วิจัยยืนยันบุหรี่ไฟฟ้าไม่ช่วยเลิกบุหรี่

วิจัยยืนยันบุหรี่ไฟฟ้าไม่ช่วยเลิกบุหรี่

การวิจัยที่นำโดย จอห์น พี. เพียซ จากศูนย์มะเร็งมัวร์สแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียซานดิเอโก ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Tobacco Control พบว่า การใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อช่วยให้เลิกสูบบุหรี่มีประโยชน์น้อยกว่าวิธีการเลิกสูบบุหรี่แบบดั้งเดิมอย่างการใช้นิโคตินทดแทน (NRT) แผ่นแปะผิวหนัง หรือหมากฝรั่ง

นักวิจัยใช้ข้อมูลจากการสำรวจประชากรเรื่องบุหรี่กับสุขภาพของสหรัฐ (PATH) ที่ติดตามการใช้บุหรี่ของชาวอเมริกันในสถานการณ์จริงซึ่งถือเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ โดยใช้ข้อมูลล่สุดตั้งแต่ปี 2017-2019 โดยมีผู้สูบบุหรี่ที่พยายามเลิกสูบ 3,578 คน และผู้ที่เพิ่งเลิกสูบบุหรี่ 1,323 คน

การเปรียบเทียบการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อเลิกสูบบุหรี่กับการไม่ใช้อะไรเลย และการใช้บุหรี่ไฟฟ้ากับ NRT หรือยาช่วยเลิกบุหรี่ที่ขึ้นทะเบียนกับองค์การอาหารและยาสหรัฐ (FDA) พบว่า ผู้ที่เลิกสูบบุหรี่ระหว่างปี 2013-2016 ด้วยการเปลี่ยนไปใช้บุหรี่ไฟฟ้าหรือผลิตภัณฑ์ยาสูบอื่น 8.5% มีแนวโน้มที่จะกลับมาสูบบุหรี่อีก เมื่อเทียบกับผู้ที่เลิกใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบทั้งหมด

และในปี 2019 สัดส่วนของผู้ที่เพิ่งเลิกสูบบุหรี่ที่เปลี่ยนไปใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 22% จาก 15% ในปี 2017 โดยบางคนใช้บุหรี่ไฟฟ้าที่มีนิโคตินสูง และเกือบ 60% ของผู้ที่เพิ่งเลิกสูบบุหรี่โดยใช้บุหรี่ไฟฟ้ากลับไปสูบบุหรี่อีกภายในปี 2019

ผู้ที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อช่วยให้เลิกสูบบุหรี่ประสบความสำเร็จในการเลิกสูบบุหรี่น้อยกว่าผู้ที่เลิกสูบแบบหักดิบโดยไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบใดๆ เลย

นอกจากนี้ การวิจัยก่อนหน้านี้ของเพียซและทีมยังพบว่า บุหรี่ไฟฟ้าเป็นหนทางนำไปสู่การใช้สารเสพติดที่รุนแรงกว่าในวัยรุ่นหลายคน โดยวัยรุ่นอายุระหว่าง 12-24 ปีที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้า มีแนวโน้มที่จะขยับเป็นผู้สูบบุหรี่ประจำถึงสามเท่าในอนาคต

ทั้งนี้ ข้อมูลถูกเก็บรวบรวมจากปัจจัยที่อาจมีอิทธิพล เช่น เชื้อชาติ รายได้ครัวเรือน ระดับการพึ่งพาบุหรี่ เวลานับตั้งแต่พยายามเลิกบุหรี่ครั้งล่าสุด และอายุที่เริ่มสูบบุหรี่

Credit : https://tinyurl.com/846ff974


พิมพ์