“บุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้า”  ไม่ช่วยชาวไร่ยาสูบ “พืชทดแทนยาสูบ”  คือทางรอด

“บุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้า” ไม่ช่วยชาวไร่ยาสูบ “พืชทดแทนยาสูบ” คือทางรอด

ผศ.ดร.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการวามรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้าทุกชนิด จะมีส่วนประกอบของสารนิโคตินที่มีฤทธิ์เสพติดสูง โดยนิโคตินพบในใบยาสูบตามธรรมชาติ (Natural Nicotine) ส่วนนิโคตินในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าจะเลือกใช้นิโคตินสังเคราะห์

เรียกกันว่า Nicotine Salt หรือ NIC Salt แทนนิโคตินธรรมชาติ ทั้งนี้เนื่องจากนิโคตินธรรมชาติที่อยู่ในบุหรี่มวนมีจุดด้อยหลายประการที่ไม่เอื้อต่อการขยายฐานการตลาดของอุตสาหกรรมยาสูบ เพราะมีฤทธิ์เป็นด่างสูง จึงทำให้ระคายคอ เยื่อบุทางเดินหายใจ และทางเดินอาหารส่วนต้นได้ง่าย ส่งผลให้ผู้ทดลองสูบบุหรี่มวนไอระคายเจ็บคอจึงไม่รู้สึกประทับใจได้ นอกจากนี้นิโคตินธรรมชาติในใบยาสูบ ถูกดูดซึมเข้าร่างกายช้ากว่า และไม่สามารถปรุงแต่งกลิ่นรสตามที่ผู้ผลิตต้องการเพิ่มได้
“จากเหตุผลข้างต้น ทำให้อุตสหกรรมยาสูบที่ผลิตบุหรี่ไฟฟ้า จึงพัฒนานิโคตินสังเคราะห์ขึ้นมาทดแทน โดยเพิ่ม side chain ที่มี benzoic acid ring เข้าไปในโครงสร้างทางเคมีของสารนิโคติน ทำให้ลดความเป็นด่างลงได้ อาการระคายเคืองจึงลดน้อยลงหรือหายไป และยังสามารถดูดซึมเข้าสู่สมองได้เร็วขึ้นและมีระดับที่สูงขึ้น ดังนั้นบุหรี่ไฟฟ้าจึงสุ่มเสี่ยงต่อการเสพติดนิโคตินได้มากยิ่งกว่าเดิม ทั้งนี้อุตสาหกรรมยาสูบที่ผลิตบุหรี่ไฟฟ้าจึงไม่ต้องใช้ใบยาสูบเพิ่มขึ้น แต่ใช้สารสังเคราะห์แทน เป็นเหตุให้เกษตรกรชาวไร่ยาสูบจะไม่ได้ โควต้าในการปลูกยาสูบเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด”
ผศ.ดร.นพ.วิชช์ กล่าวว่า ข้อเท็จจริงคือ การผลิตบุหรี่ไฟฟ้านอกจากจะไม่ช่วยให้ชาวไร่ยาสูบได้รับโควตาการปลูกยาสูบเพิ่มขึ้น ยังมีผลเสียต่อสุขภาพของผู้บริโภคและผู้ใกล้ชิดอย่างมหันต์ จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ต้องลด การผลิต การจำหน่าย การบริโภคยาสูบ และผลิตภัณฑ์ยาสูบต่างๆ ด้วย แล้วเปลี่ยนไปปลูกพืชทดแทนยาสูบที่ทำรายได้ใกล้เคียงยาสูบ โดยพืชทดแทนยาสูบจะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพและไม่ต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ซึ่งสิ่งที่รัฐควรจะทำเพื่อช่วยเกษตรกรชาวไร่ยาสูบ คือ 1) รัฐควรหาตลาดและรับประกันราคาผลผลิตพืชทดแทนยาสูบให้เกษตกร 2) รัฐควรฝึกอาชีพเสริมหรืออาชีพทดแทนให้เกษตกร และ 3) เกษตรควรตระหนักถึงสุขภาพที่เสียไปจากการสัมผัสยาสูบ ควรปรับเปลี่ยนโครงสร้างการเพาะปลูกโดยลดพื้นที่เพาะปลูกยาสูบไปสู่พืชผักทดแทนยาสูบ โดยค่อยๆ ปรับลดพื้นที่ด้วยการปลูกพืชหมุนเวียนร่วมในแปลงยาสูบ จนเลิกปลูกยาสูบในที่สุด

รายละเอียดติดต่อ: หริสร์ ทวีพัฒนา นักวิชาการ ศจย. โทร: 061-7244411 Email: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
Press Release
ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.)
ข่าวเผยแพร่: วันที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2565 (วันที่ข่าวตีพิมพ์สามารถเผยแพร่ได้ทันที)


พิมพ์