ปกป้องเด็กเยาวชน ตกเป็นเหยื่อบุหรี่ไฟฟ้า

ปกป้องเด็กเยาวชน ตกเป็นเหยื่อบุหรี่ไฟฟ้า

รศ.ดร.จักรพันธ์ เพ็ชรภูมิ อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวถึง ผลการวิจัย เรื่อง "สถานการณ์แพร่ระบาดการใช้บุหรี่ไฟฟ้าของนักเรียนและการปรับตัวของครูในการจัดการเรียนการสอนเกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้าในโรงเรียน" ปี 2567 โดยกลุ่มตัวอย่างคือ นักเรียนมัธยมศึกษาทั่วประเทศ 6,111 คน พบว่า 9.7% ใช้บุหรี่ไฟฟ้าในรอบ 30 วันที่ผ่านมา (12.6% ภาคอีสาน,

10.3% ภาคเหนือ, 10.3% ภาคใต้, 6.2% ภาคกลาง) และอีก 15.9% มีโอกาสเสี่ยงใช้บุหรี่ไฟฟ้าในอนาคต โดยกลุ่มใช้บุหรี่ไฟฟ้าส่วนใหญ่ได้บุหรี่ไฟฟ้ามาจาก 66.7% ร้านค้าในสื่อออนไลน์ และ 33.3 ร้านค้าในชุมชน โดย 45.2% ยังไม่รับรู้นโยบายและกิจกรรมโรงเรียนปลอดบุหรี่ไฟฟ้า และ 37.2% เคยพบเห็นการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในโรงเรียน ซึ่ง 58.3% เคยเห็นการโฆษณาหรือการส่งเสริมการขายบุหรี่ไฟฟ้าทางสื่อออนไลน์ ขณะที่ครูส่วนใหญ่ยังขาดความรู้และสื่อการสอนสำหรับการจัดการเรียนรู้เพื่อป้องกันการใช้บุหรี่ไฟฟ้าของนักเรียน

"ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงของนักเรียนต่อการใช้บุหรี่ไฟฟ้า ได้แก่ 1) สูบบุหรี่มวน ในรอบ 30 วันที่ผ่านมา 2) ใช้สารเสพติดในรอบ 30 วันที่ผ่านมา 3) มีผู้ปกครองใช้บุหรี่ไฟฟ้า 4) มีเพื่อนใช้บุหรี่ไฟฟ้า และ 5) ผลการเรียนสะสมต่ำกว่าหรือเท่ากับค่าเฉลี่ย ในขณะที่ปัจจัยป้องกันการใช้บุหรี่ไฟฟ้า ได้แก่ การมีทัศนคติเชิงลบต่อการใช้บุหรี่ไฟฟ้า และมีกิจกรรมต่อต้านบุหรี่ไฟฟ้าในโรงเรียนเป็นประจำ นอกจากนี้พบว่า นักเรียนที่มีการรับรู้นโยบายและกิจกรรมโรงเรียนปลอดบุหรี่ไฟฟ้าในระดับสูงเท่านั้น จะมีความรู้เกี่ยวกับกฎหมายห้ามบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 3 เท่า และรับรู้อันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 8 เท่า" รศ.ดร.จักรพันธ์ กล่าว

ผศ.ดร.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า การระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กไทยนับเป็นหายนะ ที่ทุกภาคส่วนต้องร่วม ‘ปกป้องเด็กและเยาวชนจากการตกเป็นเหยื่อบุหรี่ไฟฟ้า’ โดยเฉพาะโรงเรียน จึงขอเสนอแนะ ดังนี้ 1) ขอให้กระทรวงศึกษาธิการเร่งรัดให้โรงเรียนประถมและมัธยมศึกษาทุกแห่ง กำหนดนโยบายและประกาศใช้นโยบายโรงเรียนปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเร่งด่วนและเป็นลายลักษณ์อักษร รวมทั้งเร่งสื่อสารและประชาสัมพันธ์ให้นักเรียน บุคลากรในโรงเรียน และชุมชนรับรู้ในวงกว้าง 2) ชอให้กระทรวงศึกษาธิการเร่งผลิตคู่มือและสื่อการสอน รวมทั้งออกแบบหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพสำหรับครูแกนนำในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อป้องกันการใช้บุหรี่ไฟฟ้าของนักเรียน 3) ขอให้โรงเรียนเร่งรัดมาตรการป้องกันการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในโรงเรียน รวมทั้งจัดสภาพแวดล้อมในโรงเรียนไม่ให้เอื้อต่อการใช้บุหรี่ไฟฟ้า และ 4) ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งตรวจสอบ เฝ้าระวัง และบังคับใช้กฎหมายห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าโดยรอบโรงเรียนอย่างเคร่งครัด และเร่งปราบปรามการโฆษณาและขายบุหรี่ไฟฟ้าทางสื่อออนไลน์จริงจังต่อเนื่อง

Credit : https://www.naewna.com/local/795132


พิมพ์