บุหรี่-บุหรี่ไฟฟ้า กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค Covid-19 : ยิ่งสูบ ยิ่งเสี่ยง

บุหรี่-บุหรี่ไฟฟ้า กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค Covid-19 : ยิ่งสูบ ยิ่งเสี่ยง

ดร.วศิน พิพัฒนฉัตร ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวในเวทีเสวนา “บุหรี่-บุหรี่ไฟฟ้า กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค Covid-19 : ยิ่งสูบ ยิ่งเสี่ยง” โดยระบุว่า ที่ผ่านมา ศจย. ได้มีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ทั้งรูปแบบของบุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้า ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญว่า

ทำไมพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ จึงมีความสำคัญกับการควบคุมดูแลและเฝ้าระวังความเสี่ยงต่อการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

โดย ศจย. มีบทบาทร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย ในการสื่อสารไปยังสาธารณชนอย่างต่อเนื่อง โดยเรื่องของการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เกิดการระบาดในระยะแรก ได้มีความคิดว่าเชื้อไวรัสชนิดนี้โจมตีที่ปอด ทำให้มีการเฝ้าระวังข้อมูลด้านต่างๆ จากจุดเริ่มต้นที่วารสารทางการแพทย์ของจีน ที่ระบุถึงผู้สูบบุหรี่จะมีโอกาสเสี่ยงที่มีความรุนแรงของโรคมากกว่าเดิม 14 เท่า จนองค์การอนามัยโลกนำข้อมูลนี้ไปเปรียบเทียบเพื่อใช้อ้างอิงเป็นข้อมูลที่เผยแพร่ด้วย ประกอบกับการสูบบุหรี่กระตุ้นให้ร่างกายสร้างตัวรับเชื้อไวรัสที่ปอดมากขึ้น ส่งผลให้ปอดมีการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ง่ายมากขึ้น

จนนำมาสู่ที่ สสส. จัดทำแคมเปญ สร้างกระแสให้สังคมได้รับรู้ภายใต้หัวข้อ "ไทยรู้ สู้โควิด" อีกด้วย พร้อมกับหารือกับหน่วยงานภาครัฐ เช่น รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อเผยแพร่งานวิจัยที่เกี่ยวข้องออกไปสู่สาธารณชนให้ได้มากที่สุด

ซึ่งขณะนี้ ศจย. มีงานวิจัยในพื้นที่ภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ เช่น งานวิจัยในภาคเหนือที่มีการลงพื้นที่อำเภอโกสัมพี จังหวัดกำแพงเพชร ที่พบว่าประชาชนและผู้นำชุมชนให้ความสำคัญกับเรื่องการสูบบุหรี่กับโควิด-19 มากกว่าร้อยละ 50 ซึ่งสะท้อนถึงการรับรู้ของประชาชน ส่วนในภาคใต้ก็พบว่า ร้อยละ 74.24 ประชาชนรับรู้ว่าการสูบบุหรี่มีผลต่อความเสี่ยงกับความรุนแรงของเชื้อไวรัสโควิด-19 และทำให้ปอดติดเชื้อง่ายร้อยละ 79.88 และโควิด-19 สามารถแพร่เชื้อได้ผ่านการไอจามร้อยละ 88.59 สะท้อนถึงคนที่เริ่มตระหนักถึงพิษภัยของการสูบบุหรี่มากขึ้น และมีงานวิจัยที่น่าสนใจอีกข้อก็พบว่า ประชาชนกว่าร้อยละ 82.71 อยากชวนคนที่บ้านให้เลิกสูบในช่วงที่เชื้อไวรัสโควิด-19 ระบาด และให้ความสนใจอยากเลิกบุหรี่ด้วยตนเองกว่าร้อยละ 70.35

พร้อมระบุว่า นอกจากบุหรี่จะส่งผลต่อสุขภาพแล้ว ยังเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำทางสังคม ล่อลวงให้คนที่มีรายได้น้อยเข้ามาสู่วังวนของการสูบบุหรี่มากขึ้นตามไปด้วย


พิมพ์