เสวนา 'บุหรี่ไฟฟ้า' มหันตภัยล่าเยาวชนไทย ล้างความเชื่อ อันตรายน้อยกว่าแบบมวน

เสวนา 'บุหรี่ไฟฟ้า' มหันตภัยล่าเยาวชนไทย ล้างความเชื่อ อันตรายน้อยกว่าแบบมวน

แม้บุหรี่ไฟฟ้าจะเป็นสินค้าต้องห้ามในประเทศไทย แต่ทุกวันนี้ก็ยังพบเห็นผู้สูบได้ตามท้องถนนทั่วไป รวมไปถึงช่องทางการค้าที่เข้าถึงได้ง่าย ทั้งที่มีกฎหมายควบคุมก็ตาม ท่ามกลางความเชื่อที่ว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวน

ล่าสุดพบข้อมูลว่า ในปี 2558 คนไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้าประมาณ 7 หมื่นคน แต่ในปี 2565 พบว่ามีคนไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 7 แสนคน ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญยืนยันตรงกันว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายมากกว่าบุหรี่มวนถึง 3 เท่า

ประเด็นบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายกว่าบุหรี่มวนจริงหรือไม่ กลายเป็นสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญได้แลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการ ในเวทีเสวนา บุหรี่ไฟฟ้ามหันภัยไม่เงียบล่าเยาวชน ของงานสมัชชาสุขภาพครั้งที่ 16

ที่น่าสนใจคือการเปิดเผยสถิติจากสำนักงานสถิติแห่งชาติว่าประเทศไทยมีอัตราการสูบบุหรี่ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากเดิม 70,000 คน ในปี 2558 เป็น 7 แสนคนในปี 2565 ซึ่งพบมากขึ้นในกลุ่มเยาวชนอายุ 13-24 ปี

รองผอ.ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ ระบุว่า ผลการศึกษาพบว่า บุหรี่ไฟฟ้ายังคงเป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง โรคหลอดลมฝอยอักเสบ และ โรคปอดอักเสบรุนแรง ได้มากกว่าบุหรี่มวน จากนิโคตินสังเคราะห์ และ กระบวนการเผาไหม้ ที่เต็มไปด้วยสารประกอบโลหะหนัก ซึ่งยังส่งผลกระทบต่อคนรอบข้างรุนแรงกว่าบุหรี่มวน ถึง 3 เท่า อีกด้วย

ผศ.ดร.ศรีรัช ลาภใหญ่ ตัวแทนโครงการพัฒนาขยายผลการเฝ้าระวังและจัดการความรู้ผลิตภัณฑ์เสี่ยงสุขภาพ ระบุว่า ปัจจุบันบริษัทผู้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้าได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการโฆษณาสินค้า มาทำการตลาดหว่านล้อม เช่น การก่อตั้งมูลนิธิรณรงค์ต่อต้านบุหรี่มวน แต่ข้อเท็จจริงแล้ว คือ การแฝงทุนส่งเสริมงานวิจัย เพื่อใช้ข้อมูลมาสนับสนุนด้านดีของบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความเชื่อที่ผิด ไปสู่การออกนโยบายของประเทศ

สิ่งที่น่ากังวล คือ ผู้ผลิตสินค้าเริ่มพุ่งเป้าทางการตลาดไปที่เด็กและเยาวชน อายุ 13-24 ปี ซึ่งเห็นได้ชัดจากการออกแบบรูปแบบผลิตภัณฑ์ ให้มีรูปลักษณะจูงใจกลุ่มเป้าหมาย เช่น บุหรี่ไฟฟ้าแบบ TOY POD ที่แทบไม่ต่างจากของเล่นเด็ก

ตอนนี้แม้บุหรี่ไฟฟ้าและน้ำยา จะเป็นสินค้าต้องห้าม ที่ผิดกฎหมายในไทย แต่สินค้านี้กลับหาซื้อได้ทั่วไป และ ขายกันอย่างโจ่งแจ้ง ตามช่องทางออนไลน์ต่างๆ

รองศาตราจารย์ แพทย์หญิงเริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ รามาธิบดี ระบุว่า แม้หลายฝ่ายจะมองว่าภาครัฐสามารถออกกฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า ให้เหมือนกฎหมายควบคุมยาสูบอื่นๆ ได้ แต่ก็เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีโทษมากกว่าประโยชน์ จึงควรเรียนรู้จากตัวอย่างในอดีต เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาด้านสุขภาวะซ้ำจากควันบุหรี่อย่างเช่นในทุกวันนี้

นายเลิศศักดิ์ รักธรรม ผู้อำนวยการส่วนบังคับคดี สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ระบุว่า การออกกฎหมายยังจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลให้รอบด้าน เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมา จากประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับกลุ่มคนเพียงไม่กี่กลุ่ม เช่นตัวอย่างในหลายประเทศ

เวทีสมัชชาสุขภาพครั้งที่ 16 ได้บรรจุเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าไว้หารือในการประชุมครั้งต่อไปแล้ว ขณะที่ในปีนี้มีวาระที่ผ่านการเห็นชอบแล้ว 4 วาระ คือ ระบบสุขภาวะทางจิตเพื่อสังคมไทยไร้ความรุนแรง / การส่งเสริมความเข้มแข็งการบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่ / การพัฒนาประชากรให้เกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพ / และ หลักประกันรายได้เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ซึ่งทั้งหมดนี้จะถูกเสนอเข้าที่ผระชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อออกแนวทางปฏิบัติต่อไป

Credit : http://tinyurl.com/yk4pnahe


พิมพ์