สถานการณ์การควบคุมยาสูบของ ประชากรไทย 2534-2549

สถานการณ์การควบคุมยาสูบของ ประชากรไทย 2534-2549

บทสรุปผู้บริหาร การวิเคราะห์สถานการณ์การบริโภคยาสูบของประชากรไทยนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2534 –2549 โดยใช้ข้อมูลทุติยภูมิจากการโครงการสำรวจระดับชาติของสำนักงานสถิติแห่งชาติรวมทั้งสิ้น 5 ฐานข้อมูล ประกอบด้วย 4 ฐานข้อมูลจากโครงการสำรวจอนามัยและสวัสดิการ(สอส.) ในปี พ.ศ.2534, 2539, 2544 และ 2549

และ 1 ฐานข้อมูลจากโครงการสำรวจพฤติกรรมสูบบุหรี่และดื่มสุรา ปี พ.ศ.2547 โดยมุ่งเน้นการใช้สถิติพื้นฐานเชิงพรรณนาซึ่งครอบคลุม 3 ประเด็นหลักของสถานการณ์การสูบบุหรี่รวมทุกประเภทของประชากรไทยที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ได้แก่ อัตราการสูบบุหรี่ ปริมาณการสูบบุหรี่ และอายุเมื่อเริ่มต้นสูบบุหรี่

1.อัตราการสูบบุหรี่ ผลการวิเคราะห์พบว่า ประชากรไทยมีอัตราการสูบบุหรี่ปัจจุบัน* และอัตราการสูบบุหรี่เป็นประจำลดลงจาก 32.00 และ 30.46 ในปี พ.ศ.2534 เป็น 21.91 และ 18.94 ในปี พ.ศ.2549 เมื่อจำแนกการวิเคราะห์ตามปัจจัยพื้นฐานสำคัญ 6 ปัจจัย ได้แก่

  1. เพศ พบว่า ประชากรชายมีอัตราการสูบบุหรี่ปัจจุบันและเป็นประจำในแต่ละรอบการสำรวจสูงกว่าประชากรหญิงโดยประมาณเกินกว่า 15 เท่า แต่ประชากรหญิงมีอัตราการสูบบุหรี่ทั้ง 2 ลักษณะ เปลี่ยนแปลงลดลงในระดับที่สูงกว่าประชากรชายเกินกว่า 1.5 เท่า
  2. กลุ่มอายุ พบว่า ประชากรกลุ่มอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 25 ปีขึ้นไป มีอัตราการสูบบุหรี่ปัจจุบันและเป็นประจำสูงกว่ากลุ่มอายุน้อยกว่า 25 ปี แต่กลุ่มประชากรอายุยิ่งน้อยกลับมีอัตราการสูบบุหรี่เปลี่ยนแปลงลดลงมากกว่ากลุ่มอายุมาก
  3. ระดับการศึกษา พบว่าประชากรระดับการศึกษาต่ำ มีอัตราการสูบบุหรี่สูงกว่ากลุ่มการศึกษาสูง และกลุ่มการศึกษาสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งระดับอุดมศึกษาขึ้นไปมีอัตราการสูบบุหรี่เปลี่ยนแปลงลดลงสูงสุด
  4. สภาพพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ พบว่า ประชากรในกรุงเทพ ฯ มีอัตราการสูบบุหรี่ปัจจุบันและเป็นประจำต่ำที่สุดในทุกรอบการสำรวจ ขณะที่ ภาคใต้ มีอัตราการสูบบุหรี่ปัจจุบันและเป็นประจำ สูงสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการสำรวจครั้งล่าสุด ปี พ.ศ.2549 รวมถึงมีการเปลี่ยนแปลงอัตราการสูบบุหรี่นับจากปี พ.ศ.2534 - 2549 ลดลงน้อยที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับภาคอื่น ๆ เกือบ 2 เท่า นอกจากนี้ยังพบว่า ประชากรหญิงภาคเหนือ ยังคงมีอัตราการสูบบุหรี่ปัจจุบันและเป็นประจำสูงกว่าประชากรหญิงในภาคอื่น ๆ อย่างชัดเจน
  5. เขตการปกครอง พบว่า ประชากรนอกเขตเทศบาลทั้งโดยภาพรวมและจำแนกตามเพศมีอัตราการสูบบุหรี่ปัจจุบันและเป็นประจำสูงกว่าในเขตเทศบาลอย่างชัดเจนในทุกรอบการสำรวจ หากแต่พื้นที่นอกเขตเทศบาลกลับมีอัตราการสูบบุหรี่เปลี่ยนแปลงลดลงสูงกว่าพื้นที่ในเขตเทศบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสูบบุหรี่เป็นประจำ และ 6) เศรษฐานะ พบว่าคนจนที่สุด มีอัตราการสูบบุหรี่ปัจจุบันและเป็นประจำสูงกว่าคนรวยที่สุด แต่คนรวยที่สุดกลับมีอัตราการสูบบุหรี่เปลี่ยนแปลงลดลงมากกว่าคนจนที่สุด

