เเฉเล่ห์ธุรกิจ “บุหรี่ไฟฟ้าสู่เบียร์ไร้แอลกอฮอล์”

เเฉเล่ห์ธุรกิจ “บุหรี่ไฟฟ้าสู่เบียร์ไร้แอลกอฮอล์”

นักวิชาการ แฉเล่ห์ธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้า บุกตลาดในสื่อออนไลน์ บิดเบือนข้อมูลให้ ปชช.หลงเชื่อ ขณะที่เบียร์ไร้แอลกอฮอล์ งัดกลยุทธ์ สร้างแบรนด์ดีเอ็นเอแฝงโฆษณา หวั่นเด็กเยาวชนตกเป็นเหยื่อ ปูทางสร้างนักดื่มนักสูบหน้าใหม่ จี้หน่วยงานรัฐต้องเท่าทัน

วันนี้ (21 สิงหาคม 2562) ที่โรงแรมแมนดาริน ในเวทีเสวนา “จากบุหรี่ไฟฟ้าถึงเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ ทางเลือกเพื่อสุขภาพหรือการตลาดอาบยาพิษ” จัดโดยศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ และเครือข่ายปกป้องเด็กและเยาวชน ลดปัจจัยเสี่ยงทางสังคม

ดร.วศิน พิพัฒนฉัตร ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีสารนิโคติน ก่อให้เกิดการเสพติดเหมือนบุหรี่ ผลวิจัยจากต่างประเทศ พบว่า นิโคตินมีคุณสมบัติที่ก่อให้เกิดการเสพติดสูงกว่าเฮโรอีน แอลกอฮอล์ และกัญชา ซึ่งในอุตสาหกรรมยาสูบทราบดีตั้งแต่ปี 2493 ว่าสารดังกล่าวก่อให้เกิดการเสพติดและสามารถควบคุมปริมาณที่ก่อให้เกิดความพึงพอใจกับผู้เสพได้ แต่ปิดบังความจริงนี้ไว้ ทั้งนี้บุหรี่ไฟฟ้าบางยี่ห้อ มีสารนิโคตินสูงเทียบได้กับบุหรี่แบบปกติ 20 มวน และมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถให้นิโคตินเร็วขึ้น 2.7เท่าเมื่อเทียบกับบุหรี่ไฟฟ้ายี่ห้ออื่น ๆ เพื่อให้เกิดการเสพติดได้ง่ายขึ้น ตลอดจนการพัฒนารูปแบบของผลิตภัณฑ์ให้มีความทันสมัย น่าสนใจ จึงไม่น่าแปลกใจที่กลุ่มธุรกิจนี้ หรือกลุ่มผู้สนับสนุน จะพยายามผลักดันให้ประเทศไทย สามารถเสพบุหรี่ไฟฟ้าได้ด้วยข้ออ้างสารพัด

“สหรัฐอเมริกา มีรายงานว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มนักเรียนมัธยมเพิ่มขึ้นจาก1.2ล้านคน ในปี2560 เป็น 3.6 ล้านคน และในปี 2561 เพิ่มขึ้นจาก11.7% เป็น 20.8% ส่วนประเทศอิสราเอล ไม่ให้นำเข้าบุหรี่ไฟฟ้ายี่ห้อหนึ่งเพราะมีระดับสารนิโคตินเกินมาตรฐาน อีกทั้ง ไต้หวัน สิงคโปร์ อินเดีย ฮ่องกง มีปัญหาเรื่องการเพิ่มขึ้นของผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าที่เป็นเยาวชน และมีงานวิจัยที่ยืนยันถึงผลกระทบกับเยาวชน เช่น เกาหลีใต้ศึกษาความสัมพันธ์ ระหว่างการใช้บุหรี่ไฟฟ้ากับภาวะซึมเศร้าและพฤติกรรมการฆ่าตัวตายในวัยรุ่น พบว่า กลุ่มวัยรุ่นที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้ามีแนวโน้มที่จะพยายามฆ่าตัวตาย มากกว่าวัยรุ่นที่สูบบุหรี่ธรรมดากว่า 6 เท่า ในทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรป และเอเชีย ต่างก็มีผลการศึกษาที่สอดคล้องกันว่า วัยรุ่นซึ่งยังไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อนและลองใช้บุหรี่ไฟฟ้ามีแนวโน้มที่จะริเริ่มสูบบุหรี่แบบปกติในเวลาต่อมา และพัฒนาไปสู่การเสพติดยาเสพติดประเภทอื่น ส่วนปัญหาที่คาดว่าจะเกิดในอนาคต คือ ขยะอิเล็กทรอนิกส์ของแบตเตอรี่บุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งขณะนี้ไต้หวันได้ห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าแล้ว อย่างไรก็ตามประเทศไทยมีมาตรการที่ดีที่สุด คือ ห้ามนำเข้า ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ ไม่มีความจำเป็นใดๆเลยที่รัฐบาลจะต้องไป ดำเนินการเพื่อให้ได้มาตรการที่แย่กว่าเพื่อมาทำลายเยาวชนของชาติเรา ล่าสุดต้องขอบคุณรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายกรัฐมนตรีที่แสดงจุดยืนที่ชัดเจน ไม่ให้มีการนำเข้า จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า” ดร.วศิน กล่าว

