คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ในอาคารชุด

คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ในอาคารชุด

ภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ กระตุ้นเตือนปัญหาควันบุหรี่ในอาคารชุด ชาวคอนโด อพาร์ทเมนท์ 89% เห็นด้วย หนุน “อาคารชุดเป็นสถานที่ปลอดบุหรี่” ส่วนใหญ่เคยรับควันบุหรี่มือสองในพื้นที่ส่วนกลาง พบ 77% รู้สึกไม่สบายจากการหายใจที่มีผู้สูบบุหรี่ในอาคารชุด ชี้สูบบุหรี่ได้แต่ต้องไม่กระทบสิทธิผู้อื่น เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 ที่ โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (สสท.) สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ร่วมกับ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดการแถลงข่าวและเสวนาวิชาการ เรื่อง “การคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ในอาคารชุด” เพื่อแก้ปัญหาการสูบบุหรี่และคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ในอาคารชุดของประเทศไทย เพราะการสูบบุหรี่ต้องไม่ไปกระทบกับสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่นที่ไม่ได้สูบบุหรี่ นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ กล่าวว่า การควบคุมยาสูบจัดเป็นปัญหาการสาธารณสุขที่สำคัญของโลก รวมถึงประเทศไทย จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกในปี 2562 ระบุว่า ยาสูบฆ่าคนมากกว่า 8 ล้านคน/ปี เป็นผู้ใช้ยาสูบโดยตรงเสียชีวิตกว่า 7 ล้านคน และอีก 1.2 ล้านคนเสียชีวิตจากควันบุหรี่มือสอง ซึ่งปัจจุบันสังคมไทยมีความเป็น ‘เมือง’ มากขึ้น การอยู่อาศัยร่วมกันของผู้คนในเมืองใหญ่จึงมักอยู่ในรูปแบบของอาคารชุด เช่น คอนโด หรืออพาร์ทเมนท์ ปัญหาเรื่องควันบุหรี่ของผู้ที่สูบในอาคารชุดเป็นปัญหาที่สังคมต้องการแนวทางแก้ปัญหา ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมอาคารชุดเข้ามีมีบทบาทในการสร้างการรณรงค์การคุ้มครองสิทธิของผู้อยู่อาศัยในอาคารชุดให้ปลอดภัยจากควันบุหรี่ รศ.ดร.สสิธร เทพตระการพร คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยผลการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ในอาคารชุดในพื้นที่กรุงเทพฯ ปี 2563 โดยกลุ่มตัวอย่างคือ ผู้ที่พักอาศัยในอาคารชุดในกรุงเทพฯ ช่วงเดือนกันยายน - ตุลาคม จำนวน 1,204 ราย พบว่า ผู้ที่พักอาศัยในอาคารชุด 15% เป็นผู้สูบบุหรี่ 78% ไม่สูบบุหรี่ โดยผู้สูบบุหรี่ 45% สูบนอกห้องตรงริมระเบียง ซึ่งผู้ที่อาศัยในอาคารชุด 89% เห็นด้วยให้ที่พักอาศัยในอาคารชุดเป็นสถานที่ปลอดบุหรี่ เพราะ 77% รู้สึกไม่สบายจากการหายใจที่มีผู้สูบบุหรี่ในอาคารชุด 73% เคยได้กลิ่นควันบุหรี่ที่ลอยมาจากห้องอื่น และส่วนใหญ่เคยรับควันบุหรี่มือสองในพื้นที่ส่วนกลางที่ใช้ร่วมกันในอาคารชุด สะท้อนให้เห็นว่าพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของคนส่วนน้อย ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ที่พักอาศัยร่วมกัน

