การประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 6

การประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 6

เรื่อง “ร่วมมือ ประสานใจ สร้างสังคมไทยปลอดบุหรี่” วันที่ 10-11 กันยายน 2550 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ ความเป็นมา ในห้วงเวลา 3 ทศวรรษของการดำเนินงานควบคุมยาสูบในประเทศไทย ถือได้ว่าประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ มีกฎหมายที่ใช้ในการควบคุยาสูบถึง 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 และ พ.ร.บ. คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535

และเป็นประเทศอันดับที่ 38ใน 147 ประเทศที่ร่วมลงสัตยาบันตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (WHO – FCTC) เมื่อ ปี พ.ศ.2548 ส่งผลให้ประเทศไทยต้องดำเนินการตามพันธกรณีของกรอบอนุสัญญา ฯ ในการควบคุมยาสูบ เช่นเดียวกับประเทศต่าง ๆ เพื่อให้การดำเนินการควบคุมยาสูบของประเทศไทยมีประสิทธิภาพ และเป็นแนวทางเดียวกันกับสากล ดัชนีที่ยืนยันถึงความสำเร็จในการควบคุมยาสูบของไทยได้เป็นอย่างดีคือ จำนวนและอัตราการสูบบุหรี่เป็นประจำของคนไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2534 ถึง ปี พ.ศ.2549 มีแนวโน้มลดลงเป็นลำดับจาก 11.67 ล้านคนหรือร้อยละ 30.46 ในปี พ.ศ.2534 เหลือเพียง 9.54 ล้านคนหรือ ร้อยละ 18.94 ในปี พ.ศ.2549 การสูบบุหรี่เป็นประจำทั้งเพศชายและเพศหญิงลดลงเช่นกัน โดยอัตราการสูบบุหรี่ของเพศชายลดลงจากร้อยละ 55.63ในปี พ.ศ.2534 เหลือร้อยละ 36.91 ในปี พ.ศ.2549 ซึ่งลดลงร้อยละ 33.65 ในขณะที่อัตราการสูบบุหรี่ของเพศหญิงลดลงจากร้อยละ 4.60 ในปี พ.ศ.2534 เหลือร้อยละ 2.0 ในปี พ.ศ.2549 ซึ่งลดลงถึงร้อยละ 56.52

แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอัตราการสูบบุหรี่เป็นประจำจะมีแนวโน้มลดลงเป็นที่ลำดับ แต่เมื่อเปรียบเทียบอัตราการสูบบุหรี่ของประเทศพัฒนาแล้ว ประเทศไทยยังจะต้องดำเนินการควบคุมยาสูบอย่างจริงจัง รวมทั้งยังพบว่า อัตราการสูบบุหรี่เป็นครั้งคราวในประชากรหญิงเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 128.6 จากปี พ.ศ.2534 กับปี พ.ศ. 2549 แสดงให้เห็นว่าการควบคุมยาสูบยังไม่สามารถครอบคลุมถึงกลุ่มที่สูบบุหรี่เป็นครั้งคราวเท่าที่ควร นอกจากนี้ข้อมูลหนึ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือ คนไทย 15.89 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเด็กอายุ ต่ำกว่าหรือเท่ากับ 5 ปี จำนวน 2.28 ล้านคน ต้องเผชิญกับควันบุหรี่มือสองในบ้านของตนเองอีกด้วย

ดังนั้นภาระการควบคุมยาสูบยังเป็นโจทย์สำคัญที่ทุกฝ่ายจะต้อง “ร่วมมือ ประสานใจ สร้างสังคมไทยปลอดบุหรี่” ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ(ศจย.) มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ จึงได้จัดให้มีการประชุมวิชาการ “บุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ” ครั้งที่ 6 ขึ้น เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ตลอดจนประสบการณ์การดำเนินงานเพื่อเป็นแบบอย่างให้กับหน่วยงาน/ องค์กร /บุคคลได้นำไปพัฒนาให้เหมาะสมกับบริบทของตนเอง หากทุกภาคส่วนซึ่งล้วนมีความสำคัญ สามารถก้าวผ่านอุปสรรคร่วมกัน การบรรลุเป้าหมายก็อยู่ไม่ไกล


พิมพ์