สถานการณ์การควบคุมยาสูบของ ประชากรไทย 2534-2547

สถานการณ์การควบคุมยาสูบของ ประชากรไทย 2534-2547

การวิเคราะห์สถานการณ์การบริโภคยาสูบของประชากรไทยนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534ถึง 2547 ด้วยข้อมูลทุติยภูมิจากการโครงการสำรวจระดับชาติของสำนักงานสถิติแห่งชาติรวมทั้งสิ้น 5 ฐานข้อมูล ประกอบด้วย 4 ฐานข้อมูลจากโครงการสำรวจอนามัยและสวัสดิการในปี พ.ศ. 2534 2539 2544 และ 2546 และ 1 ฐานข้อมูลจากโครงการสำรวจพฤติกรรมสูบบุหรี่และดื่มสุรา

ปี พ.ศ. 2547 โดยใช้สถิติพื้นฐานเชิงพรรณนา ซึ่งครอบคลุม 3 สถานการณ์หลักของการสูบบุหรี่รวมทุกประเภทของประชากรไทยที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ได้แก่ อัตราการสูบบุหรี่ ปริมาณการสูบบุหรี่ และอายุเมื่อเริ่มต้นสูบบุหรี่ผลการวิเคราะห์อัตราการสูบบุหรี่รวมทุกประเภท พบว่าประชากรไทยมีอัตราการสูบบุหรี่ลดลงจาก 30.46 ในปี พ.ศ. 2534 เป็น 19.47 ในปี พ.ศ. 2547 เมื่อจำแนกวิเคราะห์ตามปัจจัยพื้นฐานสำคัญ 6 ปัจจัย ได้แก่ 1) เพศ พบว่าประชากรชายมีอัตราการสูบบุหรี่สูงกว่าประชากรหญิง 10 เท่า แต่ประชากรหญิงมีอัตราการสูบบุหรี่ลดลงในระดับที่สูงกว่าประชากรชาย คิดเป็นร้อยละ 54.10 กับ 33.20 ตามลำดับ 2) กลุ่มอายุ พบว่าประชากรกลุ่มอายุมาก มีอัตราการสูบบุหรี่สูงกว่ากลุ่มอายุน้อย แต่กลุ่มอายุน้อยกลับมีอัตราการสูบบุหรี่เปลี่ยนแปลงลดลงมากกว่ากลุ่มอายุมาก 3) ระดับการศึกษา พบว่าประชากรระดับการศึกษาต่ำ มีอัตราการสูบบุหรี่สูงกว่ากลุ่มการศึกษาสูง แต่กลุ่มการศึกษาสูง กลับมีอัตราการสูบบุหรี่เปลี่ยนแปลงลดลงมากกว่ากลุ่มการศึกษาต่ำ 4) สภาพพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ พบว่าประชากรทุกภาคของประเทศไทยมีอัตราการสูบบุหรี่ใกล้เคียงกัน แต่ภาคใต้มีอัตราการสูบบุหรี่เปลี่ยนแปลงลดลงต่ำสุด เมื่อเปรียบเทียบกับภาคอื่น ๆ นอกจากนี้ ยังพบว่าประชากรหญิงภาค เหนือมีอัตราการสูบบุหรี่สูงกว่าประชากรหญิงภาคอื่น ๆ อย่างชัดเจน 5) เขตการปกครอง พบว่าประชากรนอกเขตเทศบาลมีอัตราการสูบบุหรี่สูงกว่าในเขตเทศบาล แต่ทั้ง 2 พื้นที่ กลับมีอัตราการสูบบุหรี่เปลี่ยนแปลงลดลงในระดับที่ใกล้เคียงกัน และ 6) คนจนมีอัตราการสูบบุหรี่สูงกว่าคนรวย แต่คนรวยกลับมีอัตราการสูบบุหรี่เปลี่ยนแปลงลดลงมากกว่าคนจน

