งานวิจัยยืนยัน”บุหรี่ซองเรียบ” เพิ่มความชัดของภาพคำเตือน และ ลดนักสูบหน้าใหม่ได้

งานวิจัยยืนยัน”บุหรี่ซองเรียบ” เพิ่มความชัดของภาพคำเตือน และ ลดนักสูบหน้าใหม่ได้

Press Release: ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ข่าวเผยแพร่: วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2561 (วันที่ข่าวตีพิมพ์สามารถเผยแพร่ได้ทันที | งานวิจัยยืนยัน”บุหรี่ซองเรียบ” เพิ่มความชัดของภาพคำเตือน และ ลดนักสูบหน้าใหม่ได้

ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวสนับสนุน การประกาศใช้กฎหมายบุหรี่ซองเรียบของประเทศไทยที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2561 ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในทวีปเอเชียและประเทศที่ 11 ของโลก ที่มีการประกาศใช้กฎหมายดังกล่าว

มาตรการซองบุหรี่แบบเรียบ เป็นมาตรการตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบที่ทางองค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้ประเทศสมาชิกปฏิบัติ โดยมีวัตถุประสงค์หลัก 4 ข้อ ได้แก่ 1. ลดความดึงดูดของผลิตภัณฑ์ 2. ป้องกันไม่ให้ใช้ซองบุหรี่ในการโฆษณา 3. ป้องกันไม่ให้ใช้สีหรือข้อความบนซองบุหรี่สื่อสารข้อมูลผิดๆ เช่น มีอันตรายน้อยกว่า และ 4.ทำให้ภาพคำเตือนอันตรายของบุหรี่บนซองมีความชัดเจนขึ้น

ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ยังได้กล่าวถึงงานวิจัยของศจย.ในเรื่องนี้ว่า ศจย.ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นจากกลุ่มวัยรุ่นกรณีบุหรี่ซองเรียบ โดยได้ทำการสำรวจนักเรียนระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษาจำนวน 1,239 คน จากทั่วประเทศ พบว่า ซองบุหรี่แบบเรียบจะส่งผลให้กลุ่มวัยรุ่นไม่อยากซื้อบุหรี่มากกว่าซองบุหรี่แบบเดิมถึง 57% และทำให้เห็นอันตรายจากการสูบบุหรี่มากกว่าซองบุหรี่แบบเดิมถึง 47.5% นอกจากนี้ยังพบว่ากลุ่มวัยรุ่นที่ไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อนเป็นกลุ่มที่ตอบสนองต่อภาพคำเตือนบนซองบุหรี่แบบเรียบมากที่สุด โดยพบมีความมั่นใจที่จะไม่สูบบุหรี่เพิ่มเป็น 13.27 เท่า ส่วนกลุ่มวัยรุ่นที่เคยสูบบุหรี่มาก่อนพบมีความมั่นใจที่จะไม่กลับไปสูบบุหรี่เพิ่มเป็น 3.61 เท่า จากผลการศึกษานี้ทำให้มั่นใจว่ามาตรการซองบุหรี่เรียบจะเป็นอีกมาตรการที่เข้ามาเสริมมาตรการอื่นๆ ในการลดนักสูบหน้าใหม่ในประเทศไทย เช่น การห้ามขายบุหรี่แก่เยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี และการห้ามขายบุหรี่แบบแยกมวน ตามพรบ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ที่มีผลบังคับใช้ไปแล้วก่อนหน้านี้

อ้างอิง: Auemaneekul N. et al. (2015). The Impact of Cigarette Plain Packaging on Health Warning Salience and Perceptions: Implications for Public Health Policy. Asia-Pacific Journal of Public Health. 27(8): 848-859.
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ: หริสร์ ทวีพัฒนา นักวิชาการ ศจย. โทรศัพท์ 061-7244411 E-mail: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.


พิมพ์