งานวิจัยกับการควบคุมยาสูบในระดับชุมชน

งานวิจัยกับการควบคุมยาสูบในระดับชุมชน

เมื่อวันนที่ 15 ธันวาคม 2563 ดร.วศิน พิพัฒนฉัตร ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย. ) กล่าวในการเสวนา "งานวิจัยกับการควบคุมยาสูบในระดับชุมชน" ว่า ที่ผ่านมา ศจย. ได้ทำงานด้านการสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อนำงานวิจัยเป็นองค์ความรู้เพื่อขับเคลื่อนการควบคุมยาสูบทั้งในระดับชุมชนและประเทศ ซึ่งแผนงานที่ 4 มีประเด็นการสร้างเครือข่ายโดยมีชุมชนเป็นฐาน ในกรณีระดับประเทศนั้น เรื่องการควบคุมยาสูบเป็นเรื่องที่ต้องให้ความจริงจัง

เนื่องจากในปี 2552 ความสูญเสียทางเศรษฐศาสตร์ ที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ยาสูบ มีจำนวนกว่า 74,000 ล้านบาท ซึ่งต่างจากภาษียาสูบที่เก็บได้ที่ 43,000 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบแล้วความสูญเสียจะสูงกว่า ขณะที่ปัจจุบันตัวเลขความสูญเสียเพิ่มขึ้นเป็น 87,000 ล้านบาท และเก็บภาษีได้ 68,000 ล้านบาท ทำให้เกิดความสูญเสียมากกว่าเช่นเดิม

ที่ผ่านมา ศจย. ได้พยายามเผยแพร่องค์ความรู้ ต่อสู้ทางวิชาการกับบริษัทยาสูบ ที่พยายามโฆษณาให้ผลิตภัณฑ์ดูดี หรือ มีการบิดเบือนความเป็นจริง ปัจจุบันรูปแบบของผลิตภัณฑ์ยาสูบได้กลายเป็นบุหรี่ไฟฟ้า ที่ใช้สารนิโคตินที่ทำให้เกิดอาการเสพติด เป็นจุดเริ่มต้นของการสูบบุหรี่มวนในวัยเด็ก และเมื่อเด็กหรือเยาวชนสูบบุหรี่แล้วก็จะนำไปสู่การเสพยาเสพติดรูปแบบอื่นๆได้ จนนำไปสู่พฤติกรรมละเลยการรักษาสุขภาพ จนนำไปสู่โรคไม่ติดต่อแบบเรื้อรังหรือ NCDs ได้

ทั้งนี้ งานด้านสาธารณสุข มีสองมิติ คือการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค โดยการส่งเสริมสุขภาพ สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ การนำสาระสำคัญของ ออตตาวา ชาร์เตอร์มาใช้ (Ottawa Charter)ที่มีหลักการสเริมสร้างกิจกรรมชุมชนให้เข้มแข็ง ทำให้ ศจย. นำงานวิจัยเพิ่มความเข้มแข็งในการควบคุมยาสูบในชุมชน

ซึ่งการควบคุมยาสูบในชุมแต่ละพื้นที่ก็มีความแตกต่างกันทั้งทางวัฒนธรรม และ วิถีชีวิต ทำให้มีการแยกรูปแบบการจัดการ 3 ลักษณะคือ ชนบท พื้นที่เมือง และพื้นที่กึ่งเมือง ซึ่ง ศจย. ได้มองเห็นถึงความแตกต่างเหล่านี้ จากการที่นักวิจัยได้ลงพื้นที่พูดคุยและเก็บข้อมูล อย่างเช่น ในพื้นที่ชนบทยังเข้าใจว่า ยาสูบอัตรายน้อยกว่าบุหรี่ ส่วนในชุมชนเมืองก็ยังมีประเด็นผลกระทบของการสูบบุหรี่ในอาคารชุดมีเป็นวงกว้าง ส่วนพื้นที่กึ่งเมืองนั้น ทำให้เกิดการโยกย้ายของประชากรแฝงจะต้องให้ความสำคัญกับการควบคุมการสูบบุหรี่ของประชากรกลุ่มนี้

เมื่อถึงจุดหนึ่งแล้วเชื่อว่าประเทศไทยก็จะได้รับการพัฒนามากขึ้น พื้นที่กึ่งเมือง หรือพื้นที่เมืองก็จะมากขึ้น ดังนั้น ศจย. จึงต้องเตรียมความพร้อมในการเตรียมรองรับต่อสถานการณ์ของประเทศที่เปลี่ยนไป และการควบคุมยาสูบจะต้องทำต่อไปเรื่อยๆ เพราะบริษัทยาสูบถือเป็นกลุ่มทุนจำนวนมหาศาล ที่พร้อมต่อสู้กับหน่วยงานต่างๆ ดังนั้น ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนอย่างเข้มแข็งจึงมีความสำคัญอย่างมาก


พิมพ์