งานวิจัยสหรัฐฯเผยสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มโอกาสติด COVID-19 กว่า 5 เท่า

งานวิจัยสหรัฐฯเผยสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มโอกาสติด COVID-19 กว่า 5 เท่า

เลขาธิการแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ ยัน บุหรี่ไฟฟ้าเชื่อมโยง COVID - 19 เผยงานวิจัยสหรัฐฯ พบวัยรุ่นสูบบุหรี่ไฟฟ้าติด COVID- 19 มากกว่าผู้ไม่สูบ 5 เท่า สูบทั้งบุหรี่มวน บุหรี่ไฟฟ้าติดเพิ่มเป็น 7 เท่า และป่วยหนักกว่าผู้ไม่สูบถึง 5 เท่า วันนี้ ( 21 เม.ย.2564) นพ.ประกิตพันธุ์ ทมทิตชงค์ อาจารย์ประจำภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) ในฐานะ เลขาธิการแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า

จากกรณีข้อกังขาว่า บุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า มีความเกี่ยวข้องกับการแพร่เชื้อและ COVID-19 จริงหรือไม่นั้น หลังจากร่วมกับ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ศึกษาค้นคว้า ประเด็นดังกล่าว ได้พบงานวิจัยจาก Stanford University School of Medicine และ University of California, San Francisco ที่เผยแพร่ใน Journal of Adolescent Health เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2563 ยืนยันว่า

“ผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีโอกาสติดเชื้อ COVID-19 มากกว่า ผู้ที่ไม่สูบ 5 เท่า ถ้าสูบทั้งบุหรี่มวน ร่วมกับบุหรี่ไฟฟ้า มีแนวโน้มติดเชื้อไวรัส COVID-19 มากกว่าผู้ที่ไม่สูบ 6.8 เท่า” โดยในทั้ง 2 กลุ่ม หากติด COVID-19 จะมีอาการป่วยมากกว่าคนไม่สูบถึง 5 เท่า ซึ่งเป็นผลการสำรวจจากแบบสอบถาม ในกลุ่มประชากร ที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้า และเข้ารับการตรวจ COVID-19 อายุ 13-24 ปี จำนวน 4,351 คน ที่อาศัยอยู่ใน 50 รัฐของสหรัฐอเมริกา

“องค์การอนามัยโลก (WHO) ย้ำเตือนถึงการติดเชื้อ COVID-19 พบในผู้สูบบุหรี่มากกว่าผู้ที่ไม่สูบถึง 14 เท่า” จากกรณีศึกษาในสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งไม่ต่างจากกรมควบคุมโรคของไทยยืนยันเช่นกันว่า พฤติกรรมของผู้ที่สูบบุหรี่ หรือบุหรี่ไฟฟ้า เพิ่มความเสี่ยงการติดและแพร่เชื้อไวรัส COVID-19 จากการสัมผัส ส่งต่อ หรือใช้ อุปกรณ์สูบร่วมกันได้

เลขาธิการแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า บุหรี่ไม่ว่าจะแบบใดก่อให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง สุดท้ายทำให้ปอดพังพอๆ กัน เซลล์รอเวลากลายพันธุ์ เป็นเนื้องอก เนื้อร้าย ทำให้ต้นทุนผู้สูบต่ำ เมื่อติดเชื้อโควิดอาการจึงหนักกว่า และฟื้นตัวได้ช้ากว่าผู้ที่ไม่สูบ

“ในระยะยาวจะได้เห็นการผ่าตัดเปลี่ยนปอดจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น หากไม่เลิกสูบ เช่นเดียวกับที่ต้องเปลี่ยนปอดจาก COVID-19 ที่ขณะนี้เริ่มเปลี่ยนแล้วนับ 10 รายทั่วโลก เพราะพยาธิสภาพความเสียหาย ที่เกิดขึ้นเป็นแบบเดียวกัน” คือเกิดการอักเสบจนเนื้อเยื่อปอดแข็ง ไม่สามารถแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้ และ การผ่าตัดเปลี่ยนปอดไม่ใช่เรื่องง่าย ส่วนใหญ่ผ่าตัดแต่ละครั้ง ใช้เวลา 10 ชั่วโมงขึ้น ค่าใช้จ่ายเป็นหลักล้านบาท และต้องกินยากดภูมิตลอดชีวิต

เท่ากับว่า ชีวิตเปลี่ยน ต้องระวังอย่างมากในการติดเชื้อที่ง่ายขึ้น โดยผู้ป่วยรายแรก ที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนปอด จากภาวะอิวาลี อายุเพียง 16 ปี ในรัฐดีทรอยต์ สหรัฐฯ ดังนั้นในช่วง COVID-19 ระลอก 3 นี้แนะนำว่า ควรเลิกสูบทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ธรรมดา

นพ.ประกิตพันธุ์ กล่าวต่ออีกว่า งานวิจัยจากที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ BMJ Journals ของสมาคมการแพทย์อังกฤษยังระบุด้วยว่า ขณะที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ายังก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 บริเวณที่สูบสูงขึ้นถึง 80 เท่า รวมถึงฝุ่น PM 1.0 และสารอันตรายอื่นๆ เช่น ฟอร์มัลดีไฮด์ และโลหะหนัก ซึ่งผู้ที่อยู่ชิดใกล้ผู้สูบบุหรี่ ไฟฟ้าก็จะได้รับฝุ่นพิษจิ๋วและสารอันตรายเหล่านี้เข้าไปด้วย

Credit : https://news.thaipbs.or.th/content/303541


พิมพ์