อนุทิน ประกาศจุดยืนไทยแบนบุหรี่ไฟฟ้าทุกรูปแบบ ยันห้ามนำเข้า-ขายในประเทศ

อนุทิน ประกาศจุดยืนไทยแบนบุหรี่ไฟฟ้าทุกรูปแบบ ยันห้ามนำเข้า-ขายในประเทศ

ข่าวสารบุหรี่ ฮิต: 139

วันนี้ (29 สิงหาคม 2565) ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ จัดการประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 20 เรื่อง “บุหรี่ไฟฟ้า ภัยซ่อนเร้นในสังคม” ที่แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการะทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้าไม่ใช่เรื่องใหม่ ทั่วโลกทราบดีว่า บุหรี่ไฟฟ้าไม่ปลอดภัย และทำให้มีนักสูบหน้าใหม่เกิดขึ้น สำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 สำรวจพบคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป สูบบุหรี่ไฟฟ้าถึง 80,000 คน ในจำนวนนี้มากกว่าครึ่งเป็นเยาวชนอายุ 15 – 24 ปี สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ บุหรี่ไฟฟ้าทำให้เยาวชนที่ไม่เคยคิดจะสูบบุหรี่เลย เริ่มต้นอยากลองสูบบุหรี่เร็วขึ้น ทำให้มีโอกาสได้รับผลกระทบจากควันบุหรี่นานขึ้นตามไปด้วย บุหรี่ไฟฟ้าก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะมีผลทำลายสมองที่กำลังเติบโตของเด็กและเยาวชน ซึ่งถือเป็นอนาคตของชาติ เป็นทรัพยากรที่มีค่ามหาศาลที่เราทุกคนจะต้องดูแล ส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ และพัฒนาอย่างมาก เพื่อให้ทันต่อการพัฒนาประเทศไทยในทุกมิติ
“จุดยืนของไทยคือ ไม่สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้า ปัจจุบันมาตรการและประสบการณ์ของประเทศต่างๆ ไม่มีมาตรการอื่นใดที่มีประสิทธิภาพในการปกป้องเยาวชนไม่ให้เข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้า และทดลองเสพบุหรี่ไฟฟ้าได้ ดังนั้นจึงควรป้องกันที่ต้นทางคือ การห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า ตลอดจนดำเนินการตามอนุสัญญาพิธีสารว่าด้วยการจัดการการค้าผลิตภัณฑ์ยาสูบที่ผิดกฎหมาย และบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด” นายอนุทิน กล่าว
ผศ.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า จากการรวบรวมงานวิจัยต่างประเทศ ปี 2014-2021 มีถึง 6,971 ชิ้น พบรายงานโรคแทรกซ้อนจากบุหรี่ไฟฟ้า ได้แก่ ระบบทางเดินหายใจ ร้อยละ 49 ระบบหัวใจและหลอดเลือด ร้อยละ 13 ช่องปากและฟัน ร้อยละ 18 สมอง ร้อยละ 7 ตับ ร้อยละ 2.9 ผิวหนัง ร้อยละ 2.9 และระบบอื่นๆ ร้อยละ 19

“องค์การอนามัยโลก สรุปว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายต่อทุกระบบของร่างกาย สารนิโคตินที่มีฤทธิ์เสพติดสูงสุดและออกฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดหดตัว ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายน้อยลง และยังมีสารมีพิษอื่นๆ เพิ่มความเสี่ยงเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบหรือแตกมากขึ้น สอดคล้องกับสมาคมโรคหัวใจอเมริกา ระบุว่า บุหรี่ไฟฟ้า เพิ่มความเสี่ยงของโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด 1.8 เท่า ทำให้ปอดอักเสบ มีความเสี่ยงโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังเพิ่มขึ้น ร้อยละ 49 โรคหอบหืดเพิ่มขึ้น ร้อยละ 39 บุหรี่ไฟฟ้าทั้งมือหนึ่งและมือสองมีผลต่อพัฒนาการทางสมองของทารกในครรภ์ ทำให้มีความผิดปกติของระบบประสาท เป็นโรคสมาธิสั้น น้ำหนักแรกเกิดน้อย โดยเฉพาะสมองที่กำลังพัฒนาของเด็กและเยาวชนอายุถึง 25 ปี ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของสมองลดลงมากกว่าเด็กที่ไม่เคยสูบ 3-4 เท่า” ผศ.นพ.วิชช์ กล่าวและว่า บุหรี่ไฟฟ้าไม่ช่วยเลิกบุหรี่ ยังเป็นประตูนำไปสู่การสูบบุหรี่มวน และสารเสพติดอื่น เช่น กัญชา แอลกอฮอล์ มีโอกาสสูบบุหรี่มวนในอนาคต 3.29 เท่า คนที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อเลิกบุหรี่มวนจะกลับมาสูบบุหรี่มวน 4.4 เท่า ในด้านความสูญเสียทางเศรษฐกิจ จากงานวิจัยของสหรัฐฯ ค่ารักษาพยาบาลจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงถึงปีละกว่า 5 แสนล้านบาท สูงกว่ารายได้จากภาษีบุหรี่ไฟฟ้าที่จัดเก็บได้เพียง 300 ล้านบาท การสูบบุหรี่ไฟฟ้าทำให้เกิดกลุ่มควันฝุ่น PM 2.5 และเกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า มาตรการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าทั่วโลก คือ 1.ห้าม และ 2.ควบคุมโดยแยกย่อยเป็นผลิตภัณฑ์ยา 3.ห้ามส่วนประกอบ 4.ควบคุมเหมือนกับสารพิษ 5.ควบคุมเหมือนกับผลิตภัณฑ์ยาสูบ 6.ควบคุมเหมือนกับสินค้าอุปโภคบริโภค และ 7.ควบคุมเหมือนสินค้าเฉพาะ

“หากประเทศไทยใช้เพียงมาตรการที่ 3-7 จะทำให้เกิดการเสพติดนิโคตินต่อเนื่องทั้งสิ้น อีกทั้งไม่ได้ปกป้องเยาวชนจากการทดลองใช้และเสพ ส่วนมาตรการที่ 2 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เคยให้ข้อมูลต่ออนุกรรมาธิการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร ว่า บริษัทบุหรี่ไฟฟ้า ควรนำมาขึ้นทะเบียน ให้ อย.ตรวจสอบ และพิสูจน์ได้ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ควบคุมเพื่อใช้ในการเลิกสูบบุหรี่ แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีผู้ผลิตรายใดมาขอขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อเลิกสูบบุหรี่กับ อย.” ศ.นพ.ประกิต กล่าว

Credit: https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_3533353

พิมพ์