รศ.ดร.นิภาพรรณ กังสกุลนิติ อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การสูบบุหรี่ในอาคารชุดส่งผลต่อสุขภาพของผู้อื่นที่ไม่สูบบุหรี่ เพราะควันบุหรี่สามารถกระจายลอยผ่านไปยังห้องอื่นๆ ตามช่องระบายอากาศ หน้าต่าง และรอยแตกในผนังหรือพื้นที่ใช้สอยร่วมกัน จึงไม่มีระดับที่ปลอดภัยจากการสัมผัสควันบุหรี่ ทั้งนี้ อาคารชุดที่ปลอดบุหรี่จะส่งผลดีต่อสุขภาพของผู้พักอาศัยและประหยัดเงินได้มากด้วย โดยสหรัฐอเมริกาได้รายงานว่า การห้ามสูบบุหรี่ในอาคารชุดช่วยประหยัดเงินได้ถึงปีละ 153 ล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 5,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการทำความสะอาดอาคารที่มีคนสูบบุหรี่และลดความเสียหายจากไฟไหม้ของการทิ้งก้นบุหรี่ นายจรัญ เกษร กรรมการผู้จัดการบริหารงานอสังหาริมทรัพย์ บริษัท อนันดาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) และกรรมการบริหารสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทยและสมาคมบริหารทรัพย์สินแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อาคารชุดมีระเบียบข้อบังคับตามกฎหมายในการอยู่อาศัยที่ร่วมกันชัดเจน ผลกระทบที่เกิดจากเพื่อนบ้านที่สูบบุหรี่ ถึงแม้จะมีจำนวนไม่มากและอยู่ในพื้นที่ของตนโดยสิทธิ แต่ก็สร้างปัญหาต่อเพื่อนบ้าน ดังนั้นแนวทางการดูแลต้องจัดการให้เหมาะสมและตอบโจทย์ทุกคน เช่น รณรงค์เชิงรุก/รับในผลกระทบเชิงสุขภาพต่อตนเองและผู้อื่นตั้งแต่เริ่มเข้าอยู่อาศัย จัดพื้นที่สูบบุหรี่โดยเฉพาะที่ห่างไกลและสร้างผลกระทบต่ำ ขอความร่วมมือในการลดผลกระทบต่อสังคมโดยรวม ที่สำคัญต้องประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง ภายใต้ฐานข้อมูลผู้พักอาศัยที่ชัดเจน จะช่วยสร้างบรรยากาศสังคมที่ร่วมกันดูแลและสร้างภูมิคุ้มกันให้สังคมส่วนรวมที่ยั่งยืนได้ นายไพศาล ลิ้มสถิตย์ กรรมการศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 และประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2561 ไม่ได้กำหนดให้อาคารชุดเป็นเขตปลอดบุหรี่ จึงยังไม่สามารถเอาผิดตามกฎหมายฉบับนี้ได้ ซึ่งควรปรับปรุงกฎหมายให้อาคารชุดเป็นสถานที่ปลอดบุหรี่ ไม่กระทบกับคนส่วนใหญ่ที่พักอาศัยที่ไม่สูบบุหรี่ ทั้งนี้ผู้พักอาศัยในอาคารชุดที่ได้รับผลกระทบจากควันบุหรี่ควรร้องเรียนเจ้าพนักงานท้องถิ่น เพราะถือเป็นเหตุรำคาญตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 โดยเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจห้ามระงับผู้หนึ่งผู้ใดมิให้ก่อเหตุรำคาญในสถานที่เอกชนด้วย ศ.ดร.ฉัตรสุมน พฤฒิภิญโญ นักวิจัยภายใต้การสนับสนุนของศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ กล่าวถึงผลการศึกษามาตรการทางกฎหมายและสังคมเพื่อการคุ้มครองสิทธิของผู้ไม่สูบบุหรี่ในอาคารชุดในต่างประเทศ แบ่งเป็น 2 ขั้นตอน คือ 1.ก่อนที่จะมีมาตรการห้ามสูบบุหรี่ ให้สื่อสารบ่อยๆ กับผู้อยู่อาศัยใช้ทุกช่องทาง ถึงสาเหตุการห้ามสูบบุหรี่และจะมีผลบังคับใช้เมื่อไหร่ โดยแจ้งให้ผู้อยู่อาศัยทราบล่วงหน้าหลายเดือน ก่อนจะมีการบังคับห้ามสูบบุหรี่เพื่อให้ผู้อาศัยคุ้นเคยกับการเปลี่ยนแปลง เพื่อบางคนอาจใช้เวลานี้เพื่อเลิกบุหรี่ และจัดประชุมให้ผู้อาศัยแสดงความคิดเห็นเพื่อเพิ่มการสนับสนุนและลดปัญหาการบังคับห้ามสูบบุหรี่ที่จะเกิดขึ้น 2.การดำเนินการระหว่างและหลังการใช้มาตรการห้ามสูบบุหรี่ ให้มีป้ายคำเตือนแก่ผู้อยู่อาศัยรวมถึงบุคคลภายนอก โดยผู้ดูแลอาคารต้องตรวจสอบ ติดตามเป็นประจำ เพื่อให้แน่ใจว่ามีการปฏิบัติตามมาตรการห้ามสูบบุหรี่ และเตือนผู้อาศัยว่าต้องรับผิดชอบค่าเสียหายกรณีการเกิดผลกระทบจากการสูบบุหรี่


พิมพ์