ศจย วิจัยผลักดันนโยบายควบคุมยาสูบหนุนรัฐกำหนดนโยบายบนฐานข้อมูลเชิงประจักษ์

ศจย วิจัยผลักดันนโยบายควบคุมยาสูบหนุนรัฐกำหนดนโยบายบนฐานข้อมูลเชิงประจักษ์

ศจย.วิจัยผลักดันนโยบายควบคุมยาสูบหนุนรัฐกำหนดนโยบายบนฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ | Press Release: ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.)
ข่าวเผยแพร่: วันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ.2561 (วันที่ข่าวตีพิมพ์สามารถเผยแพร่ได้ทันที)

ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า ได้เตรียมแนวทางเพื่อต่อยอดงานวิชาการด้านการควบคุมยาสูบในประเทศไทย ที่ ดร.ทพญ.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฏ์ ได้ผลิตงานวิจัย/สังเคราะห์องค์ความรู้ผลักดันนโยบายควบคุมยาสูบมาตลอด 9 ปี เช่น องค์ความรู้สนับสนุนการออกพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560, การวิจัยเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติประเด็นกำกับดูแลสื่อและการสื่อสารการตลาดของผลิตภัณฑ์ยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมในทุกภูมิภาค, ผลการตรวจวัดควันบุหรี่มือสองที่ชายหาด พบว่าคุณภาพอากาศที่ไม่เหมาะสมสูงกว่าปกติ 27 เท่า จึงเป็นข้อมูลสนับสนุนการออกกฎหมายพื้นที่ชายหาดปลอดบุหรี่ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และผลการศึกษาที่สนับสนุนการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ในการขยายภาพคำเตือนสุขภาพบนซองบุหรี่จาก 55% เป็น 85% เป็นต้น ซึ่งข้อมูลข้อเท็จจริงเหล่านี้มีประโยชน์ในการเอื้อให้การกำหนดนโยบายของรัฐอยู่บนฐานข้อมูลเชิงประจักษ์และสมเหตุสมผล
ดังนั้น ภารกิจต่อไปของ ศจย.จะทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาองค์ความรู้เชิงวิชาการในมิติต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมยาสูบอย่างรอบด้าน โดยเน้นพัฒนาฐานข้อมูลทั้งข้อมูลด้านพฤติกรรมการบริโภคยาสูบ ข้อมูลผลกระทบด้านสุขภาพ เศรษฐศาสตร์ และสังคม และการเชื่อมประสานข้อมูลกับภาคีเครือข่ายที่ทำงานด้านการควบคุมยาสูบในประเทศไทยและต่างประเทศ ให้การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะและการรณรงค์ควบคุมยาสูบของประเทศไทยอยู่บนฐานความรู้เชิงวิชาการที่ถูกต้อง ทันสมัย และเข้ากับบริบทปัญหาในปัจจุบัน เพื่อเป้าหมายในการลดการบริโภคยาสูบของประชากรไทยอย่างต่อเนื่อง ศ.นพ.รณชัย กล่าว
ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช รองผู้อำนวยการ ศจย. กล่าวถึง ชุดโครงการวิจัยควบคุมยาสูบที่สำคัญของ ศจย. ในปีพ.ศ.2561-2562 ซึ่งจะให้ความสำคัญในประเด็นที่สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นทั้งระดับประเทศและระดับพื้นที่ โดยมีชุดโครงการวิจัย 6 ประเด็น ดังนี้ 1) มาตรการภาษีในการควบคุมการบริโภคยาสูบ 2) มาตรการการควบคุมบุหรี่ผิดกฎหมาย 3) มาตรการควบคุมบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ 4) มาตรการช่วยเลิกสูบบุหรี่ 5) มาตรการป้องกันนักสูบหน้าใหม่ และ 6) การติดตามและประเมินผลการบังคับใช้กฎหมายตามพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 เช่น ห้ามขายบุหรี่ให้บุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปี, ห้ามแบ่งซองบุหรี่ขายเป็นมวน, ห้ามโฆษณา ณ จุดขาย, ห้ามขายและโฆษณาผลิตภัณฑ์ยาสูบในสื่ออิเล็กทรอนิกส์และเครือข่ายคอมพิวเตอร์, ห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ และให้มีกลไกคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบจังหวัด เป็นต้น

รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ: หริสร์ ทวีพัฒนา นักวิชาการ ศจย. โทรศัพท์ 061-7244411 E-mail: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.


พิมพ์