งานวิจัยจากประเทศอังกฤษ จะสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้ามากกว่างานวิจัยจากประเทศอื่น 2 เท่า

งานวิจัยจากประเทศอังกฤษ จะสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้ามากกว่างานวิจัยจากประเทศอื่น 2 เท่า

ศจย. Press release ฮิต: 1032

ศ.พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ คณะแพทยศาสตร์รพ.รามาธิบดี เปิดเผยว่า ทีมนักวิจัยจากสถาบันสาธารณสุข ประเทศเม็กซิโก ได้ทบทวนงานวิจัย 697 ชิ้น ที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ไฟฟ้า ระหว่าง ค.ศ.2017-2020 ถึงความสัมพันธ์ของการมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับธุรกิจ และประเทศที่มาของงานวิจัย

ต่อผลการวิจัยที่สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งผลการศึกษาพบว่า มี 88 รายงานวิจัยที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน โดย 23 รายงานทับซ้อนกับบริษัทบุหรี่ 44 รายงานกับอุตสาหกรรมยา และ 21 รายงานมีผลประโยชน์ทับซ้อนรูปแบบอื่น โดยพบว่างานวิจัยที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน จะมีผลการวิจัยที่ระบุบุหรี่ไฟฟ้าในทางบวก มากเป็น 4.7 เท่า ของรายงานที่ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน โดยหากมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับบริษัทบุหรี่ จะมีผลระบุบุหรี่ไฟฟ้าในทางบวกมากขึ้น 29 เท่า และที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับอุตสาหกรรมยาเพิ่มขึ้น 2 เท่า ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบประเทศที่มาของงานวิจัยพบว่า งานวิจัยที่มาจากประเทศอังกฤษ จะมีผลวิจัยในทางบวกต่อบุหรี่ไฟฟ้า สูงเป็น 2.4 เท่าของงานวิจัยจากประเทศอื่น ดังนั้นคณะผู้วิจัยจึงขอให้ระมัดระวังในการนำผลวิจัยที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนมากำหนดนโยบายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า

ศาสตราจารย์ Stanton Glantz มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า งานวิจัยบุหรี่ไฟฟ้าจากอังกฤษ มีแนวโน้มสนับสนุนการใช้บุหรี่ไฟฟ้า มากกว่างานวิจัยจากประเทศอื่น 2 เท่า ‘สถานการณ์ในอังกฤษคงจะหมดหวัง ผู้กำหนดนโยบาย ผู้ควบคุม นักการสาธารณสุขและแพทย์เวชปฏิบัติทั่วโลก ต้องตระหนักถึงผลการวิจัยนี้ และไม่ยอมรับงานวิจัยจากประเทศอังกฤษ หรือนักวิจัยที่มีความสัมพันธ์กับบริษัทบุหรี่ตามที่เขาบอก ในการตัดสินใจเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า’

ในเรื่องนี้ ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า งานวิจัยจากประเทศเม็กซิโกชิ้นนี้น่าสนใจมาก อยากให้ทุกพรรคการเมืองรับรู้ เพราะช่างเข้ากับสถานการณ์ในประเทศไทยขณะนี้ ที่มีกลุ่มเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย ที่ร่อนหนังสือถึงพรรคการเมือง ขอเข้าพบ เพื่อขอให้พรรคการเมือง บรรจุนโยบายที่จะยกเลิกการห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า เป็นนโยบายในการหาเสียง ซึ่งเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย เป็นสมาชิกของ INNCO หรือเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคนิโคตินนานาชาติ ที่รับทุนสนับสนุนจาก มูลนิธิเพื่อโลกปลอดควันบุหรี่ Foundation for a Smoke-Free World ที่ตั้งขึ้นและสนับสนุนทุนโดย บริษัทฟิลิป มอร์ริส อินเตอร์เนชั่นแนล ที่ประกาศจะสนับสนุนทุนรวม 1 พันล้านดอลลาร์ในเวลา 12 ปี เพื่อสนับสนุนการใช้บุหรี่ไฟฟ้าชนิดใหม่ๆ จึงอยากให้ทุกพรรคการเมืองรับรู้ความสัมพันธ์ ของเครือข่ายล็อบบี้ยิสต์บุหรี่ไฟฟ้า กับ บริษัทบุหรี่ข้ามชาติที่พยายามวิ่งเต้นให้ประเทศไทยยกเลิกกฏหมายห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า และพิจารณาข้อเสนอนโยบายปลดล็อกบุหรี่ไฟฟ้าของกลุ่มนี้ ด้วยความรอบคอบ และโปรดคำนึงถึงผลการวิจัยจากเม็กซิโกที่ทบทวนงานวิจัยทั่วโลกนี้ด้วย

รายละเอียดติดต่อ: หริสร์ ทวีพัฒนา นักวิชาการ ศจย. โทร: 061-7244411 Email: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
Press Release
ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.)
ข่าวเผยแพร่: วันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ.2566 (วันที่ข่าวตีพิมพ์สามารถเผยแพร่ได้ทันที)

พิมพ์