ประเด็นปริมาณการสูบบุหรี่รวมทุกประเภท (มวนต่อวันต่อคน) ผลการวิเคราะห์สรุปได้ว่า ประชากรไทยมีปริมาณการสูบบุหรี่ลดลงเล็กน้อยจาก 11.85 มวนในปี พ.ศ. 2534เป็น 10.38 มวนในปี พ.ศ. 2547 คิดเป็นอัตราการเปลี่ยนแปลงลดลงเท่ากับร้อยละ 12.33 แต่ค่ามัธยฐานของปริมาณการสูบบุหรี่มีค่าคงที่ นั่นคือ 10 มวน เมื่อจำแนกวิเคราะห์ตามปัจจัยพื้นฐานสำคัญ 6 ปัจจัย ได้แก่ 1) เพศ พบว่าแม้ประชากรหญิงมีปริมาณการสูบบุหรี่น้อยกว่าประชากรชาย แต่อัตราการเปลี่ยนแปลงปริมาณการสูบบุหรี่ของประชากรหญิงกลับเพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.90 ขณะที่ ประชากรชายมีอัตราการเปลี่ยนแปลงปริมาณการสูบบุหรี่ลดลงร้อยละ 13.91 2) กลุ่มอายุ พบว่าประชากรกลุ่มอายุน้อยมีปริมาณการสูบบุหรี่น้อยกว่ากลุ่มอายุมาก รวมถึงปริมาณการสูบบุหรี่เปลี่ยนแปลงลดลงมากกว่ากลุ่มอายุมาก 3) ระดับการศึกษา พบว่าประชากรที่มีการศึกษาน้อย ยกเว้นกลุ่มที่ไม่เคยเรียนหนังสือ มีปริมาณการสูบบุหรี่สูงกว่ากลุ่มที่มีการศึกษาสูง แต่กลุ่มที่มีการศึกษาสูงมีอัตราการเปลี่ยนแปลงปริมาณการสูบบุหรี่ลดลงมากกว่ากลุ่มที่มีการศึกษาน้อย รวมถึงมีประเด็นที่น่าสนใจ นั่นคือประชากรทุกระดับการศึกษามีค่ามัธยฐานการสูบบุหรี่ค่อนข้างคงที่เท่ากับ 10 มวน 4) สภาพพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ พบว่าประชากรภาคเหนือของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชากรหญิง มีปริมาณการสูบบุหรี่นอ้ ยที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับภาคอื่น ๆ รวมกรุงเทพมหานคร แต่เมื่อพิจารณาด้วยอัตราการเปลี่ยนแปลงปริมาณการสูบบุหรี่ กลับพบว่าประชากรหญิงใน 3 ภาคต่อไปนี้ มีปริมาณการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นสูงสุด (จัดเรียงจากมากไปน้อย) ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กรุงเทพมหานคร และภาคเหนือ 5) เขตการปกครอง พบว่าประชากรนอกเขตเทศบาลมีปริมาณการสูบบุหรี่น้อยกว่าในเขตเทศบาล แต่ประชากรทั้ง 2 พื้นที่มีอัตราการเปลี่ยนแปลงปริมาณการสูบบุหรี่ลดลงในระดับที่ใกล้เคียงกัน ยกเว้นประชากรหญิงทั้งที่อาศัยนอกเขตและในเขตเทศบาล มีอัตราการเปลี่ยนแปลงปริมาณการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ในเขตเทศบาล และ 6) คนจนมีปริมาณการสูบบุหรี่น้อยกว่าคนรวยแต่คนรวยมีอัตราการเปลี่ยนแปลงปริมาณการสูบบุหรี่ลดลงในระดับที่สูงกว่าคนจน นอกจากนี้ ยังพบว่าประชากรหญิงส่วนใหญ่ มีอัตราการเปลี่ยนแปลงปริมาณการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประชากรหญิงกลุ่มจนที่สุด

ประเด็นอายุเมื่อเริ่มต้นสูบบุหรี่ (ปี) ผลการวิเคราะห์สรุปได้ว่า อายุเมื่อเริ่มต้นสูบบุหรี่ของประชากรไทยเท่ากับ 18 ± 4 ปี เมื่อจำแนกการวิเคราะห์ตามปัจจัยพื้นฐานสำคัญ 4ประการ ได้แก่ เพศ ภาค เขตการปกครอง และรายได้ ยังคงพบว่าอายุเมื่อเริ่มต้นสูบบุหรี่ไม่แตกต่างจากภาพรวมของประเทศ ยกเว้นประชากรหญิงมีอายุเริ่มต้นสูบบุหรี่ช้ากว่าประชากรชายเท่ากับ 21 ± 8 ปี รวมถึงภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และกลุ่มคนจนที่สุด มีอายุเมื่อเริ่มต้นสูบบุหรี่เร็วที่สุดคือ ประมาณ 17 – 18 ปีนอกจากนี้ ฐานข้อมูลทุติยภูมิปี พ.ศ. 2544 และ 2547 มีข้อถามค่าใช้จ่ายในการบริโภคยาสูบที่สามารถนำมาบ่งชี้สถานการณ์ในประเด็นครอบครัว และค่าใช้จ่ายของการสูบบุหรี่ได้ ผลการวิเคราะห์สรุปได้ว่าครัวเรือนไทยที่มีสมาชิกสูบบุหรี่ตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป มีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 74.09 ในปี พ.ศ. 2534 เป็น 44.12 ในปี พ.ศ. 2547นอกจากนี้ ผลการวิเคราะห์ข้อมูลยืนยันว่า ครัวเรือนคนจนที่สุดแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการสูบบุหรี่รวมทุกประเภทสูงกว่าครัวเรือนคนรวยที่สุด เนื่องจากรายจ่ายบุหรี่รวมทุกประเภทของประชากรในครัวเรือนจนที่สุด คิดเป็นร้อยละ 16.30 และ 12.37 ของรายได้ครัวเรือนจนที่สุดในปี พ.ศ. 2544 และ 2547 ตามลำดับ ขณะที่ รายจ่ายดังกล่าวของประชากรในครัวเรือนรวยที่สุด คิดเป็นร้อยละ 3.57 และ 3.06 ของรายได้ครัวเรือนรวยที่สุดในปี พ.ศ. 2544 และ2547 ตามลำดับ

สรุป ผลการวิเคราะห์สถานการณ์การสูบบุหรี่ของประชากรไทย พ.ศ. 2534 ถึง 2547 ที่ผ่านมา กล่าวได้ว่าการดำเนินงาน /โครงการต่าง ๆ เพื่อป้องกันและควบคุมการบริโภคยาสูบประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง กล่าวคือสามารถลดจำนวนผู้สูบบุหรี่หน้าใหม่ได้ แต่การที่ปริมาณการสูบบุหรี่ (มวนต่อวันต่อคน) ค่อนข้างคงที่ บ่งชี้ว่าประชากรที่เสพติดบุหรี่แล้วนั้น ก็ยังคงเสพติดต่อไป นอกจากนี้ ผลการวิเคราะห์ยังแสดงให้เห็นว่าตลอดหลายปีที่ผ่านมานี้ บุหรี่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภคที่ประชาชนทุกชนชั้น ทั้งร่ำรวยและยากจนสามารถเข้าถึงได้ง่าย


พิมพ์