ศจย.ร้องภาครัฐคุมราคาบุหรี่ ปกป้องเยาวชนจากอุตสาหกรรมยาสูบ

ศจย.ร้องภาครัฐคุมราคาบุหรี่ ปกป้องเยาวชนจากอุตสาหกรรมยาสูบ

"ศจย."ร้องภาครัฐคุมราคาบุหรี่ ปกป้องเยาวชนจากอุตสาหกรรมยาสูบ เพราะการที่กรมสรรพสามิตปล่อยให้บุหรี่ลดราคากว่า 2 ปีที่ผ่านมา ไม่เพียงทำร้ายเด็กเท่านั้น แต่ยังทำร้ายสังคมไทยอย่างมหันต์ด้วย ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี (ศจย.) ร่วมกับ สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

และคณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ในการจัดเสวนาวิชาการ หัวข้อ “WHO FCTC ปกป้องเยาวชนจากอุตสาหกรรมยาสูบ”

ดร.วศิน พิพัฒนฉัตร ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ กล่าวถึงที่มาของกิจกรรมว่า เนื่องด้วย วันที่ 20 กันยายนของทุกปี เป็นวันเยาวชนแห่งชาติ และจากคำขวัญวันงดสูบบุหรี่โลก ในปีนี้ที่ว่า “ปกป้องเยาวชนจากอุตสาหกรรมยาสูบและป้องกันพวกเขาจากยาสูบและการใช้นิโคติน” นั้น ทาง ศจย.จึงจัดงานเสวนาวิชาการนี้ขึ้น เพื่อระดมนักวิชาการมาร่วมกันวิเคราะห์ช่องว่างการดำเนินงานตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก หรือ FCTC ว่าประเทศไทยมีมาตรการอย่างไรที่จะต้องดำเนินการเพื่อให้บรรลุตามเจตนารมณ์ของกรอบอนุสัญญาฯให้มากที่สุด และเป็นการประชาสัมพันธ์เบื้องต้นในหลักสูตร CU MOOC ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยความร่วมมือกับทาง ศจย. ในการทำหลักสูตรออนไลน์ “หัวข้อรู้จัก FCTC” เพื่อเป็นหลักสูตรที่รองรับให้กับ นักวิจัยและนักวิชาการ ตลอดจนบุคลากรทางด้านสุขภาพที่มีความสนใจในประเด็นการควบคุมยาสูบ

“ขอฝากให้ผู้กำหนดนโยบายของประเทศ คำนึงถึงผลประโยชน์ของสุขภาพของเด็กและเยาวชน ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของอุตสาหกรรมยาสูบ และเป็นการปฏิบัติตามพันธกรณีที่เรามีต่อองค์การอนามัยโลกในเรื่องการควบคุมยาสูบ ดังนั้น เพื่อให้ประเทศไทยปฏิบัติตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลกได้มากที่สุด จึงสมควรผลักดันให้มีการออกระเบียบว่าด้วยการป้องกันการแทรกแซงนโยบายรัฐด้านการควบคุมยาสูบที่ใช้บังคับกับเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานอื่นของรัฐ และมีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเพื่อห้ามการให้เงินอุปถัมภ์หรือกิจกรรม CSR ของธุรกิจยาสูบในทุกกรณี การใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อห้ามจำหน่ายบุหรี่ชูรสในประเทศไทย คงไว้ซึ่งมาตรการห้ามนำเข้า ห้ามจำหน่าย ห้ามบริการ บุหรี่ไฟฟ้า และการปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษีเพื่อลดการเข้าถึงของเยาวชน”ดร.วศิน กล่าว

ด้าน ผศ.ดร.สุนิดา ปรีชาวงษ์ กลุ่มการวิจัยเพื่อการควบคุมยาสูบ คณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า FCTC คือ กฎหมายระหว่างประเทศฉบับแรกด้านสุขภาพขององค์การอนามัยโลก ที่วางกฎเกณฑ์มาตรฐานการควบคุมยาสูบ เพื่อให้นานาชาติที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกนำแนวทางตาม FCTC ไปปรับใช้กับประเทศของตน โดยวัตถุประสงค์ก็เพื่อสกัดกั้นมิให้ผลิตภัณฑ์ยาสูบแพร่กระจายไปทั่วโลก กรณีที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคี หรือถ้าจะกล่าวให้ง่ายคือ มีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามให้เป็นไปตาม กรอบมาตรการที่บัญญัติไว้ใน FCTC ดังนั้น การที่ FCTC มีบทบาทในการปกป้องเยาวชน เนื่องจากในแต่ละวันจะมีเด็กเริ่มต้นสูบบุหรี่มากกว่า 3,000 คน โดยมี 3 ปัจจัยที่ทำให้เด็กและเยาวชนเริ่มเป็นนักสูบหน้าใหม่ คือ ความไม่รู้ ความเย้ายวน และการเข้าถึง ทำให้อุตสาหกรรมยาสูบจะมุ่งเป้าที่เยาวชน เพราะเป็นลูกค้าหน้าใหม่ ซึ่งขณะนี้มีบางประเทศที่กำหนดอายุสูงสุดในการซื้อบุหรี่ คือ ศรีลังกา ที่อายุ 24 ปี การควบคุมยาสูบ มียา 3 ขนานที่สมควรดำเนินการให้เกิดความต่อเนื่องตามที่ นพ.หทัย ชิตานนท์ เคยเสนอไว้ คือ การขึ้นภาษี การควบคุมการตลาด และมาตรการเขตปลอดบุหรี่ ซึ่งยาทั้ง 3 ขนานนี้ ได้มีการบัญญัติไว้ชัดเจนใน FCTC

https://www.komchadluek.net/news/government-of-thailand/443260


พิมพ์