สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาสาธารณสุขศาสตร์และวิทยาศาสตร์สุขภาพแห่งประเทศไทย พร้อมสนับสนุนการห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า

สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาสาธารณสุขศาสตร์และวิทยาศาสตร์สุขภาพแห่งประเทศไทย พร้อมสนับสนุนการห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า

สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาสาธารณสุขศาสตร์และวิทยาศาสตร์สุขภาพแห่งประเทศไทย พร้อมสนับสนุนการห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อคำนึงถึงสุขภาพของประชาชนในอนาคต | คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ ศูนย์พัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านการควบคุมยาสูบ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.)

กลุ่ม TU Nicotine โครงการสนับสนุนการสื่อสารงานของภาคีควบคุมยาสูบ (ทีมชวน ช่วย เลิกบุหรี่) และ สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาสาธารณสุขศาสตร์และวิทยาศาสตร์สุขภาพแห่งประเทศไทย (สนสท.) จัดการเสวนาวิชาการออนไลน์ในหัวข้อ “บทบาทของนักสาธารณสุขกับการควบคุมยาสูบ” เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้บทบาทของนักสาธารณสุขที่มีต่อการควบคุมยาสูบในประเทศไทย

รศ.ดร.สิริมา มงคลสัมฤทธิ์ รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวระหว่างพิธีเปิดว่า บุหรี่ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยง ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ทั้งโรคหัวใจขาดเลือด โรคถุงลมโป่งพอง และมะเร็ง รวมถึงอาการวัณโรคที่จะรุนแรงมากกว่าเดิม โดยผู้เสียชีวิตจากยาสูบในแต่ละปี มีจำนวนมากกว่า 8 ล้านคน เป็นการเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่โดยตรงกว่า 7 ล้านคน มีผู้เสียชีวิตจากการได้รับควันบุหรี่มือสองอีกกว่าล้านคน โดยเฉพาะสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้เรื่องของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้ากลายเป็นประเด็นที่ต้องคำนึงถึงมากขึ้น เพราะอาจจะทำให้เกิดการแพร่ระบาดได้

ดังนั้น นักสาธารณสุขศาสตร์จึงมีบทบาทในการเข้ามาช่วยดูแลตรงจุดนี้ ซึ่งคณะสาธารณสุขศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ในฐานะเป็นองค์กรผู้นำด้านสุขภาพ จึงผลักดันเรื่องการผลิตบุคลากร และสร้างสรรค์งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมยาสูบเพื่อให้เป็นไปตามปณิธาน “นักสาธารณสุขศาสตร์เพื่อสังคม” กิจกรรมในครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นและก้าวต่อไปในการทำงานเพื่อควบคุมยาสูบของคณะอันเป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพของประชาชนต่อไป

ด้าน ผศ.ดร.ลักขณา เติมศิริกุลชัย ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านการควบคุมยาสูบ กล่าว่า นักสาธารณสุขศาสตร์มีบทบาทสำคัญต่อการควบคุมยาสูบ เพราะบุหรี่มีผลกระทบต่อคนจำนวนมาก ทั้งด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะ “ด้านสุขภาพ” เพราะบุหรี่มีสารเคมี กว่า 7,000 ชนิด มีสารก่อมะเร็งกว่า 70 ชนิด ซึ่งนิสิตนักศึกษาทีเรียนด้านสาธารณสุขจำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับประเด็นนี้ และทบทวนว่าจะต้องทำอย่างไร โดยเฉพาะสารนิโคติน ที่ไม่ได้ทำให้เกิดการเสพติดเท่านั้น แต่จะทำให้เส้นเลือดเสื่อม เกิดการตีบตันมากกว่าคนที่ไม่สูบประมาณ 10-15 เท่า ถ้าเป็นโรคความดันในเลือดสูงและมีไขมันในเลือดสูง จะเสี่ยงต่อโรคหัวใจถึง 8 เท่า และอาจจะทำให้เกิดภาวะหัวใจวายจากกล้ามเนื้อตายเฉียบพลันถึง 10 เท่า ซึ่งสารพิษเหล่านี้มีอยู่ทั้งในบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ธรรมดา โดยเฉพาะการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยิ่งมีทำให้บุหรี่มีความอันตรายมากกว่าเดิม โดยพบว่าผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีโอกาสติดเชื้อโควิด-19 มากกว่าเดิม 5 เท่า แต่ถ้าสูบบุหรี่ธรรมดาควบคู่กันไปด้วยมีโอกาสติดเชื้อโควิดมากกว่า 7 เท่า

“สาเหตุส่วนใหญ่ติดมาจากน้ำลายหรือการแบ่งกันสูบ นอกจากนี้ ยังมีโอกาสที่จะเกิดอาการชัก และปอดอักเสบจากบุหรี่ไฟฟ้าซ้ำเติม และบุหรี่ไฟฟ้าทำให้เกิดละอองฝอยไปไกลเกินกว่า 10 เมตร ซึ่งอาจจะทำให้ผู้อื่นที่อยู่ใกล้ ๆ ติดโควิด-19 ได้ และจะมีโอกาสเกิดอาการป่วยรุนแรงมากกว่าเดิม 1.55 เท่า มีความเสี่ยงต้องนอนห้องไอซียูมากกว่า 1.73 เท่า และมีโอกาสเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 1.58 เท่า ดังนั้น ถ้ามีบุคคลใกล้ชิดสูบบุหรี่ต้องขอให้เลิกสูบ เพราะช่วงนี้ถือเป็นช่วงที่ดีที่สุดควรจะเลิก” ผศ.ดร.ลักขณา กล่าวย้ำ

บทบาทของนิสิตนักศึกษาสาธารณสุข คือ การสื่อสารให้สังคมเข้าใจถึงพิษภัยของบุหรี่ได้โดยง่าย ผ่านการนำเสนอข้อมูลที่สำคัญในรูปแบบต่าง ๆ ที่ทำให้เห็นภาพความเสียหายได้อย่าชัดเจน เช่น การเปรียบเทียบจำนวนผู้เสียชีวิตจากยาสูบบุหรี่ 54,512 ราย เท่ากับเครื่องบินรุ่นโบอิ้ง 747 ตก จำนวน 110 ลำ มีผู้เสียชีวิตวันละ 149 ราย ชั่วโมงละ 6.2 ราย หรือมีผู้เสียชีวิต 1 รายทุก 10 นาที ซึ่งการสื่อสารในรูปแบบเป็นมิตรต่อคนรับสารถือเป็นเรื่องที่นิสิตนักศึกษาและนักสาธารณสุขศาสตร์ควรคำนึงถึงให้มากขึ้น

.....
Credit : https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_3035059


พิมพ์