ดร.นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว นักวิชาการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยระบบสุขภาพและการแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า ศวส.ได้สำรวจกลุ่มตัวอย่างที่เคยดื่มเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ จำนวน4,000 คนจากทั่วประเทศ ระหว่างเดือนมิ.ย.-ส.ค.พบว่า 69% ที่เคยดื่มเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ในช่วง12เดือนที่ผ่านมา ยังคงดื่มเบียร์ที่มีแอลกอฮอล์ตามปกติเท่าเดิม ส่วนคนที่จะใช้เบียร์ไร้แอลกอฮอล์มาดื่มแทนเบียร์ปกตินั้น มีเพียง4% นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ หรือประมาณ3ใน4 เมื่อได้เห็นแพ็คเกจเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ ทำให้นึกถึงเบียร์ที่มีแอลกอฮอล์ยี่ห้อที่เป็นบริษัทเดียวกัน อีกทั้ง40%ระบุว่า เมื่อเห็นโฆษณาเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ ยิ่งทำให้อยากซื้อเบียร์ที่มีแอลกอฮอล์ยี่ห้อนั้น ส่วน36% บอกว่าอยากดื่มเบียร์ยี่ห้อนั้น นอกจากนี้กว่า 70% ยังเห็นด้วยกับการห้ามโฆษณา จำกัดเวลา สถานที่ขาย และไม่เห็นด้วยที่จะให้เยาวชนดื่ม

“จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องควบคุมเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ เพราะเป็นกลยุทธ์การตลาด ที่หาช่องโหว่ทางกฎหมาย แฝงโฆษณา ใช้สัญลักษณ์ แพ็คเกจ ที่เหมือนหรือคล้ายกับเบียร์ที่มีแอลกอฮอล์ สิ่งที่เป็นผลระยะยาว คือ การเพิ่มยอดขายให้เบียร์ เพราะกฎหมายทำอะไรไม่ได้ ชื่อและตราสัญลักษณ์คล้ายกัน จนแทบจะแยกไม่ออก คนใช้ดื่มทดแทนมีน้อยแค่ 4% แต่ผลกระทบมีมากกว่าชัดเจน ส่วนฝ่ายธุรกิจก็หวัง ขยายฐานลูกค้า ทำกำไร คงต้องฝากภาครัฐให้รู้เท่าทัน กำกับดูแลไม่ให้จดทะเบียนการค้า หรือใช้ตราสัญลักษณ์ที่ใกล้เคียงกัน ต้องแยกประเภทเพื่อให้มีความแตกต่าง คำนึงถึงผลกระทบ เพราะหากมีการโฆษณามากขึ้น เท่ากับกระตุ้นการดื่ม ซึ่งปัจจัยที่ทำให้คนดื่มมี 3 อย่าง คือ ราคา การโฆษณา การเข้าถึง และเมื่อปริมาณแอลกอฮอล์ในเครื่องดื่มยิ่งมาก ผลกระทบและอันตรายจะยิ่งทวีคูณ” ดร.นพ.อุดมศักดิ์ กล่าว