2. ปริมาณการสูบบุหรี่ (มวนต่อวันต่อคน) ผลการวิเคราะห์สรุปได้ว่า ประชากรไทยผู้สูบบุหรี่ปัจจุบันและสูบเป็นประจำ มีปริมาณการสูบบุหรี่เฉลี่ยต่อวันลดลงจาก 12.39 มวนและ 11.85 มวนในปี พ.ศ.2534 เป็น 8.92 มวนและ 9.66 มวนในปี พ.ศ.2549 คิดเป็นร้อยละของการเปลี่ยนแปลงลดลงเท่ากับ 28.01 และ 18.48 ตามลำดับ แต่ค่ามัธยฐานของปริมาณการสูบบุหรี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้สูบบุหรี่เป็นประจำมีค่าคงที่ คือ 10 มวน เมื่อจำแนกวิเคราะห์ตามปัจจัยพื้นฐานสำคัญ 6 ปัจจัย ได้แก่ 1) เพศ พบว่าประชากรหญิง แม้มีปริมาณการสูบบุหรี่ปัจจุบันและเป็นประจำน้อยกว่าประชากรชาย แต่ปริมาณการสูบบุหรี่จากปี พ.ศ.2534 – 2549 สำหรับกรณีสูบบุหรี่ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงลดลงในระดับที่น้อยกว่าเพศชายประมาณ 3 เท่า และสำหรับกรณีสูบบุหรี่เป็นประจำกลับเปลี่ยนแปลงในทิศทางตรงกันข้าม นั่นคือ เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.60 ขณะที่ประชากรชายมีปริมาณการสูบบุหรี่เปลี่ยนแปลงลดลงร้อยละ 20.08 2) กลุ่มอายุ พบว่าปริมาณการสูบบุหรี่ของผู้สูบปัจจุบันและเป็นประจำยิ่งสูงขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น แต่กลับลดลงในวัยสูงอายุ (มากกว่า/เท่ากับ60 ปีขึ้นไป) หากแต่ยิ่งสูงอายุ ก็ยิ่งพบว่าโอกาสการลดปริมาณการสูบบุหรี่จะยิ่งช้าลง

3) ระดับการศึกษา พบว่า ประชากรทุกระดับการศึกษามีค่ามัธยฐานการสูบบุหรี่ค่อนข้างคงที่เท่ากับ 10 มวน ในทุกรอบการสำรวจ และทุกกลุ่มการศึกษา มีปริมาณการสูบบุหรี่ใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 2 รอบการสำรวจครั้งล่าสุดของกลุ่มผู้สูบบุหรี่เป็นประจำ

4) สภาพพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ พบว่า ประชากรภาคเหนือของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชากรหญิงซึ่งแม้มีปริมาณการสูบบุหรี่น้อยที่สุด แต่เมื่อพิจารณาปริมาณการสูบบุหรี่ในปี พ.ศ.2534 กับปี พ.ศ.2549 กลับพบปริมาณการสูบบุหรี่เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นเป็นลำดับที่ 2 รองจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งในกลุ่มผู้สูบปัจจุบันและเป็นประจำ

