ข้อมูลทางวิชาการเรื่องบุหรี่เท่ากับยาเสพติด

ข้อมูลทางวิชาการเรื่องบุหรี่เท่ากับยาเสพติด

อำนาจการเสพติดบุหรี่เปรียบเทียบกับยาเสพติดให้โทษ องค์การอนามัยโลก ให้ความหมายว่า ยาเสพติด หมายถึง สิ่งที่เสพเข้าไปแล้วจะเกิดความต้องการทั้งทางร่างกายและจิตใจต่อไปโดยไม่สามารถหยุดเสพได้ และจะต้องเพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดจะทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บต่อร่างกายและจิตใจขึ้น

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่า การสูบบุหรี่มีผลเสียต่อสุขภาพทำให้เกิดโรคและการเสียชีวิต ทั้งคนที่สูบบุหรี่และผู้ที่ได้รับควันบุหรี่มือสอง เช่น โรคถุงลมโป่งพอง โรคมะเร็งปอด โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็งชนิดอื่นๆ ผลเสียต่อเศรษฐกิจทำให้เสียเงินในการซื้อบุหรี่มาสูบ และเสียเงินในการรักษาโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่และยังเสี่ยงต่อการเกิดไฟไหม้ และอุบัติเหตุทางรถยนต์ สังคมไทยยอมรับว่าบุหรี่เป็นสารเสพติด โดยเป็นยาเสพติดหน้าด่าน (Gateway drug) ที่นำไปสู่การติดยาเสพติดที่ร้ายแรงต่อไป แต่ยังเป็นเรื่องน่าแปลกที่ปัจจุบันบุหรี่ยังแตกต่างกับยาเสพติดให้โทษประเภทอื่นที่สามารถซื้อ-ขายได้ง่ายอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ให้ความหมายของ ยาเสพติดให้โทษ หมายความว่า สารเคมีหรือวัตถุชนิดใดๆ ซึ่งเมื่อเสพเข้าสู่ร่างกายไม่ว่าจะโดยรับประทาน ดม สูบ ฉีด หรือด้วยประการใดๆ แล้วทำให้เกิดผลต่อร่างกายและจิตใจในลักษณะสำคัญ เช่น ต้องเพิ่มขนาดการเสพขึ้นเป็นลำดับ มีอาการถอนยาเมื่อขาดยา มีความต้องการเสพทั้งร่างกายและจิตใจอย่างรุนแรงตลอดเวลา และสุขภาพโดยทั่วไปจะทรุดโทรมลง กับให้รวมตลอดถึงพืชหรือส่วนของพืชที่เป็นหรือให้ผลผลิตเป็นยาเสพติดให้โทษหรืออาจใช้ผลิตเป็นยาเสพติดให้โทษและสารเคมีที่ใช้ในการผลิตยาเสพติดให้โทษด้วย ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่ไม่หมายความถึงยาสามัญประจำบ้านบางตำรับตามกฎหมายว่าด้วยยาที่มียาเสพติดให้โทษผสมอยู่
จากคำจำกัดความข้างต้น ทำให้เห็นว่าบุหรี่มีคุณสมบัติเป็นยาเสพติด ผลิตมาจากใบยาสูบตากแห้ง มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Nicotiana tabacum เป็นพืชในตระกูล Solanaceae นำไปผ่านกระบวนการทางเคมี และมีการเพิ่มสารอื่นๆ โดยมีส่วนประกอบของ “นิโคติน” ซึ่งเป็นสารที่มีอำนาจการเสพติดมากกว่ายาเสพติดชนิดอื่นจากการจัดอันดับ คือ เฮโรอีน โคเคน แอลกอฮอล์ และคาเฟอีนตามลำดับ ตารางที่ 1 นิโคตินในควันบุหรี่ที่ผู้สูบได้รับเข้าไปในร่างกายทำให้เกิดการเสพติดเช่นเดียวกับเฮโรอีน เมื่อมีการสูดควันบุหรี่เข้าไป นิโคตินจะถูกดูดซึมอย่างรวดเร็วเข้าสู่กระแสเลือด และสมองภายใน 10 วินาที โดยจะกระตุ้นให้หลั่งสารสื่อประสาทในสมอง คือ dopamine ทำให้เกิดอารมณ์แห่งความสุข และ Norepinephrine ทำให้เกิดการตื่นตัว มีพลัง มีสมาธิ ลดความรู้สึกซึมเศร้า เมื่อหยุดสูบบุหรี่ปริมาณของสารสื่อประสาทเหล่านี้จะลดลง ทำให้อารมณ์แห่งความสุขของผู้สูบบุหรี่หายไป จึงเกิดความต้องการเสพทั้งทางร่างกายและจิตใจโดยไม่สามารถหยุดเสพได้ (dependence) ดังนั้นผู้สูบจึงต้องแสวงหาบุหรี่มาสูบต่อไปเรื่อยๆ (craving) เพื่อบรรเทาอาการถอนนิโคติน (withdrawal symptoms) ได้แก่ กระวนกระวาย หงุดหงิดง่าย ไม่มีสมาธิ หิวบ่อย น้ำหนักขึ้น และต้องเพิ่มปริมาณการสูบมากขึ้นจึงให้ผลเท่าเดิม (tolerance) นอกจากนี้ภาวะการเสพติดทางจิตใจ คือ ทัศนคติ ความเชื่อ ความรู้สึกที่มีต่อการสูบบุหรี่ว่าบุหรี่ทำให้คลายความเครียด ลดความวิตกกังวล ทำให้มีสมาธิ และภาวะการเสพติดทางสังคม หรือนิสัยความเคยชิน เกิดจากการที่ผู้สูบบุหรี่ได้สร้างความสัมพันธ์ระหว่างกิจกรรมประจำวันกับการสูบบุหรี่ กระทรวงสาธารณสุขของประเทศสหรัฐอเมริกา จัดบุหรี่เป็นยาเสพติดประเภทหนึ่ง แต่ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่ได้จัดบุหรี่ให้เป็นยาเสพติดให้โทษ แต่เป็นยาเสพติดที่ถูกกฎหมาย

รายละเอียดอื่นๆ สามารถดูได้ที่เอกสารแนบค่ะ


พิมพ์