ธรรมศาสตร์-มหิดล-องค์การอนามัยโลก จัดตั้งศูนย์ความรู้ ป้องกันการแทรกแซงนโยบายจากบริษัทบุหรี่

ธรรมศาสตร์-มหิดล-องค์การอนามัยโลก จัดตั้งศูนย์ความรู้ ป้องกันการแทรกแซงนโยบายจากบริษัทบุหรี่

วันที่ 14 มิ.ย.2566 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดพิธีลงนามในบันทึกความร่วมมือ โดยมี รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัย มหิดล และ ดร.แอนเดรียน่า บลังโค มาร์ คิโซ่ หัวหน้าสำนักเลขาธิการกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก ร่วมเป็นตัวแทนในการลงนามจัดตั้ง

“ศูนย์ความรู้สำหรับมาตรา 5.3 ของกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO-FCTC” เพื่อเป็นศูนย์กลางความรู้เพื่อการป้องกันการแทรกแซงนโยบายควบคุมยาสูบโดยอุตสาหกรรมยาสูบสำหรับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เผยว่า แม้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ร่วมยกร่างมาตรา 5.3 ของกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก เพื่อป้องกันการแทรกแซงนโยบายควบคุมยาสูบจากบริษัทบุหรี่และผู้เกี่ยวข้อง แต่ยังมีการแทรกแซงนโยบายควบคุมยาสูบโดยบริษัทบุหรี่และองค์กรบังหน้า

รวมทั้งสนับสนุนทุนให้นักวิจัยไทยเพื่อควบคุมทิศทางการวิจัยให้เป็นประโยชน์กับบริษัทบุหรี่ เช่น เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจเรื่องพิษภัยจากควันบุหรี่มือสอง เป็นอุปสรรคสำคัญอันดับหนึ่งที่ทำให้การควบคุมยาสูบไทยไม่สำเร็จ

“อยากฝากไปถึงรัฐบาลชุดใหม่ ให้เพิ่มเรื่องแนวปฏิบัติตามมาตรการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก ไว้ด้วย เพื่อควบคุมการแทรกแซงของบริษัทบุหรี่โดยเฉพาะต่อเจ้าหน้าที่รัฐให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้การควบคุมยาสูบของประเทศไทยก้าวหน้าช่วยลดอัตราการสูบบุหรี่ สร้างสุขภาพที่ดีให้กับประชาชนไทย” ศ.นพ.ประกิต กล่าว

ดร.แอนเดรียน่า ให้คำแนะนำว่า การควบคุมยาสูบที่ประสบผลสำเร็จเช่น ภาษียาสูบ การค้ายาสูบผิดกฎหมาย หรือการเพาะปลูกยาสูบ ต้องเกิดจากความร่วมมือของหน่วยงานด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะในมาตรา 5.3 ของ WHO-FCTC ซึ่งเป็นการป้องกันการแทรกแซงจากธุรกิจยาสูบจึงมีความเกี่ยวข้องกับทุกหน่วยงาน และควรบังคับใช้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้แทน พนักงานในระดับประเทศ ระดับท้องถิ่น ในทุกระดับทั้งฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ ที่รับผิดชอบกำหนดและนำนโยบายควบคุมยาสูบไปปฏิบัติ

ภายในงานนี้ยังมีการให้ข้อมูลที่เกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้า ว่า ปัจจุบันมีประเทศที่มีกฎหมายห้ามนำเข้าและห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าเหมือนประเทศไทย รวมเกือบ 40 ประเทศ ซึ่งเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเห็นผลกระทบอย่างร้ายแรงที่จะเกิดต่อเด็กและเยาวชน บทเรียนจากหลายประเทศที่บริษัทบุหรี่ยังวิ่งเต้นไม่สำเร็จ เพราะความเข้มแข็งในการทำงานด้านการควบคุมยาสูบของภาคีเครือข่ายด้านการแพทย์ สุขภาพและประชาสังคม

เช่น บราซิล เม็กซิโก สิงคโปร์ และออสเตรเลีย ซึ่งประเทศไทยโดยเฉพาะรัฐบาลชุดใหม่ควรศึกษาจากบทเรียนในประเทศเหล่านี้ เพื่อพิจารณานโยบายเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าอย่างรอบคอบปราศจากการแทรกแซงจากเครือข่ายธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้า

Credit : https://www.khaosod.co.th/monitor-news/news_7715668


พิมพ์