รวมกฎหมายยาสูบ

รวมกฎหมายยาสูบ

กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลังมีหน้าที่ในการบริหารจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากยาสูบ (ภาษียาสูบ) โดยอาศัยอำนาจบังคับจัดเก็บจากพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509ปีหนึ่ง ๆ นำมาซึ่งรายได้ภาษียาสูบเข้ารัฐประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ที่ผ่านมา ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษียาสูบยังอยู่ในวงจำกัด

คือ อยู่ในวงการของนักจัดเก็บภาษีเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม ในยุคปัจจุบันปัญหายาสูบกลายปัญหาระดับชาติและระดับโลกไปแล้ว ถึงขนาดที่ประเทศสมาชิกต่างๆ ทั่วโลกรวม 191 ประเทศในที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลกได้ตกลงกันลงนามให้สัตยาบัน (Ratify) “กฎหมายบุหรี่โลก” หรือ กรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ (Framework Convention on Tobacco Control: FCTC) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2548 เพื่อสร้างกลไกหรือเครื่องมือในการควบคุมการแพร่ระบาดของยาสูบแบบเบ็ดเสร็จในระดับโลก และประเทศไทยได้ร่วมให้สัตยาบันเป็นประเทศที่ 36

มาตรการภาษียาสูบได้รับการยอมรับกันโดยทั่วไปว่า เป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากที่สุดมาตรการหนึ่งในการควบคุมการบริโภคยาสูบ ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษียาสูบจึงไม่ควรจำกัดเฉพาะในหมู่นักจัดเก็บภาษีอีกต่อไป ผู้จัดทำคาดหวังว่า การรวบรวมกฎหมายยาสูบน่าจะเป็นประโยชน์ในวงกว้าง จึงรวบรวมพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 กฎหมายลำดับรอง และแนวทางการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องที่ใช้ในการบริหารจัดเก็บภาษียาสูบที่อยู่อย่างกระจัดกระจายให้มาอยู่ในที่เดียวกัน เพื่อสะดวกต่อการค้นคว้าหาความรู้ การอ่านทำความเข้าใจ และการนำไปใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่จัดเก็บภาษีเองหรือบุคคลอื่นๆ ที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับกับการควบคุมยาสูบ นำไปสู่ความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนความร่วมมือกันผลักดันใช้มาตรการภาษียาสูบให้เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยยิ่งขึ้นไป

นอกจากนี้พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. 2535 และประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับต่าง ๆตาม พ.ร.บ. ทั้ง 2 ฉบับ นับได้ว่าเป็นกฎหมายที่มีประสิทธิภาพอย่างยิ่งต่อการควบคุมการสูบบุหรี่ของประชากรไทย อีกทั้งเป็นกฎหมายที่ตระหนักถึงสุขภาพอนามัยของประชาชน ซึ่งมีการขับเคลื่อนเป็นกฎหมายโดยฝ่ายสาธารณสุข โดยภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน ซึ่งได้นำมารวมกันไว้เพื่อให้ได้หนังสือรวมกฎหมายยาสูบของไทยฉบับสมบูรณ์ที่สุด

การจัดทำหนังสือกฎหมายยาสูบฉบับนี้ ผู้จัดทำได้ใช้ความพยายามอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ในการรวบรวมกฎหมายยาสูบที่อยู่อย่างกระจัดกระจาย และไม่เป็นหมวดหมู่ ที่ยังมีสภาพบังคับอยู่ในปัจจุบัน (ณ เดือนมกราคม พ.ศ. 2552) มาจัดพิมพ์ใหม่ โดยคงไว้ซึ่งรูปแบบเดิมตามกฎหมายต้นฉบับทุกประการ แม้พบว่าการใช้ภาษาตัวสะกดในกฎหมายลำดับรองบางครั้งจะใช้คำสะกดแตกต่างกันตามช่วงเวลา อาทิ “กระหนก” กับ “กนก”, “เวอร์ยิเนีย” กับ “เวอร์จิเนีย” เป็นต้น และได้พิมพ์แก้ไขข้อความของกฎหมายส่วนที่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหลายครั้ง มารวมไว้ในฉบับเดียวกันแล้ว เพื่อให้ผู้อ่านและผู้ใช้กฎหมายที่ไม่คุ้นเคยอ่านกฎหมายเข้าใจได้ง่ายขึ้น

การรวบรวมกฎหมายยาสูบในครั้งนี้ ผู้จัดทำในส่วนกฎหมายการจัดเก็บภาษีดำเนินการโดย ดร.ชลธาร วิศรุตวงศ์ และคุณศรีวราภร ศิริรุ่งเรืองอมร ซึ่งได้อ้างอิงกฎหมายยาสูบส่วนใหญ่จากหนังสือรวมกฎหมายสุรา ยาสูบ ไพ่ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยคุณจุมพล ริมสาคร ซึ่งปัจจุบันท่านเป็นผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย กรมสรรพสามิตจึงขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้ ในส่วนของพระราชบัญญัติและกฎหมายจากฝ่ายสาธารณสุขดำเนินการรวบรวมโดย ผศ.ดร.ลักขณา เติมศิริกุลชัย ผศ.ดร.มณฑา เก่งการพานิช และคุณณัฐพล เทศขยัน การจัดทำหนังสือฉบับนี้ผู้จัดทำได้รับความอนุเคราะห์ทุนและ

การสนับสนุนจากศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.)มหาวิทยาลัยมหิดล ขอขอบพระคุณ ผศ.ดร.มณฑา เก่งการพานิช รองผู้อำนวยการ ศจย.ที่ให้ความอนุเคราะห์ในการช่วยตรวจทาน และ คุณณัฐพล เทศขยัน เจ้าหน้าที่ของ ศจย. ที่ช่วยประสานงานและการจัดตกแต่งเป็นอย่างดี ขอขอบคุณ คุณสุชีพ คุณนุช คุณเอื้อง คุณอาทร์และเจ้าหน้าที่ของกรมสรรพสามิตทุก ๆ คนที่ให้ความอนุเคราะห์ในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายลำดับรอง รวมถึงเจ้าหน้าที่ของ ศจย. สุดท้ายขอขอบคุณ คุณชูชีพ พุทธา และคุณอดิศักดิ์ ถนอมทรัพย์ ที่ช่วยอนุเคราะห์ออกแบบปกหนังสือเล่มนี้ให้ได้ดั่งใจผู้จัดทำคณะผู้จัดทำหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารวมกฎหมายยาสูบฉบับนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจงานควบคุมยาสูบทุกท่าน และหากมีข้อผิดพลาดประการใดต้องขออภัยล่วงหน้ามา ณ โอกาสนี้ด้วย


พิมพ์