วารสารอังกฤษชื่นชมไทย ตัดสินใจรวดเร็ว “ห้ามนำเข้า ห้ามขาย บุหรี่ไฟฟ้า” วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันแพร่ระบาดในเยาวชน ผศ.ดร.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ.2566 สองวันหลังจากที่รัฐบาลออสเตรเลียประกาศนโยบายห้ามนำเข้าบุหรี่ British Medical Journal
ชองประเทศอังกฤษ ได้เผยแพร่ความเห็นทางวิชาการว่า นโยบายการปราบปรามอย่างเด็ดขาดดังกล่าว เพราะความกังวลเกี่ยวกับการแพร่กระจายของบุหรี่ไฟฟ้าในตลาดมืด จะส่งผลให้มีการเสพติดในกลุ่มเยาวชนเพิ่มมากขึ้น โดยระบุว่า การแพร่ระบาดบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเยาวชนมิใช่ความเสี่ยง แต่เป็นหายนะทางด้านสาธารณสุข ในขณะที่ยกตัวอย่างประเทศอื่นๆ เช่น ประเทศไทยเป็นกรณีศึกษาที่ตัดสินใจอย่างรวดเร็วในการใช้มาตรการห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า มาตั้งแต่ พ.ศ.2557
“ซึ่งแนวคิดการห้ามบุหรี่ไฟฟ้านี้ มีพื้นฐานจากการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ (systematic review) ดังนี้ 1) บุหรี่ไฟฟ้ามีนิโคตินซึ่งเป็นสารเสพติดและสารพิษต่างๆ เทียบเท่ากับหรือมากกกว่าบุหรี่ปกติ ส่งผลกระทบต่อทุกระบบของร่างกายทั้งระยะสั้นและระยะยาว ทั้งผู้สูบและผู้อยู่ใกล้ชิด โดยเฉพาะทำลายสมองของเยาวชน 2) ไม่มีหลักฐานงานวิจัยยืนยันว่าบุหรี่ไฟฟ้าช่วยเลิกบุหรี่มวน 3) บุหรี่ไฟฟ้ายังเป็นจุดเริ่มต้นในการเสพติดบุหรี่มวนหรือสารเสพติดประเภทอื่นในเยาวชนต่อเนื่องตลอดชีวิต 4) ด้วยรูปลักษณ์และสารปรุงแต่งกลิ่นรสของบุหรี่ไฟฟ้า สร้างความยั่วยวนใจ ให้วัยรุ่นหันมาทดลองสูบบุหรี่ไฟฟ้า รวมทั้งการโหมโฆษณา ประชาสัมพันธ์ และการระดมขายในสื่อออนไลน์ ซึ่งผู้ที่นิยมใช้สื่อเหล่านี้คือเยาวชน จึงเกิดการระบาดอย่างกว้างขวางในกลุ่มเยาวชน ทั้งนี้เสรีภาพของเยาวชนเป็นหลักการที่สำคัญ แต่ไม่ควรถูกบริษัทผู้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้านำมาบิดเบือนหลอกล่อโดยการตลาดล่าเหยื่อให้เสพติดเป็นนักสูบหน้าใหม่ และ 5) บทเรียนและประสบการณ์ของประเทศต่างๆ พบว่ายังไม่มีมาตรการอื่นใดที่มีประสิทธิภาพในการปกป้องเยาวชนไม่ให้เข้าถึง และริลองเสพบุหรี่ไฟฟ้าได้ ดังนั้นการคงมาตรการห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า และเร่งบังคับใช้กฎหมาย เป็นสิ่งที่ดีที่สุด” ผศ.ดร.นพ.วิชช์ กล่าว
ในเรื่องที่ไทยได้รับการชื่นชมนี้ ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า น่าสนใจที่สภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาบุหรี่ไฟฟ้า ที่กำลังระบาดในเด็กนักเรียนและเยาวชนทั่วประเทศ โดยการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 3 สิงหาคม นี้ มีวาระ 6.4 ที่เสนอให้มีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อศึกษาผลประโยชน์ของการมีกฏหมายควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อให้เหมาะสมกับบริบทของความเป็นจริงในประเทศไทย สิ่งที่อยากจะฝากถึงสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบันคือ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรชุดที่แล้ว มีการตั้งกรรมาธิการขึ้นศึกษาปัญหาบุหรี่มาแล้ว 2 ชุด เกิดการแทรกแซงของล็อบบี้ยิสต์บริษัทบุหรี่ ถึงขนาดมีการตั้งแกนนำล็อบบี้ยิสต์บุหรี่ไฟฟ้า 2 คน เข้าเป็นที่ปรึกษาอนุกรรมาธิการชุดหนึ่ง ซึ่งขัดกับพันธกรณีที่ประเทศไทยมี ภายใต้อนุสัญญาควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก ที่ห้ามแต่งตั้งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจยาสูบ เป็นที่ปรึกษาในคณะกรรมการที่พิจารณานโยบายควบคุมยาสูบ จึงหวังว่ากรรมาธิการวิสามัญที่สภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่จะตั้งขึ้น จะไม่เกิดเหตุการณ์ดังที่เกิดขึ้นกับกรรมาธิการที่ศึกษาเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าในสภาผู้แทนราษฎรชุดที่แล้ว
รายละเอียดติดต่อ: หริสร์ ทวีพัฒนา นักวิชาการ ศจย.
โทร: 061-7244411 Email: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
Press Release
ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.)
ข่าวเผยแพร่: วันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ.2566 (วันที่ข่าวตีพิมพ์สามารถเผยแพร่ได้ทันที)