พบ 4 ปัจจัยหลักทำ “วัยรุ่นสาวไทย” หันสูบบุหรี่มากขึ้น

พบ 4 ปัจจัยหลักทำ “วัยรุ่นสาวไทย” หันสูบบุหรี่มากขึ้น

พบ 4 ปัจจัยหลักทำ “วัยรุ่นสาวไทย” หันสูบบุหรี่มากขึ้น | ศจย.เผยสถิติ “โจ๋หญิง” ในเมือง แนวโน้มสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น พบ 4 ปัจจัยส่งผลสาวรุ่นหันมาสูบบุหรี่ ทั้งเที่ยวกลางคืน มีแฟนหรือเพื่อนสูบ คนในครอบครัวสูบ และเชื่อว่าทำให้ดูมีเพื่อนมากขึ้น

พญ.เริงฤดี ปธานวนิช รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2560 พบอัตราการสูบบุหรี่ในกลุ่มวัยรุ่นหญิงอายุ 15-19 ปี ในเขตเมืองพุ่งสูงขึ้นเกือบเท่าตัว เป็น 1.4% หรือประมาณ 13,000 คน จาก 0.8% เมื่อปี 2557 ขณะที่งานวิจัยล่าสุดที่ทำการสำรวจสถานบันเทิงรอบมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในภาคเหนือ โดยเจาะเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นหญิง พบว่า 32% ของวัยรุ่นหญิงที่มาเที่ยวสถานบันเทิงสูบบุหรี่ ซึ่งตัวเลขสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศกว่า 20 เท่า งานวิจัยยังสรุปปัจจัยสำคัญ 4 ประการ ที่ส่งผลให้วัยรุ่นหญิงก้าวสู่สังคมสิงห์อมควันมากขึ้น ได้แก่ เที่ยวกลางคืนตามสถานบันเทิง สูบมากกว่าระดับประเทศ 9 เท่า มีแฟนหรือเพื่อนสนิทที่สูบบุหรี่ 5 เท่า มีคนในครอบครัวสูบบุหรี่ 3 เท่า และเชื่อว่า สูบบุหรี่ทำให้ดูดีมีเพื่อนมาก 3 เท่า

นอกจากนี้ ยังพบว่า วัยรุ่นหญิงส่วนใหญ่เริ่มสูบบุหรี่ครั้งแรกอายุต่ำกว่า 19 ปี และการหาซื้อบุหรี่ทำได้ง่ายโดยสามารถหาซื้อได้จากร้านขายของชำ ร้านสะดวกซื้อ และยังสามารถซื้อได้จากสถานบันเทิงบริเวณรอบมหาวิทยาลัย โดยวัยรุ่นที่ไปเที่ยวกว่า 50% ซื้อบุหรี่ที่สถานบันเทิง และยังพบว่าภายในสถานบันเทิงมีการสูบบุหรี่สูงถึง 22% แม้ว่าจะเป็นเขตปลอดบุหรี่ตามกฎหมาย

ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ผอ.ศจย. กล่าวว่า มีงานวิจัยในต่างประเทศหลายชิ้น ที่สรุปผลตรงกันว่า การเข้าถึงบุหรี่ได้โดยง่าย โดยเฉพาะบริเวณใกล้บ้านหรือโรงเรียน ส่งผลต่อการเริ่มสูบบุหรี่ในกลุ่มวัยรุ่นและยังทำให้วัยรุ่นมีค่านิยมที่คุ้นเคยกับการสูบบุหรี่ ดังนั้น การจำกัดการเข้าถึงบุหรี่โดยการจำกัดจำนวนร้านค้าปลีก โดยเฉพาะบริเวณชุมชนและสถานศึกษาจึงเป็นสิ่งสำคัญ ปัจจุบันประเทศไทยมีร้านค้าปลีกบุหรี่จำนวนมากกว่า 800,000 ร้าน หรือเฉลี่ย 4 ร้านทุกๆ พื้นที่ 1 ตร.กม. ซึ่งค่าธรรมเนียมใบอนุญาตขายบุหรี่ของไทยยังมีอัตราต่ำเพียงปีละ 100 บาท

Credit : https://mgronline.com/qol/detail/9610000102568


พิมพ์