5) เขตการปกครอง พบว่าประชากรนอกเขตเทศบาลมีปริมาณการสูบบุหรี่ทั้งกลุ่มผู้สูบบุหรี่ปัจจุบันและเป็นประจำน้อยกว่าในเขตเทศบาลเล็กน้อย แต่ในเขตเทศบาลกลับมีการเปลี่ยนแปลงปริมาณการสูบบุหรี่จากปี พ.ศ.2534 – 2549 ลดลงสูงกว่านอกเขตเทศบาล และ 6) เศรษฐานะ พบว่า คนจนทั้งกลุ่มผู้สูบบุหรี่ปัจจุบันและเป็นประจำ มีปริมาณการสูบบุหรี่น้อยกว่าคนรวย แต่คนรวยกลับมีการเปลี่ยนแปลงปริมาณการสูบบุหรี่ดังกล่าว นับจากปี พ.ศ.2534 – 2549 ลดลงในระดับที่สูงกว่าคนจน 3. อายุเมื่อเริ่มต้นสูบบุหรี่ (ปี) ผลการวิเคราะห์สรุปได้ว่าอายุเมื่อเริ่มต้นสูบบุหรี่สำหรับกลุ่มผู้สูบบุหรี่ปัจจุบันและสูบเป็นประจำ ณ ปี พ.ศ.2549 เท่ากับ 18.25 ± 4.34 ปี และ18.12 ± 4.21 ปี โดยคิดเป็นอายุเมื่อเริ่มต้นสูบบุหรี่เปลี่ยนแปลงลดลงนับจากปี พ.ศ.2534 –2549 เท่ากับร้อยละ 4.10 และ 1.74 ตามลำดับ เมื่อจำแนกการวิเคราะห์ตามปัจจัยพื้นฐานสำคัญ 4 ประการ ได้แก่ เพศ ภาค เขตการปกครอง และรายได้ พบว่าอายุเมื่อเริ่มต้นสูบบุหรี่ไม่แตกต่างจากภาพรวมของประเทศ กล่าวคือ 1) เพศ พบว่า ประชากรชายมีอายุเฉลี่ยเมื่อเริ่มต้นสูบบุหรี่น้อยกว่าประชากรหญิง เท่ากับ 18 ± 4 ปี และ 20 ± 7 ปี แต่ประชากรหญิงกลับมีการเปลี่ยนแปลงของอายุเมื่อเริ่มต้นสูบบุหรี่ลดลงเร็วกว่าประชากรชาย 2) สภาพพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ พบว่า ประชากรที่อาศัยอยู่ในทุกภูมิภาคมีอายุเฉลี่ยเมื่อเริ่มต้นสูบบุหรี่ใกล้เคียงกัน ยกเว้นพื้นที่กรุงเทพฯ มีการเปลี่ยนแปลงอายุเมื่อเริ่มต้นสูบบุหรี่ลดลงเร็วกว่าภูมิภาคอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มประชากรหญิง 3) เขตการปกครอง พบว่า ประชากรที่อยู่ในและนอกเขตเทศบาลมีอายุเฉลี่ยเมื่อเริ่มต้นสูบบุหรี่ใกล้เคียงกัน แต่พื้นที่ในเขตเทศบาลมีการเปลี่ยนแปลงอายุเมื่อเริ่มต้นสูบบุหรี่ลดลงเร็วกว่าพื้นที่นอกเขต โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มประชากรหญิง และ 4) เศรษฐานะ พบว่า ประชากรทุกกลุ่มรายได้ นับจากจนที่สุดถึงรวยที่สุดมีอายุเมื่อเริ่มต้นสูบบุหรี่ใกล้เคียงกัน แต่ประชากรกลุ่มรวยที่สุดมีการเปลี่ยนแปลงอายุเมื่อเริ่มต้นสูบบุหรี่ลดลงเร็วกว่ากลุ่มจนที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประชากรหญิง

นอกจากนี้ ฐานข้อมูลทุติยภูมิในบางรอบการสำรวจมีประเด็นวิเคราะห์สถานการณ์การบริโภคยาสูบอื่น ๆ ได้ ดังนี้

