ความจริง! บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวน? ความเชื่อของเด็กไทยที่ฮิตสูบ

ความจริง! บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวน? ความเชื่อของเด็กไทยที่ฮิตสูบ

ข่าวสารบุหรี่ ฮิต: 1095

วิกฤตสุขภาวะวัยรุ่นไทย น่าห่วงบุหรี่ไฟฟ้าพุ่งเป้าเยาวชน อึ้ง เด็กป. 5 ในโรงเรียนภาคอีสานแห่งหนึ่งสูบุหรี่ไฟฟ้าถึง 20 คน ห่วงครู พ่อ แม่ รู้ไม่เท่าทันบุหรี่รูปแบบใหม่ แนะรัฐคงมาตรการแบน ปราบปรามเข้มงวด สร้างบรรทัดฐานสังคมใหม่ ไม่ยอมรับ สูบบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้า

เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2565 ที่โรงแรมแมนดาริน กรุงเทพฯ ภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบในประเทศไทย จัดเสวนาวิชาการ “บุหรี่ไฟฟ้า วิกฤตสุขภาวะวัยรุ่นไทย” โดย ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ คณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์การระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มวัยรุ่นน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะกลุ่มนักสูบหน้าใหม่และวัยรุ่นหญิงที่เริ่มเข้ามาสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น จากข้อมูลสำรวจสุขภาพคนไทยโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 6 พ.ศ. 2562-2563 พบวัยรุ่นอายุ 10-19 ปี เคยลองสูบบุหรี่ไฟฟ้า 5.3% สูบเป็นประจำ 2.9% ที่น่าตกใจคือ 30% ของวัยรุ่นที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นประจำเป็นผู้หญิง บุหรี่ไฟฟ้าจึงถือเป็นภัยร้ายตัวใหม่ในวัยรุ่น เพราะทำให้วัยรุ่นที่ไม่นิยมสูบบุหรี่ เช่น ผู้หญิง เข้ามาสนใจสูบบุหรี่ไฟฟ้าจนสุดท้ายนำไปสู่การเสพติดสิ่งเสพติดอื่น ๆ เช่น กัญชา ยาบ้า โคเคน เฮโรอีน ก่อให้เกิดปัญหาสังคมตามมาอีกมากมาย

นางฐาณิชชา ลิ้มพานิช ผู้จัดการโครงการครอบครัวปลอดบุหรี่ กล่าวว่า ขณะนี้พบการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กระดับประถมศึกษาในหลายพื้นที่ ส่วนใหญ่สูบเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เข้าใจผิดว่าผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าแบบใหม่ ๆ เช่น พอต ไม่ใช่บุหรี่ไฟฟ้า ไม่อันตรายและไม่เสพติด ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองยังขาดความรู้และไม่รู้ว่าผลิตภัณฑ์พวกนี้เป็นบุหรี่ไฟฟ้า เพราะรูปลักษณ์ภายนอกคล้ายอุปกรณ์การเรียนของเด็ก เช่น ปากกา น้ำยาลบคำผิด เด็ก ๆ สามารถเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าได้ง่าย เพราะวางขายในตลาดนัด ทางออนไลน์ และบางพื้นที่มีการแจกบุหรี่ไฟฟ้าให้วัยรุ่นลองใช้อีกด้วย อีกทั้งข้อมูลที่ได้จากการทำงานกับสถานศึกษา การเยี่ยมบ้านของคุณครู พบว่ามีผู้ปกครองสูบบุหรี่ในบ้าน ซึ่งส่งผลกระทบต่อเด็ก ทำให้เด็กกลุ่มนี้มีแนวโน้มสูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้าด้วย จึงอยากให้มีการรณรงค์เรื่องนี้ในครอบครัวอย่างจริงจัง

ด้านรศ.ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยข้อมูลงานวิจัยบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชนไทยระดับมัธยมต้นอายุ 11-16 ปี (อายุเฉลี่ย 13 ปี) พบสาเหตุสำคัญ 5 ประการ ที่ทำให้เด็กไทยติดบุหรี่ไฟฟ้า 1.มีพ่อแม่หรือคนในครอบครัวสูบบุหรี่ไฟฟ้า 2.มีเพื่อนสูบบุหรี่ไฟฟ้า 3.เพื่อนและคนรอบตัวมองว่าการสูบบุหรี่เป็นเรื่องปกติ 4.เคยสูบบุหรี่ธรรมดามาก่อน 5.เข้าใจผิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีอันตราย โดยเด็กกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึง 5.3 เท่า นอกจากนี้ ยังพบว่าเด็กที่ไม่เคยสูบบุหรี่ใด ๆ มาก่อน เมื่อเริ่มลองสูบบุหรี่ไฟฟ้าจนติดต้องสูบเป็นประจำ ภายในระยะเวลา 1 ปี จะมีแนวโน้มที่จะเริ่มลองสูบบุหรี่ธรรมดาเพิ่มขึ้น 5.4 เท่า และมีแนวโน้มที่จะติดทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ธรรมดา (dual use) เพิ่มขึ้นถึง 7 เท่า แสดงให้เห็นถึงปรากฏการณ์ที่เรียกว่า gateway effects ของบุหรี่ไฟฟ้า หรือ ประตูสู่สารเสพติดอื่นๆ รวมถึงบุหรี่ธรรมดา

รศ.ดร.พญ.เริงฤดี กล่าวต่อว่า สถาบันวิจัยอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ศึกษาข้อมูลการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชนในกรุงเทพฯ อายุ 14-17 ปี พบว่าเด็กที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าส่วนใหญ่ 72% มีการใช้สารเสพติดอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น สุรา กัญชา บุหรี่ และงานวิจัยในต่างประเทศพบว่ายิ่งเด็กเริ่มสูบบุหรี่ไฟฟ้าตอนอายุยิ่งน้อย ยิ่งเสี่ยงที่จะติดสารเสพติดอื่น ๆ มากขึ้น บุหรี่ไฟฟ้าจะก่อให้เกิดปัญหานำไปสู่การใช้สารเสพติดต่าง ๆ แล้ว ยังมีผลกระทบต่อสุขภาพ เพราะนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสารเสพติดจะส่งผลโดยตรงต่อสมองและระบบประสาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กและเยาวชนที่สมองจะเจริญเติบโตไม่เต็มที่ พิษของนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าจะส่งผลให้เด็กที่สูบมีอาการหงุดหงิดง่าย เรียนหนังสือไม่รู้เรื่อง ความจำแย่ลง ปวดศีรษะ อารมณ์แปรปรวน สมาธิสั้น และมีภาวะซึมเศร้า จากข้อมูลสำรวจสุขภาพคนไทยโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 6 พ.ศ. 2562-2563 พบเด็กและเยาวชนไทยอายุ 10-19 ปี ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ากว่าครึ่งหรือ 53% มีภาวะเสี่ยงโรคซึมเศร้าด้วยและเด็กที่เคยลองสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีแนวโน้มจะเป็นโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้น 2 เท่า อีกทั้งงานวิจัยใหม่ยังชี้ว่า น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจเสียชีวิตเฉียบพลัน

Credit : https://www.hfocus.org/content/2022/11/26317

พิมพ์