การประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพ แห่งชาติครั้งที่ 5

การประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพ แห่งชาติครั้งที่ 5

การดำเนินงานควบคุมการบริโภคยาสูบของประเทศไทย มีมานานอย่างน้อยสองทศวรรษ ผลลัพธ์ของการดำเนินงานสามารถพิจารณาได้จากการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 – 2547 พบว่า อัตราการสูบบุหรี่ของประชากรลดลงเป็นลำดับ

จากร้อยละ30.46 เหลือร้อยละ 19.47 ในปี 2547 โดยอัตราการสูบบุหรี่ของผู้ชายลดลงจากร้อยละ 55.63 ในปี 2534 เหลือร้อยละ 37.16 ในปี 2547 สำหรับในประชากรหญิงพบว่าลดลงเช่นกันจากร้อยละ 4.60 ในปี 2534 เหลือร้อยละ 2.11 ในปี 2547 และจำนวนผู้สูบบุหรี่ก็ลดลงจากจำนวน 10,34 ล้านคนในปี 2534 เหลือ 9.63 ล้านคนในปี 2547
อย่างไรก็ดี ประเทศไทยได้รับการยอมรับในระดับโลกว่ามีการควบคุมการบริโภคยาสูบที่ที่สุดประเทศหนึ่ง เรามีกฎหมายในการควบคุมยาสูบ 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 และ พ.ร.บ. คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535 ซึ่งกฎหมายฉบับแรกมีบทบาทสำคัญในการควบคุมการผลิต การโฆษณา การส่งเสริมการขาย และการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาสูบให้อยู่ในขอบเขตที่พอเหมาะ ส่วนกฎหมายฉบับหลังนั้นให้ความสำคัญต่อประชาชนในสังคมเพื่อเป็นหลักประกันว่าจะได้ รับการปกป้องไม่ให้ได้รับอันตรายจากการสูดดมควันบุหรี่ที่ผู้อื่นสูบในที่สาธารณะ นอกจากนั้น เรามีนโยบายขึ้นภาษีบุหรี่เป็นระยะ ๆ มีหน่วยงานควบคุมการบริโภคยาสูบในกระทรวงสาธารณสุข เพื่อกำหนดแผนแม่บทการควบคุมยาสูบ และเฝ้าระวังการบริโภคยาสูบ รวมทั้ง มีองค์กรเอกชนรณรงค์ไม่สูบบุหรี่และชี้แนะสาธารณะเพื่อผลักดันโยบาย มีกฎหมายนำภาษีจากบุหรี่มาสนับสนุนการควบคุมยาสูบ คือ พรบ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ทำให้การทำงานควบคุมยาสูบมีหลักประกันในด้านงบประมาณที่ต่อเนื่องและสามารถพึ่งตนเองได้
ถึงแม้เราจะมีมาตรการการควบคุมยาสูบที่ดีดังกล่าวข้างต้น แต่ก็ยังมีจุดอ่อนอีกหลายด้านที่เป็นข้อจำกัดที่ทำให้การควบคุมการบริโภคยาสูบไม่ได้ผลสูงสุดและมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร กล่าวคืออัตราการสูบบุหรี่ของชายไทยยังสูงมากถึงร้อยละ 37 (เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วจะไม่เกินร้อยละ 25 ) อัตราการสูบบุหรี่ในบางกลุ่มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก เยาวชน สตรี และกลุ่มคนยากจน จำนวนผู้เสพติดในภาพรวม มีถึงกว่า 9 ล้านคน แต่ยังขาดการบริการเลิกบุหรี่ให้แก่บุคคลเหล่านี้ให้เพียงพอ กระทรวงสาธารณสุขต้องเสียค่ารักษาพยาบาล 3 โรคหลักที่เกิดจาการสูบบุหรี่ คือโรคถุงลมปอดโป่งพอง มะเร็งปอด และโรคหัวใจขาดเลือดถึงปีละ 46,000 ล้านบาท และมีผู้เสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ถึงปีละ 52,000 คน นอกจากนั้นการเปิดการค้าเสรีทำให้การแข่งขันของธุรกิจยาสูบรุนแรงขึ้น
การผลักดันนโยบายได้รับการต่อต้านจากธุรกิจยาสูบ ในขณะที่ภาคีเพื่อการควบคุมยาสูบยังจำกัดอยู่ โดยเฉพาะองค์กรและบุคลากรที่ทำงานควบคุมยาสูบระดับรากหญ้ายังมีจำนวนน้อยมาก