ขณะที่ ดร.บุญอยู่ ขอพรประเสริฐ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกริก กล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้าตามกฎหมายห้ามโฆษณาอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ภาคธุรกิจทำ คือ ใช้ปรากฎในสื่อออนไลน์ เน้นให้ข้อมูลเชิงวิชาการผ่านบทความเชิงให้ความรู้ โดยแฝงว่าจะช่วยลดการสูบบุหรี่ได้ และบุหรี่ไฟฟ้ามีโทษน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา ซึ่งธุรกิจใช้เทคนิคการเขียนแบบเนียนๆ แล้วเผยแพร่ผ่านสื่อสาธารณะ ผ่านโซเชียลมีเดีย จนทำให้เกิดกระแส แต่จริงๆแล้วมันเป็นกลยุทธ์ แฝงโฆษณา ทำให้คนส่วนหนึ่งแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอาจเชื่อได้ว่าเป็นเรื่องจริง อย่างไรก็ตาม การสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีโทษอันตรายของมันอยู่แล้ว พอธุรกิจมาทำการตลาดแบบนี้ยิ่งทำให้คนสูบเพิ่มมากขึ้น อยากฝากเจ้าหน้าที่ให้ควบคุมเข้มงวด ห้ามนำเข้า ใช้ข้อบังคับตามกฎหมายห้ามโฆษณาเด็ดขาด

ดร.บุญอยู่ ยังกล่าวถึง ปรากฎการณ์เบียร์ไร้แอลกอฮอล์ที่เป็นกระแสแรงมากตอนนี้ว่า เพราะมีการโหมการตลาด จัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ทำโฆษณาทางสื่อ แม้ยอดขายเบียร์น้อย แต่การโฆษณาได้ผล ชัดเจนว่า เป็นการจงใจโฆษณาเบียร์ที่มีแอลกอฮอล์ เพราะใช้แบรนด์ดีเอ็นเอเดียวกันกับเบียร์ที่มีแอลกอฮอล์ เขาพยายามเอาผลิตภัณฑ์ที่ไม่อยู่ในเกณฑ์ของกฎหมายมาสื่อสาร สร้างการรับรู้ ทั้งที่จริงๆแล้วมันคือยี่ห้อเดียวกัน โลโก้เหมือนกันมาก เข้าข่ายเป็นการโฆษณาเลี่ยงกฎหมาย ซึ่งคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต้องนำประเด็นนี้เข้าไปพิจารณา หรือปรับแก้กฎหมายพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 เพื่อควบคุมเรื่องนี้อย่างจริงจัง

“น่าห่วงมาก เนื่องจากเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ มันทำให้เด็กดื่มได้ เป็นการปลูกฝังให้เด็กชินกับเบียร์ ถ้าพ่อแม่ไม่รู้เท่าทันจะบ่มเพาะนิสัยเพิ่มดีกรีเมื่อเด็กโตขึ้น เหมือนไปสอนเด็กจากที่ดื่มเบียร์ไม่เป็น ให้ดื่มเบียร์ได้ ส่วนภาคธุรกิจรู้ทั้งรู้อยู่แล้ว ว่าทำไปมีวัตถุประสงค์อะไร แต่อยากเรียกร้องว่าให้ทำการตลาดอย่างมีธรรมาภิบาล ยึดหลักจริยธรรมตรงไปตรงมา เพราะเบียร์ไร้แอลกอฮอล์มันไม่ต่างจากน้ำดื่มยี่ห้อเดียวกับเบียร์ และน่าเป็นห่วงว่าหากต่อไปเด็กนักเรียนนักศึกษาอาจจะนิยมกินดื่มกันในสถานศึกษา ซึ่งไม่มีกฎหมายห้าม ย่อมเกิดปัญหาและความยุ่งยากตามมาแน่นอน” ดร.บุญอยู่ กล่าว


พิมพ์