  1. ปี พ.ศ.2544, 2547 และ 2549 มีข้อถามที่สามารถนำมาใช้เพื่อประเมินสถานการณ์รายได้ครัวเรือนและค่าใช้จ่ายของการสูบบุหรี่ได้ ซึ่งผลการวิเคราะห์พบว่า รายได้ครัวเรือนทุก ๆ 100 บาท ถูกใช้จ่ายไปเพื่อการซื้อบุหรี่สูบประมาณ 12 – 17 บาทสำหรับครัวเรือนจนที่สุด และประมาณ 3 บาท สำหรับครัวเรือนรวยที่สุด
  2. ปี พ.ศ.2544 และ 2547 พบว่า ประชากรผู้สูบบุหรี่ปัจจุบันที่สูบบุหรี่ขณะอยู่ในบ้านกับสมาชิกครัวเรือนสูงถึงร้อยละ 85
  3. ปี พ.ศ.2549 จำนวนครัวเรือนทั้งหมดของประเทศไทย มีอยู่ทั้งสิ้น 18 ล้านครัวเรือน พบว่า ร้อยละ 40.88 หรือ 7.36 ล้านครัวเรือนที่มีสมาชิกของครัวเรือนตั้งแต่ 1 คนขึ้นไปสูบบุหรี่ โดยในแต่ละครัวเรือนมีสมาชิกครัวเรือนเฉลี่ย 2.16 คนต่อครัวเรือนที่มีโอกาสได้รับควันบุหรี่ ดังนั้น ณ ปี พ.ศ.2549 ประเทศไทยมีประชากรที่มีโอกาสสัมผัสควันบุหรี่ในบ้าน รวมทั้งสิ้น 15.89 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 24.39 ของประชากรทั้งหมดจำนวน65.18 ล้านคน
  4. นับจากปี พ.ศ.2534 – 2549 พบว่าเด็กอายุน้อยกว่าหรือเท่ากับ 5 ปี ที่อาศัยในครัวเรือนที่มีสมาชิกตั้งแต่ 1 คนขึ้นไปสูบบุหรี่ มีอยู่ประมาณร้อยละ 30 และเมื่อคำนวณณ ปี พ.ศ.2549 พบว่าเด็กเหล่านี้จำนวน 2.28 ล้านคน หรือร้อยละ 3.49 ของประชากรทั้งหมดมีโอกาสสัมผัสควันบุหรี่ในบ้าน
  5.  ประชากรที่อาศัยอยู่ในครัวเรือนที่มีผู้สูบ/เคยสูบตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นผู้สูบ/เคยสูบ ผู้ไม่สูบ/ไม่เคยสูบที่มีอายุ 28 ปีขึ้นไป และเด็กอายุน้อยกว่า/เท่ากับ 5 ปี ล้วนมีความเสี่ยงในการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคหอบหืดมากกว่ากลุ่มที่อาศัยอยู่ในครัวเรือนที่ไม่มีผู้สูบบุหรี่ประมาณ 1 เท่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติผลการวิเคราะห์สถานการณ์การสูบบุหรี่ของประชากรไทย พ.ศ.2534 – 2549 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาเชื่อมโยงกันระหว่าง 2 ดัชนีหลัก ได้แก่ อัตราการสูบบุหรี่และปริมาณการสูบบุหรี่ (มวนต่อวันต่อคน) กล่าวได้ว่าการดำเนินงาน/โครงการต่าง ๆ เพื่อป้องกันและควบคุมการบริโภคยาสูบประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง กล่าวคือสามารถลดจำนวนผู้สูบบุหรี่เป็นประจำได้ แต่การที่ปริมาณการสูบบุหรี่ต่อมวนต่อคน มีระดับของการเปลี่ยนแปลงลดลงน้อยกว่าอัตราการสูบบุหรี่ บ่งชี้ว่าประชากรที่เสพติดบุหรี่แล้ว ยังคงเสพติดต่อไป นอกจากนี้ การที่อายุเมื่อเริ่มต้นสูบบุหรี่เปลี่ยนแปลงลดลงอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประชากรหญิง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากกลยุทธ์ทางการตลาดของธุรกิจบุหรี่ ดังนั้นการทำงานเชิงรุกในกลุ่มเสี่ยงโดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิง เด็ก/เยาวชน และกลุ่มด้อยโอกาส จึงต้องมีลักษณะจำเพาะมากขึ้น โดยครอบคลุมทั้งมาตรการด้านเศรษฐกิจด้านการศึกษา โอกาสในการเข้าถึงข่าวสาร การสื่อสาร และการพัฒนา อีกทั้งการจัดบริการช่วยเลิกบุหรี่ที่เพียงพอและสะดวกต่อการเข้าถึงสำหรับทุกกลุ่มเป้าหมาย การระดมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน การสร้างเครือข่าย และการขยายขอบเขตการรณรงค์เพื่อการป้องกันและการควบคุมการบริโภคยาสูบให้ครอบคลุมในทุกพื้นที่ รวมถึงผลการวิเคราะห์ยังแสดงให้เห็นว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมานี้ บุหรี่ยังคงเป็นสินค้าที่ประชาชนทุกชนชั้น ทั้งร่ำรวยและยากจนสามารถเข้าถึงได้ง่าย

ข้อเสนอแนะจากการศึกษา ได้แก่ 1) การพัฒนาระบบการเฝ้าระวังการบริโภคยาสูบที่เข้มแข็ง โดยเสนอให้หน่วยงานภาคีทุกภาคส่วนประสานความร่วมมือในการสำรวจและการเฝ้าระวังด้วยระบบที่มีมาตรฐาน การปรับขนาดตัวอย่างให้เพียงพอเพื่ออธิบายในระดับพื้นที่ และเฉพาะกลุ่มมากขึ้น ตลอดจนการทำการวิจัยเจาะลึกเฉพาะประเด็นมากขึ้น2) การพัฒนาการดำเนินการป้องกันและควบคุมการบริโภคยาสูบทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน อาทิ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย(สสท.) มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ ฯลฯ ควรร่วมมือกันในการสกัดกั้นนักสูบหน้าใหม่ การช่วยให้เลิกบุหรี่ และการป้องกันและควบคุมการบริโภคยาสูบอย่างเบ็ดเสร็จ และ 3) การวิจัยปฏิบัติการเพื่อเจาะลึกในกลุ่มเป้าหมายผู้ด้อยโอกาส ซึ่งยังเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สำคัญ อีกทั้งการประเมินผลจากการใช้มาตรการทางกฎหมายในห้วงเวลาที่ผ่านมา


พิมพ์