ศจย.สพท.สภาการศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทย ยื่นหนังสือถึง “ประธานกรรมาธิการสาธารณสุข” เสนอข้อเท็จจริง วิเคราะห์ 2 ทางเลือกของประเทศไทย “แบนหรือไม่แบนบุหรี่ไฟฟ้า” เมื่อวันที่18ม.ค.2567ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทย ในพระอุปถัมภ์ฯ (สพท.) สภาการศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทย
ได้ยื่นหนังสือถึง ‘นพ.ทศพร เสรีรักษ์ ประธานกรรมาธิการสาธารณสุข’เสนอข้อเท็จจริง การวิเคราะห์ 2 ทางเลือกของประเทศไทย ในการแบนหรือไม่แบนบุหรี่ไฟฟ้าโดยขอให้นำข้อมูลนี้เข้าประชุมปรึกษาหารือกับ ‘คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษากฎหมายและมาตรการควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย’ทั้งนี้ขอให้คำนึงถึงข้อมูลข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านในการพิจารณากฎหมายบุหรี่ไฟฟ้าของประเทศไทยเพื่อปกป้องเยาวชนไทยจากบุหรี่ไฟฟ้า
ผศ.ดร.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ผู้อำนวยการ ศจย. กล่าวว่า สืบเนื่องจากการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2566 ที่ผ่านมา ได้มีการแต่งตั้ง‘คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษากฎหมายและมาตรการควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย’ จึงขอให้กรรมาธิการวิสามัญฯ ขุดนี้ คำนึงถึงข้อมูลข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านในการพิจารณากฎหมายบุหรี่ไฟฟ้าของประเทศไทย เพื่อปกป้องเยาวชนไทยจากบุหรี่ไฟฟ้าเพราะข้อมูลทั่วโลกพบช่วงอายุที่มีการสูบบุหรี่ไฟฟ้ามากคือ 15-24 ปี ซึ่งเป็นเยาวชนนักสูบหน้าใหม่ที่เพิ่งเริ่มลองสูบบุหรี่ไฟฟ้า ทั้งนี้มาตรการบุหรี่ไฟฟ้า แบน vs ควบคุม บทเรียนจากต่างประเทศ สรุปได้ดังนี้
1) ปัจจุบันประเทศที่แบนบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จาก 4 ประเทศในปี 2555 เป็น 37 ประเทศในปี 2566 2)ประเทศที่แบนบุหรี่ไฟฟ้าพบอัตราการสูบของเยาวชนต่ำกว่าประเทศที่ให้ขาย 3) ประเทศที่ให้ขายได้แล้วออกกฎหมายควบคุม เช่น อังกฤษ อเมริกา แคนาดา นิวซีแลนด์ ปัจจุบันพบว่าคุมไม่ได้จริง อัตราสูบบุหรี่ไฟฟ้าในเยาวชนเพิ่มขึ้นมากและบางประเทศยังพบอัตราสูบบุหรี่มวนเพิ่มอีกด้วย 4) ประเทศที่เคยแบน แล้วเปลี่ยนเป็นให้ขายได้ พบอัตราสูบบุหรี่ไฟฟ้าในเยาวชนเพิ่มเป็น 2-5 เท่าตัว เช่น แคนาดา นิวซีแลนด์ 5) องค์การอนามัยโลก สนับสนุนให้ประเทศรายได้น้อยและปานกลาง ใช้มาตรการแบนบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อปกป้องเยาวชนและยังพบประเทศรายได้สูงหลายประเทศที่แบนบุหรี่ไฟฟ้าเพราะต้องการปกป้องเยาวชน เช่น สิงคโปร์ ออสเตรเลีย ไต้หวัน ฮ่องกง
“ซึ่งทาง 2แพร่งที่ไทยต้องเลือกจากการทบทวนรายงานสถานการณ์อัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชนในประเทศต่างๆ ที่ห้ามสูบบุหรี่ไฟฟ้า และไม่ห้าม พบว่าทางเลือกที่หนึ่งหากยกเลิกกฎหมายห้ามนำเข้าห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า แล้วเปิดเป็นบุหรี่ไฟฟ้าเสรี คาดการณ์ว่าสถานการณ์จะเป็นเหมือนแคนาดาและนิวซีแลนด์ โดยอัตราสูบบุหรี่ไฟฟ้าในเยาวชนไทยจะเพิ่มขึ้น 2-5 เท่า ใน 3 ปี นั่นคือถ้าใช้ข้อมูล ปี 2564 คือ 8% จะเพิ่มสูงถึง 16-40%”
