นักวิชาการ หนุน ให้รัฐฯ คงกฎหมาย ห้ามนำเข้า ขาย ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า

นักวิชาการ หนุน ให้รัฐฯ คงกฎหมาย ห้ามนำเข้า ขาย ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า

นักวิชาการ หนุน ให้รัฐฯ คงกฎหมาย ห้ามนำเข้า ขาย ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า เพราะเป็นมาตรการที่ดีที่สุดในการปกป้องเยาวชนไทย | ผศ.ดร.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการวามรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยผลสำรวจล่าสุด โดยสวนดุสิตโพล ร่วมกับ ศจย.

ได้ทำ “การสำรวจความรู้และทัศนคติต่อบุหรี่ไฟฟ้าของนักเรียน  นิสิตนักศึกษา แพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ในประเทศไทย” เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2564 โดยกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 3,560 ราย (นักเรียนมัธยม 884 ราย นักศึกษาระดับปริญญาตรี 899 ราย แพทย์ 472 ราย และบุคลากรทางการแพทย์ 1,305 ราย) ในทุกภูมิภาคทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้  
ซึ่งผลการสำรวจ พบว่า ส่วนใหญ่ไม่สูบบุหรี่ไฟฟ้า อย่างไรก็ตามแม้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมาย ก็ยังคงมี นร. ถึง 3.4% นศ. 11% แพทย์ 4% และบุคลากรทางการแพทย์อีก 3.6 % ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า เฉลี่ยสูบประมาณ 4-6 ครั้งต่อวัน ส่วนใหญ่ นร.สูบตามเพื่อนหรือเห็นว่าเท่ดูดี กลุ่ม นศ.สูบเพราะมีหลากหลายกลิ่นให้เลือก ในขณะที่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์สูบเพราะเครียดจากการทำงานและการใช้ชีวิต ในการซื้อบุหรี่ไฟฟ้า พบว่า 44% นร.ซื้อบุหรี่ไฟฟ้าจากเพื่อนและคนรู้จักมากที่สุด ส่วนอีก 3 กลุ่มซื้อจากร้านค้าออนไลน์มากที่สุด  
“ในด้านการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า พบว่า นร. (33.9%) นศ.(33.5%) แพทย์ (55.3%) และบุคลากรทางการแพทย์ (51.6%) รู้ว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีนิโคตินมากกว่าบุหรี่มวน ส่วนใหญ่รู้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าทำให้เกิดการเสพติด และทำให้เกิดโรคร้ายแรงได้ (74-85%) ส่วนมากรู้ว่าไอระเหยของบุหรี่ไฟฟ้าเป็นอันตรายต่อผู้คนรอบข้าง (54-67%) ส่วนใหญ่รู้ว่าการครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยเป็นเรื่องผิดกฎหมาย โดย นร.รู้น้อยที่สุด (52.9%) ส่วนน้อยคิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าสามารถช่วยให้เลิกบุหรี่ได้ (19.9-32.4%)  
ทั้งนี้ส่วนใหญ่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ก็รู้ว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าทำให้เกิดอาการปอดถูกทำลายเฉียบพลันหรือโรคอีวาลี่ได้ และส่งผลเสียต่อปอดเช่นเดียวกับการติดเชื้อโควิด-19 โดยแสดงความคิดเห็นว่าบุหรี่ไฟฟ้าจะทำให้เกิดปัญหานักสูบหน้าใหม่ที่เป็นเยาวชน (69.5-77.1%) ส่วนน้อยเห็นด้วยว่าเป็นทางเลือกในการเลิกสูบบุหรี่มวน (20.9-36.8%) และส่วนใหญ่ (64.4-75.6%) เชื่อว่าหากบุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกกฎหมายจะส่งผลให้คนหันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น
คำถามสุดท้ายหากบุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกกฎหมาย กลุ่มที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าจะยังสูบต่อ 79-84% และจะแนะนำให้คนใกล้ชิดสูบ 21-40% ในขณะที่คนที่ไม่สูบบุหรี่ไฟฟ้าก็จะหันมาสูบ 1.43-3.04% และจะแนะนำให้คนใกล้ชิดสูบบุหรี่ไฟฟ้า 0.44-3.11%” 
ผศ.ดร.นพ.วิชช์ กล่าวสรุปว่า  ประชาชนโดยเฉพาะเยาวชนยังมีความรู้เรื่องบุหรี่ไฟฟ้าไม่ถูกต้อง  โดยคิดว่าปลอดภัยกว่าบุหรี่มวน  จึงสนับสนุนให้รัฐบาลคงไว้ซึ่งกฎหมายห้ามนำเข้า ขาย และครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า เพราะเป็นมาตรการที่ดีที่สุดในการปกป้องเยาวชนไทย และควรเร่งบังคับใช้กฎหมายไม่ให้มีการลักลอบนำเข้า ขายในออนไลน์ ซึ่งเป็นปัญหาในขณะนี้ 
Credit : https://www.hfocus.org/content/2022/01/24243


พิมพ์