อัตราสูบบุหรี่ในเยาวชนสหรัฐพุ่งขึ้นคาดเป็นผลจากบุหรี่ไฟฟ้า

อัตราสูบบุหรี่ในเยาวชนสหรัฐพุ่งขึ้นคาดเป็นผลจากบุหรี่ไฟฟ้า

Press Release: ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.)  ข่าวเผยแพร่: วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2561 (วันที่ข่าวตีพิมพ์สามารถเผยแพร่ได้ทันที) อัตราสูบบุหรี่ในเยาวชนสหรัฐพุ่งขึ้นคาดเป็นผลจากบุหรี่ไฟฟ้า

อัตราการสูบบุหรี่มวน หรือ conventional cigarette ในเยาวชนสหรัฐกลับเพิ่มสูงขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี คาดว่าเป็นผลจากการระบาดอย่างหนักของบุหรี่ไฟฟ้าที่บริษัทบุหรี่มุ่งทำการตลาดที่กลุ่มเยาวชน

ข้อมูลจาก U.S. Center for Diseases Control and Prevention (CDC) รายงานผลการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ในเยาวชน หรือ the National Youth Tobacco Survey ปีล่าสุด (ค.ศ.2018) พบอัตราการสูบบุหรี่มวนในนักเรียนชั้นมัธยมปลายเพิ่มขึ้นจาก 7.6% เป็น 8.1% จากที่เดิมนั้นอัตราการสูบบุหรี่มวนในเยาวชนลดลงมาตลอดตั้งแต่ที่เคยสูงสุดในปีค.ศ.1997 (36.4%) ซึ่งการเพิ่มขึ้นครั้งแรกของอัตราการสูบบุหรี่ในรอบ 20 ปีนี้ น่าจะสัมพันธ์กับการระบาดอย่างหนักของบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเยาวชนสหรัฐ ที่มีอัตราการสูบเพิ่มสูงขึ้นถึงกว่า 75% เทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งปัจจุบันมีนักเรียนมัธยมปลายสหรัฐสูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงถึง 3 ล้านคน

ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่าในรายงานของ The National Academies of Sciences, Engineering and Medicine หรือ NASEM ที่ศึกษาจากงานวิจัยทั่วโลกกว่า 800 ชิ้น ได้สรุปว่าบุหรี่ไฟฟ้านำเด็กและเยาวชนไปสู่การสูบบุหรี่มวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งงานวิจัยหลายชิ้นระบุว่าเยาวชนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นกลุ่มที่ไม่เคยใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบใดมาก่อน ยังพบด้วยว่าบุหรี่ไฟฟ้ายังเป็นช่องทางที่ทำให้เยาวชนไปสู่การใช้สารเสพติดชนิดอื่นๆอีกด้วย ซึ่งตรงนี้ข้อมูลสำรวจจาก U.S. CDC ก็พบว่า เด็กนักเรียนมัธยมของสหรัฐ 2.6 ล้านคน ใช้บุหรี่ไฟฟ้าในการเสพกัญชา

นอกจากนี้จากการสำรวจในสหรัฐอเมริกา ยังพบว่าเยาวชนส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตราย โดย 66% เข้าใจว่าสูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นเพียงเสพกลิ่นและรสชาด, 13.7% ไม่ทราบว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีส่วนประกอบอะไรบ้าง โดยมีเพียง 13.2% ที่รู้ว่าในบุหรี่ไฟฟ้ามีนิโคติน ซึ่งผลการสำรวจดังกล่าวสอดคล้องกับการสำรวจในเยาวชนไทย ที่พบว่าเยาวชนไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้าด้วยความเชื่อที่ผิด 4 ประการคือ มีกลิ่นหอม เชื่อว่าปลอดภัย ทันสมัย และไม่มีสารเสพติด

ดังนั้นการที่ประเทศไทยมีมาตรการห้ามนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าถือเป็นมาตรการที่เหมาะสมในการป้องกันเยาวชนจากการเข้าถึงผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าที่มุ่งทำการตลาดไปที่กลุ่มเยาวชน ซึ่งปัจจุบันมีหลายประเทศที่ประกาศกฎหมายห้ามนำเข้า/จำหน่ายเพิ่มมากขึ้น เช่น เมื่อเร็วๆนี้ ฮ่องกงประกาศแบนบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อปกป้องเยาวชน

อ้างอิง:

  • National Academies of Sciences, Engineering, and Medicine. (2018). Public health consequences of e-cigarettes. Washington D.C.: The National Academies.
  • National Institute on Drug Abuse (2018). Teens and E-cigarettes. https://www.drugabuse.gov/related-topics/trends-statistics/infographics/teens-e-cigarettes
  • https://www.cnbc.com/2018/10/22/teen-cigarette-smoking-ticks-up-as-vaping-surges.html?__source=sharebar%7Ctwitter&par=sharebar
  • รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ: หริสร์ ทวีพัฒนา นักวิชาการ ศจย. โทรศัพท์ 061-7244411 E-mail: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

พิมพ์