สูบบุหรี่ในห้องปิดกระทบต่อสุขภาพผู้ที่ไม่สูบบุหรี่

สูบบุหรี่ในห้องปิดกระทบต่อสุขภาพผู้ที่ไม่สูบบุหรี่

Press Release: ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ข่าวเผยแพร่: วันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ.2561 (วันที่ข่าวตีพิมพ์สามารถเผยแพร่ได้ทันที) | สูบบุหรี่ในห้องปิดกระทบต่อสุขภาพผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ งานวิจัยพบระดับคาร์บอกซีฮีโมโกลบิน หรือก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์

ในเลือดของผู้ที่ไม่สูบบุหรี่แต่อยู่ในห้องร่วมกับผู้สูบบุหรี่สูงขึ้นเท่ากับสูบบุหรี่เอง นอกจากนี้สัมผัสควันบุหรี่มือสองนานเสี่ยงเกิดโรคหัวใจ มะเร็ง ฯลฯ
ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบได้ออกมาแสดงความคิดเห็นในกรณีที่มีการพยายามจะสูบบุหรี่ภายในห้องจัดเลี้ยงของโรงแรมจนกระทั่งเกิดกรณีพิพาทกับพนักงานโรงแรมว่า งานวิจัยทั่วโลกยืนยันผลกระทบของควันบุหรี่มือสองต่อสุขภาพของผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่จนหลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยได้มีกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในสถานที่สาธารณะ โดยเฉพาะภายในตัวอาคารหรือสถานที่ปิดที่ประชาชนใช้ร่วมกัน

ศ.นพ.รณชัย ได้กล่าวถึงงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่อ้างอิงในรายงานของนายแพทย์ใหญ่สหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2006 “The Health Consequences of Involuntary Exposure to Tobacco Smoke” ได้ทำการทดลองนำคนที่ไม่สูบบุหรี่ 12 คนไปอยู่ร่วมห้องกับคนที่สูบบุหรี่ 6 คน ในห้องปิดขนาด 43 ตารางเมตรที่ไม่มีระบบระบายอากาศและให้กลุ่มคนที่สูบบุหรี่เริ่มทำการสูบ เป็นเวลา 78 นาที โดยได้ทำการวัดค่าคาร์บอกซีฮีโมโกลบินในเลือดก่อนและหลัง พบว่าค่าเฉลี่ยของก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ภายในห้องสูงถึง 38 ppm โดยระดับของคาร์บอกซีฮีโมโกลบินของทั้งกลุ่มที่สูบและไม่สูบบุหรี่สูงขึ้นอย่างชัดเจน โดยกลุ่มที่สูบบุหรี่เพิ่มจาก 5.9% เป็น 9.6% และกลุ่มที่ไม่สูบบุหรี่เพิ่มจาก 1.6% เป็น 2.6% (ค่าปกติไม่เกิน 2%) ซึ่งการได้รับก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์มีผลให้เม็ดเลือดแดงเสียความสามารถในการขนส่งออกซิเจนไปยังอวัยวะ และเนื้อเยื่อต่างๆ ในร่างกายเกิดภาวะร่างกายขาดออกซิเจน ระยะแรกจะพบอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ง่วงซึม สับสน อาการรุนแรงอาจชักและหมดสติได้
ศ.นพ.รณชัย ได้กล่าวต่อว่าการสัมผัสควันบุหรี่มือสองเพียง 5 นาทีจะส่งผลให้หลอดเลือดแดงใหญ่หดตัว, 20-30 นาที ทำให้เพิ่มการอุดตันของเส้นเลือดเสี่ยงต่อภาวะหัวใจวายเฉียบพลันหรือเส้นเลือดในสมองตีบ และหากสัมผัสนานกว่า 2 ชั่วโมงเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ นอกจากนี้พบว่าหากสัมผัสควันบุหรี่มือสองเป็นระยะเวลานาน เช่น การอยู่ร่วมบ้านกับคนที่สูบบุหรี่ โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์และเด็ก หรืออาชีพที่ต้องอยู่ในสถานที่ที่มีการสูบบุหรี่ประจำเช่น ผับ บาร์ ร้านอาหาร จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเพิ่มขึ้น ได้แก่ มะเร็งปอด โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง เจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ภาวะครรภ์เป็นพิษ แท้ง คลอดก่อนกำหนด และเกิดอาการไหลตายในเด็ก เป็นต้น

สำหรับประเทศไทยเพิ่งจะมีการประกาศเพิ่มพื้นที่ปลอดบุหรี่เพื่อป้องกันสุขภาพของผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ไปเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2561 และกำลังจะมีผลบังคับใช้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 จึงขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันเร่งประชาสัมพันธ์ในเรื่องนี้เนื่องจากที่ผ่านมาประชาชนส่วนหนึ่งยังไม่ทราบว่าสถานที่ใดบ้างเป็นเขตปลอดบุหรี่ และเรียกร้องให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ: หริสร์ ทวีพัฒนา นักวิชาการ ศจย. โทรศัพท์ 061-7244411 E-mail: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.


พิมพ์