังหวัดลำปาง ในวันนี้ที่มาร่วมกันถอดบทเรียนเพื่อสร้างสรรค์ให้สังคมไทยปลอดบุหรี่ไฟฟ้า และกัญชา ต่อไป”

Credit : https://www.lokwannee.com/web2013/?p=460305


พิมพ์