การประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5

การประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5

เรื่อง “รวมพลังประชาคม ขจัดภัยบุหรี่” วันที่ 5-6 มิถุนายน 2549 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ ความเป็นมา จากการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของประชากร โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2547 ได้เสนอผลการสำรวจประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป พบว่า ประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปมีจำนวน 49.4 ล้านคน เป็นผู้ที่สูบบุหรี่ประมาณ 11.3 ล้านคน หรือร้อยละ 23.0 ซึ่งเป็นจำนวนที่ไม่น้อยเลย

และหากนำมาคำนวณความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคมที่จะเกิดขึ้นจากการสูบบุหรี่แล้ว เราจะพบว่าความสูญเสียประเมินค่าไม่ได้

ในปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายในการควบคุมยาสูบ 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535 และ พ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535 ซึ่งกฎหมายฉบับแรกมีบทบาทสำคัญในการควบคุมการผลิต การโฆษณา การส่งเสริมการขาย และการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาสูบให้อยู่ในขอบเขตที่พอเหมาะ ส่วนกฎหมายฉบับหลังนั้นให้ความสำคัญต่อประชาชนในสังคม เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะได้รับการปกป้องไม่ให้ได้รับอันตรายจากการสูดดมควันบุหรี่ที่ผู้อื่นสูบในที่สาธารณะ ที่เราทราบกันดีว่าการเป็น “นักสูบมือสอง” ( secondhand smoker) มีโอกาสเป็นโรคร้ายแรงจากควันบุหรี่ เช่น มะเร็งปอด โรคหัวใจและหลอดเลือด หรือแม้กระทั่งการเกิดอาการหอบหืดและภูมิแพ้ได้ไม่น้อยไปกว่าผู้ที่สูบบุหรี่เอง

ถึงแม้เราจะมีกฎหมายที่ใช้ในการควบคุมการบริโภคยาสูบที่ดี แต่ก็ยังมีจุดอ่อนอีกหลายด้านที่เป็นข้อจำกัดที่ทำให้การควบคุมการบริโภคยาสูบไม่ได้ผลสูงสุดและมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร กล่าวคืออัตราการสูบบุหรี่ในบางกลุ่มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก เยาวชนและสตรี การแก้ไขปัญหาพฤติกรรมการสูบบุหรี่ไม่สามารถจะทำได้โดยบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง ฉะนั้นศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมการบริโภคยาสูบ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ จึงได้จัดให้มีการประชุมวิชาการ “บุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ” ครั้งที่ 5 เรื่อง “ รวมพลังประชาคม ขจัดภัยบุหรี่” เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เชื่อมโยงภาคีเครือข่าย รวมทั้งหนุนเสริมการทำงานของประชาคม เพื่อผลักดันให้เกิดนโยบายสาธารณะ ที่จะส่งผลต่อการควบคุมการบริโภคยาสูบได้ในอนาคต


พิมพ์