ควันบุหรี่มือสาม ไม่เห็นควัน แต่อันตราย

ควันบุหรี่มือสาม ไม่เห็นควัน แต่อันตราย

แพทย์เตือน ควันบุหรี่มือสามแม้ไม่เห็นควันแต่อันตราย ผู้ที่สัมผัสควันบุหรี่มือสามทางผิวหนังทำให้เกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน ทำให้เกิดการอักเสบของผิวหนัง ส่งผลเสียต่อการทำหน้าที่ของโปรตีนในพลาสมามนุษย์ และก่อเกิดมะเร็งได้

ผศ.ดร.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการวามรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวถึง ควันบุหรี่มือสาม (Third-hand Smoke :THS) ที่ไม่เห็นควันแต่อันตราย เกิดจากควันจากการสูบจะติดกับของใช้ เช่น พรม ผ้าม่าน โซฟา ซึ่งการสัมผัสควันบุหรี่มือสามมีความสัมพันธ์กับกระบวนการสร้างและสลายของสารเคมีที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ก่อเกิดมะเร็งอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ล่าสุดในเดือนตุลาคม พ.ศ.2565 ที่ผ่านมา มีการเปิดเผยรายงานผลวิจัยจาก ภาควิชาเซลล์และชีววิทยาระดับโมเลกุล ร่วมกับ ศูนย์ศึกษาและวิจัยการควบคุมยาสูบ และภาควิชาสถิติ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เกี่ยวกับผลเสียทางสุขภาพที่เกิดจากการสัมผัสควันบุหรี่มือสามทางผิวหนัง โดยผู้วิจัยได้ทำการศึกษาในอาสาสมัครที่มีสุขภาพดีและไม่สูบบุหรี่ จำนวน 10 ราย
“โดยผลวิจัยพบว่า ในกลุ่มที่ได้รับการสัมผัสควันบุหรี่มือสาม มีการเพิ่มขึ้นของสาร Hydroxy-2’-deoxyguanosine (8-OHdG) ซึ่งเป็นสารบ่งชี้ภาวะการทำลายดีเอ็นเอในปัสสาวะของอาสาสมัครอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้แสดงให้เห็นว่า การสัมผัสควันบุหรี่มือสามทางผิวหนังเป็นเวลา 3 ชั่วโมง สัมพันธ์กับการทำงานของโปรตีนที่ตอบสนองต่อการอักเสบ เพิ่มการยึดเกาะของเซลล์เม็ดเลือด เกิดภาวะหลอดเลือดแข็งตัว และอาการอักเสบของผิวหนังชนิดเรื้อรัง ไลเคนพลานัส โดยมื่อติดตาม 22 ชั่วโมง ภายหลังการสัมผัสควันบุหรี่มือสาม พบมีการอักเสบของอวัยวะ มีการสะสมโปรตีนเคอราตินในหนังกำพร้าทำให้มีลักษณะหนาขึ้น เกิดโรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นหนา plaque psoriasis (รูป 1) และผิวหนังอักเสบ lichen planus (รูป 2) อย่างมีนัยสำคัญ”
ผศ.ดร.นพ.วิชช์ สรุปว่า การสัมผัสควันบุหรี่มือสามส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของการทำหน้าที่ของโปรตีนในพลาสมามนุษย์ กระตุ้นกลไกการเกิดโรคผิวหนังอักเสบ และเพิ่มปริมาณดัชนีชี้วัดทางชีวภาพของปฏิกิริยาออกซิเดชันในปัสสาวะ คล้ายคลึงกับอันตรายที่เกิดจากการสูบบุหรี่ ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุดที่จะหลีกหนีจากอันตรายจากควันบุหรี่มือสามได้ คือผู้สูบบุหรี่ควรเลิกบุหรี่ และสร้างสภาพแวดล้อมให้ปลอดบุหรี่ จากควันบุหรี่ทุกชนิด เพื่อตัวคุณและคนรอบข้าง
รายละเอียดติดต่อ: หริสร์ ทวีพัฒนา นักวิชาการ ศจย. โทร: 061-7244411 Email: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
Press Release
ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.)
ข่าวเผยแพร่: วันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ.2565 (วันที่ข่าวตีพิมพ์สามารถเผยแพร่ได้ทันที)


พิมพ์