ปัญหาดังกล่าวข้างต้น ไม่สามารถจะทำได้โดยบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่งเท่านั้น ดังนั้น ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมการบริโภคยาสูบ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้ร่วมกับ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ เครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ จัดการประชุมวิชาการ “บุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ” ครั้งที่ 5 เรื่อง “ รวมพลังประชาคม ขจัดภัยบุหรี่” ระหว่างวันที่ 5-6 มิถุนายน 2549 ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กรุงเทพฯ เพื่อเพื่อพัฒนาศักยภาพให้กับบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการบริโภคยาสูบ เพื่อให้เกิดการแลก เปลี่ยนเรียนรู้ และหาแนวทางการดำเนินงานร่วมกันระหว่างภาคีเครือข่าย โดยเชื่อมประสานกับบุคคล กลุ่มบุคคล องค์กร/สถาบันทั้งภาครัฐ/ภาคเอกชนและประชาชน
เนื้อหาสำคัญของการประชุมในครั้งนี้ในวันแรกประกอบด้วย นานาทรรศนะต่อขบวนการควบคุมการบริโภคยาสูบไทยในปัจจุบันและอนาคต จากมุมมองของนักสังคมศาสตร์ นักสื่อสารมวลชน และนักการเมืองรวมทั้งแพทย์ และมีวิทยากรพิเศษจากมหาวิทยาลัยฮ่องกง คือศ. นพ.เฮดเลย์ บรรยายเรื่องควันบุหรี่มือสอง กับ ผลกระทบต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม นอกจากนั้น ยังมีการประชุมวิชาการในหัวข้อต่างๆคือ ควันบุหรี่มือสองกับการห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ การโฆษณา ส่งเสริมการขาย การอุปถัมภ์ ภาพคำเตือน บนซองบุหรี่ โดยมีกรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จของประเทศไทยเช่นการห้ามแสดงบุหรี่ ณ จุดขาย การคัดค้านการอุปถัมภ์รายการ อาเซียน อารต์ อวอร์ด และผลของภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ต่อพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของประชาชนไทย นอกจากนั้นยังมีการประชุมวิชาการเรื่องการให้บริการเลิกบุหรี่ในรูปแบบต่างๆทั้งแบบ เบ็ดเสร็จ การบริการให้คำปรึกษารายบุคคล รายกลุ่มหรือทางโทรศัพท์ การประชุมในครั้งนี้ มีความพยายามที่จะเชื่อมร้อยเครือข่ายการบริการเลิกบุหรี่เพื่อก่อให้เกิดการส่งต่อผู้ป่วยที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนั้นยังมีประเด็นเรื่องผู้หญิงกับบุหรี่ โดยผู้หญิงเป็นกลุ่มเป้าหมายที่บริษัทบุหรี่ต้องการเข้าถึง ยิ่งกว่านั้น ในยุคโลกาภิวัตน์ ที่พรหมแดนทางภูมิศาสตร์ไม่สามารถขวางกั้นการขยายตลาดของบริษัทบุหรี่ได้ เศรษฐศาสตร์การเมืองกับการควบคุมยาสูบจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องทำความเข้าใจทั้งในเรื่องของข้อตกลงการค้าเสรีกับผลกระทบต่อราคาบุหรี่ และบุหรี่ลักลอบ สำหรับการประชุมในวันที่สอง จะเริ่มด้วยหัวข้อเรื่องกรอบอนุสัญญาเพื่อการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก ซึ่งเป็นกฏหมายที่ทรงพลานุภาพในการต่อกรกับบรรษัทบุหรี่ในยุคโลกาภิวัตน์ และหลังจากนั้นจะเป็นการรวมพลังภาคีในแต่ละกลุ่มเพื่อกำหนดทิศทางการทำงานร่วมกันของภาคี ได้แก่ เครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ เครือข่ายนักวิจัยเพื่อการควบคุมยาสูบ เครือข่ายครู เครือข่ายภาคประชาชน และเครือข่ายเยาวชนเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ โดยเครือข่ายทั้งห้ากลุ่มจะมีคำประกาศร่วมกันในตอนท้ายของการประชุม
เอกสารประกอบการประชุมนี้ ได้รวบรวมงานวิจัย บทความ และคำบรรยายของวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในการควบคุมยาสูบในแต่ละสาขาซึ่งเกี่ยวข้องกับการประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 นี้ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ หวังอย่างยิ่งว่า การประชุมในครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นในการทำความรู้จัก และถักทอเครือข่ายเพื่อการควบคุมยาสูบให้กว้างขวาง และเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น และหวังอย่างยิ่งว่าเนื้อหาในเอกสารนี้ จะเป็นประโยชน์สำหรับทุกท่านในการทำงานควบคุมการบริโภคยาสูบ อันเป็นภาระที่ยิ่งใหญ่ร่วมกันต่อไป


พิมพ์