งานวิจัยพบว่า หากพ่อได้รับควันบุหรี่มือสอง แม้ไม่ได้สูบเอง

งานวิจัยพบว่า หากพ่อได้รับควันบุหรี่มือสอง แม้ไม่ได้สูบเอง

งานวิจัยพบว่า หากพ่อได้รับควันบุหรี่มือสอง แม้ไม่ได้สูบเอง แต่มีโอกาสทำให้เด็ก-ลูกหลาน เป็นหอบหืดได้มากขึ้น ผลการศึกษาที่เผยแพร่ผ่านวารสาร ‘European Respiratory Journal’ ได้แสดงให้เห็นถึงหลักฐานว่า ควันบุหรี่สามารถสร้าง ‘ผลกระทบข้ามรุ่น’ แม้พ่อของเด็กจะไม่ได้สูบบุหรี่โดยตรง แต่หากเด็กได้รับควันบุหรี่จากพ่อของเขา

(หรือปู่ของเด็ก) ในช่วงอายุก่อนอายุ 15 ปี จะเพิ่มโอกาสให้เด็กมีความเสี่ยงที่จะเป็นหอบหืดเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับเด็กที่ไม่ได้สัมผัสกับพ่อ

“ผลวิจัยของเราชี้ให้เห็นว่า เมื่อเด็กผู้ชายได้รับควันบุหรี่ของพ่อแม่ (โดยเฉพาะพ่อ) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก่อนอายุ 15 ปี ลูกหลานของพวกเขามีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะเป็นโรคหอบหืดในเด็กที่ไม่ใช่เกิดภูมิแพ้” งานวิจัยระบุ “การได้รับควันจากพ่อก่อนอายุ 15 ปีเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญสำหรับโรคหอบหืดที่ไม่ใช่ภูมิแพ้”

การค้นพบนี้มาจากการวิเคราะห์ข้อมูลโดยละเอียดเกี่ยวกับสุขภาพของพ่อและลูกหลายจำนวน 1,689 คู่ที่เติบโตในรัฐแทสเมเนีย ประเทศออสเตรเลีย โดยอ้างอิงข้อมูลจากสุขภาพระยะยาวของรัฐแทสเมเนีย (TAHS) ซึ่งทำเริ่มตั้งแต่ปี 1965 เปรียบเทียบข้อมูลว่าเด็กจะเป็นโรคหอบหืดเมื่ออายุ 7 ขวบหรือไม่กับข้อมูลว่าพ่อ (ของเด็ก) โตมากับพ่อแม่ที่สูบบุหรี่ในขณะที่อายุต่ำกว่า 15 ปีหรือไม่ รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับพ่อว่าเป็นผู้สูบบุหรี่หรือไม่ ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในการศึกษาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจที่ใหญ่ที่สุดและยาวนานที่สุดในโลก

“เราพบว่าเด็กมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหอบหืดที่ไม่ใช่ภูมิแพ้เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 59 หากพ่อของพวกเขาได้รับควันบุหรี่มือสองในวัยเด็ก (ควันบุหรี่มือสองคือการได้รับควันจากที่อื่น ๆ ไม่ใช่การสูบโดยตรง) เมื่อเทียบกับเด็กที่ไม่ได้สัมผัสกับพ่อ ความเสี่ยงจะยิ่งสูงขึ้นถึงร้อยละ 72 หากพ่อของเด็กสูบบุหรี่เองโดยตรง” เจียเชง ลิยู (Jiacheng Liu) หนึ่งในผู้นำการวิจัยกล่าว

โจน ฟอสเตอร์ (Jon Foster) ผู้จัดการนโยบายด้านสุขภาพของ ‘Asthma + Lung UK’ จากสหราชอาณาจักรกล่าวถึงการศึกษานี้ว่า “งานวิจัยชิ้นนี้น่าตกใจอย่างแท้จริง ซึ่งได้แสดงให้เห็นว่าผลกระทบเชิงลบของการสูบบุหรี่สามารถคงอยู่ได้หลายชั่วอายุคน และความจริงที่ว่าเด็กที่เกิดในวันนี้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 59 ที่จะเป็นหอบหืด หากพ่อของพวกเขาได้รับควันบุหรี่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ขณะเมื่อเป็นเด็ก แสดงให้เห็นว่าการสูบบุหรี่ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อสุขภาพของผู้อื่น”

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยยังไม่ทราบถึงสาเหตุที่แท้จริงของ ‘ผลกระทบข้ามรุ่น’ ในการสูบบุหรี่ แต่คาดว่าการได้รับควันบุหรี่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนไปในระดับพันธุกรรม “เราไม่แน่ใจว่าความเสียหายนี้ส่งต่อไปยังรุ่นต่อไปได้อย่างไร แต่เราคิดว่าอาจเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของดีเอ็นเอโดยตรง ซึ่งมาจากปัจจัยต่าง ๆ ในสภาพแวดล้อมของเรา เช่น ควันบุหรี่มีปฏิสัมพันธ์กับยีนของเรา และการเปลี่ยนแปลงนี้สามารถสืบทอดได้” ดินฮ์ บุย (Dinh Bui) จากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์นกล่าว

เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า “เป็นไปได้ว่าควันบุหรี่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงของพันธุกรรมโดยตรงในเซลล์ที่จะไปผลิตเป็นสเปิร์มเมื่อเด็กผู้ชายโตขึ้น และการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ก็ส่งต่อไปยังลูก ๆ ของพวกเขา ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของพวกเขา รวมถึงความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหอบหืดมากขึ้นด้วย สำหรับเด็กผู้ชายแล้ว เซลล์สืบพันธุ์จะพัฒนาต่อไปจนถึงวัยแรกรุ่น และนั่นเป็นช่วงเวลาที่เปราะบาง”

ด้าน ศจ. โจนาธาน กริกก์ (Jonathan Grigg) ประธานคณะกรรมการควบคุมยาสูบของสมาคมระบบทางเดินหายใจยุโรป (European Respiratory Society) เรียกร้องให้เด็กได้รับการปกป้องจากผลกระทบของควันบุหรี่อย่างต่อเนื่อง

“เรารู้อยู่แล้วว่าการสูบบุหรี่และการสัมผัสควันบุหรี่มือสองสามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหอบหืดได้ การศึกษานี้เพิ่มหลักฐานที่ว่าความเสียหายที่เกิดจากควันบุหรี่สามารถส่งต่อไปยังเด็ก และแม้แต่หลาน ๆ ได้ เราจำเป็นต้องปกป้องพวกเขาจากสิ่งเหล่านี้ด้วยมาตรการจำกัดบุหรี่และสนับสนุนให้เลิกสูบบุหรี่

สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
Photo by Julia Engel on Unsplash

Credit : https://tinyurl.com/3nu4ytfx


พิมพ์