“หมอประกิต” ติง รมช.คลัง จ่อลดภาษียาเส้น ชี้ถอยหลังเข้าคลอง เผยปัจจุบันเก็บแค่ 0.1 บาทต่อกรัม

“หมอประกิต” ติง รมช.คลัง จ่อลดภาษียาเส้น ชี้ถอยหลังเข้าคลอง เผยปัจจุบันเก็บแค่ 0.1 บาทต่อกรัม

“หมอประกิต” ติง รมช.คลัง จ่อลดภาษียาเส้น ชี้ถอยหลังเข้าคลอง เผยปัจจุบันเก็บแค่ 0.1 บาทต่อกรัม ยันผู้ปลูกไม่กระทบ ขณะที่ราคาขายปลีกเพิ่มขึ้นไม่มาก ถามจะเลือกปกป้อง ปชช.หรือเอาใจพ่อค้า  | วันนี้ (15 ส.ค.) ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวถึงกรณี รมช.คลัง มีแนวคิดลดภาษีสรรพสามิตยาเส้นตามข้อเรียกร้องเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบ

ที่ปัจจุบันจัดเก็บภาษี 0.1 บาทต่อกรัม จากเดิม 0.005 บาทต่อกรัม ว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดปรับลดภาษียาเส้นอย่างยิ่ง เพราะการขึ้นภาษียาเส้น กรมสรรพสามิตได้ศึกษาอย่างรอบคอบและเตรียมการมาหลายปีแล้ว และภาษีที่ขึ้นไปเพียงแต่ส่งผลให้ราคาขายปลีกยาเส้นเพิ่มขึ้น ซองละ 2 บาท จากเดิม 10 เป็น 12 บาท หรือซองเล็กจาก 5 บาทเป็น 7 บาท ยาเส้นหลายยี่ห้อราคาขายปลีกก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นเลยด้วยซ้ำ แสดงว่าภาษีที่ขึ้นจัดว่าน้อยมาก และข้อเท็จจริงแล้ว ชาวไร่ยาสูบไม่ได้รับผลกระทบ แต่จะส่งผลกระทบต่อพ่อค้าคนกลางที่ขายยาเส้น

"คนไทยที่สูบบุหรี่ยาเส้นมีถึงเกือบ 5 ล้านคน มาตรการภาษีเป็นการป้องกันและทำให้คนสูบบุหรี่น้อยลง รัฐบาลต้องรู้ว่า ทุกวันนี้ มีคนไทยมากกว่า 1 ล้านคนที่ป่วยจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ แม้ยังมีชีวิตอยู่ แต่ต้องเข้าออกโรงพยาบาลเพื่อรักษาโรค การเจ็บป่วยจากการสูบบุหรี่ตามโรงพยาบาลทั่วประเทศ โดยเฉพาะ รพ.รัฐ เพราะคนสูบบุหรี่ส่วนใหญ่เป็นคนจน ซึ่งรัฐบาล โดยกระทรวงการคลัง และกระทรวงสาธารณสุขต้องแบกรับภาระค่ารักษาพยาบาลจากโรคที่เกิดจากบุหรี่แต่ละปีเป็นมูลค่ามหาศาล สูงกว่ารายได้จากภาษีที่รัฐจัดเก็บได้" ศ.นพ.ประกิต กล่าว

ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า การจัดการปัญหาเรื่องยาสูบมี 2 ด้าน ขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะเลือกด้านไหน ระหว่างรัฐบาลอยากปกป้องสุขภาพของประชาชน โดยสนับสนุนให้คนสูบบุหรี่น้อยลง ลดคนที่จะป่วยจากโรคที่เกิดจากสูบหรี่ ลดค่าใช้จ่ายงบประมาณการรักษาพยาบาล ลดความแออัดของระบบบริการ นอกจากจะประหยัดค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลที่รัฐบาลต้องอุดหนุนทั้งผู้ป่วยบัตรทอง และสวัสดิการข้าราชการแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมสุขภาพของประชาชนทั้งประเทศด้วย หรือรัฐบาลจะเอาใจพ่อค้าคนกลางที่มักจะอ้างชาวไร่ยาสูบบังหน้า โดยลดภาษี ชะลอการขึ้นภาษี โดยไม่สนใจสุขภาพของประชาชน ซึ่งหากเลือกอย่างหลัง แล้วคนไทยจะสูบบุหรี่ลดลงได้อย่างไร คนเจ็บป่วยจะน้อยลงได้อย่างไร

“รมช.คลัง รับปากช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่ยาสูบ โดยยอมลดภาษีทั้งที่ก่อนหน้านี้ได้ประกาศขึ้นไปแล้ว ถือเป็นการเดินถอยหลัง ขัดต่อพันธกรณีของประเทศไทยภายใต้อนุสัญญาควบคุมยาสูบด้วย หากจะแก้ปัญหาชาวไร่ยาสูบเดือดร้อนจากการที่คนสูบบุหรี่ลดลงจากการขึ้นภาษี สิ่งที่รัฐบาลต้องทำ คือ ช่วยเหลือชาวไร่ยาสูบปลูกพืชทดแทน หรือทำอาชีพอื่น ไม่ใช่กลับไปลดภาษีหรือชะลอการขึ้นภาษียาสูบ ตามคำเรียกร้องของบริษัทบุหรี่” ศ.นพ.ประกิต กล่าว

ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า กษัตริย์บรูไนเคยกล่าวว่า การแก้ปัญหายาสูบนั้น ยาสูบก่อให้เกิดรายได้ มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ แต่อีกทางหนึ่ง ยาสูบก่อให้เกิดการเจ็บป่วยและเสียชีวิต ทางออกทางเศรษฐกิจมีทางเลือกหลายทาง แต่สุขภาพและชีวิต เรามีทางเลือกหรือ เมื่อเราป่วยขึ้นมาจึงชัดเจนว่า ระหว่างผลดีทางเศรษฐกิจ ที่เรามีทางเลือกมากมายกับสุขภาพและชีวิต เราต้องเลือกสุขภาพและชีวิต

Credit : https://mgronline.com/qol/detail/9620000077973
เผยแพร่: 15 ส.ค. 2562 16:12 โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พิมพ์