ขณะที่ทางเลือกที่สองคงกฏหมายห้ามนำเข้าห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า แต่ต้องเข้มงวดการบังคับใช้กฏหมายให้เคร่งครัด ในการจับ ปรับ อย่างจริงจัง ห้ามโฆษณาและห้ามขายโดยเฉพาะในสื่อออนไลน์ เหมือนกับที่สิงคโปร์และฮ่องกงดำเนินการ คาดการณ์ว่าอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในเยาวชนไทยจะไม่เพิ่มขึ้นและจะค่อยๆ ลดลง 1.7% ใน 3 ปี”ผศ.ดร.นพ.วิชช์ กล่าว
นายพัฒน์ งามเดชากิจผู้แทนสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทย ในพระอุปถัมภ์ฯกล่าวว่าขอแสดงจุดยืนต่อต้านการซื้อ ขาย บุหรี่ไฟฟ้า โดยให้คงซึ่งกฎหมายห้ามนำเข้าห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าและขอให้มีการทบทวนในประเด็นต่างๆดังนี้ 1) หากการใช้บุหรี่ไฟฟ้าสามารถทำได้อย่างถูกกฎหมายจะซื้อขายอย่างแพร่หลายมากขึ้น แม้ปัจจุบันนี้ไม่ถูกกฎหมายก็พบว่ายังมีการลักลอบนำเข้า ซื้อขาย และใช้บุหรี่ไฟฟ้าอย่างแพร่หลายในเด็กและเยาวชนดังนั้นสิ่งที่ต้องทำคือ บังคับใช้กฎหมายห้ามนำเข้าห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเร่งด่วน2) การแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษากฎหมายและมาตรการควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยต้องมีรายชื่อคณะกรรมาธิการวิสามัญฯที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจยาสูบเพื่อป้องกันการแทรกแซงนโยบายควบคุมยาสูบจากธุรกิจยาสูบหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
นายประภาวิน ปิ่นเงิน ผู้แทนสภาการศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันที่เด็กและเยาวชนไทยกำลังถูกคุกคามจากบุหรี่ไฟฟ้า และพบว่ามีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทั้งเพศชายและเพศหญิง พบในเด็กเล็กระดับประถมศึกษามากขึ้นและล่าสุดพบการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในศูนย์เด็กพิการซ้ำซ้อนซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง ทั้งนี้เนื่องด้วยกลยุทธ์ทางการตลาดที่แยบยลโดยออกผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าเป็นตัวการ์ตูน ของเล่นและกล่องนม ซึ่งมีช่องทางการขายที่สะดวกในการเข้าถึงทั้งช่องทางออนไลน์และการวางขายในท้องตลาดอย่างผิดกฏหมาย ทำให้นักเรียนนักศึกษาที่อยากรู้อยากลองเข้าถึงได้โดยง่าย โดยไม่คาดคิดถึงโทษภัยอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าแปลงกายในรูปแบบใหม่ๆ นี้ ดังนั้นสภาการศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทย จึงเรียกร้องให้รัฐบาลคงกฎหมายห้ามนำเข้าห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าและเร่งบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังเพื่อปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนไทย ให้พวกเขาได้เติบโตเป็นทรัพยากรที่มีคุณภาพและเป็นอนาคตของชาติในการพัฒนาประเทศไทย