“บุหรี่ไฟฟ้าทำปอดหาย” เด็กกลายเป็นขุมทรัพย์ธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้า

“บุหรี่ไฟฟ้าทำปอดหาย” เด็กกลายเป็นขุมทรัพย์ธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้า

แพทย์ห่วง ธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มฐานการตลาดล่านักสูบหน้าใหม่ มุ่งเป้าเด็กเยาวชน หลังสูบเพียง 3 เดือน อาจทำปอดอักเสบเฉียบพลัน ปอดหายถูกทำลาย ชี้ รัฐสภาต้องคงกฎหมายห้ามนำเข้าห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า รัฐบาลต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2568 ที่ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ร่วมกับ กรรมาธิการการสาธารณสุขฯ และกระทรวงสาธารณสุข ได้จัด การเสวนาสื่อ

เรื่อง “บุหรี่ไฟฟ้าทำปอดหาย : เสียงเตือนจากบุรีรัมย์” เพื่อปกป้องอนาคตของเด็กไทยจากบุหรี่ไฟฟ้า
นพ.ทศพร เสรีรักษ์ ประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ปัจจุบันบุหรี่ไฟฟ้ากำลังแพร่ระบาดเป็นภัยคุกคามที่น่าเป็นห่วงอย่างมากต่อสุขภาพของเด็กและเยาวชนไทย เห็นได้จากข้อมูลผลการสำรวจโครงการอปท.ปลอดบุหรี่ของมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ในปี 2565 พบอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 10 เท่า เมื่อเทียบกับของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2564 ซึ่งสัดส่วนของผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าส่วนใหญ่เป็นเด็กและเยาวชน อายุ 15 – 24 ปี เช่นเดียวกับข้อมูลจากการสำรวจการบริโภคยาสูบของเยาวชนไทย (Global Youth Tobacco Survey Thailand : GYTS) ปี 2565 พบว่า อัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของนักเรียนไทยอายุ 13 - 15 ปี เพิ่มขึ้น 5.3 เท่า ภายในระยะเวลา 7 ปี (จาก ร้อยละ 3.3 ในปี 2558 เป็นร้อยละ 17.6 ในปี 2565) จากการที่ธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้าต้องการเพิ่มฐานการตลาดในนักสูบหน้าใหม่เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ จึงใช้กลยุทธ์การตลาดล่าเหยื่อมุ่งเป้าที่กลุ่มเด็กและเยาวชนยิ่งทำให้สถานการณ์ในปี 2566 – 2567 เลวร้ายหนักขึ้น
“ทั้งนี้นิโคตินเป็นสารเสพติดและอันตรายต่อทุกระบบของร่างกายทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แต่อันตรายมากต่อเด็กเพราะสมองของเด็กกำลังอยู่ในช่วงพัฒนาจนถึง 25 ปี ดังนั้นนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าจึงมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานของสมองและสุขภาพจิต และอาการที่เฉียบพลันที่เด่นชัดคือ การเกิดภาวะปอดอักเสบเฉียบพลันจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า (EVALI : E-cigarette or Vaping product use Associated Lung Injury) ดังที่ทุกท่านได้รับทราบข่าวล่าสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา พบเด็ก 8 คน มีอาการทางปอดหรือปอดหายที่บุรีรัมย์” นพ.ทศพร กล่าว
พญ.ธญรช ทิพยวงศ์ ที่ปรึกษากรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบันการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี และเยาวชนอายุ 15-24 ปี กำลังเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่ากังวล จากรายงานการเข้ารับการรักษาการเลิกบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้าเทียบกับจำนวนผู้บำบัดยาเสพติด กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ในปี 2565 – 2567 เด็กและเยาวชนมีแนวโน้มใช้บุหรี่ไฟฟ้าจากตัวเลขการเข้าบำบัดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้สถิติยังยืนยันว่า บุหรี่ไฟฟ้าเป็น “Gateway” หรือประตูนำสู่การใช้สารเสพติดอื่นๆ ผลการศึกษาชี้ว่า เยาวชนที่เริ่มต้นใช้บุหรี่ไฟฟ้ามีโอกาสสูงที่จะเปลี่ยนไปใช้บุหรี่ธรรมดาและสารเสพติดชนิดอื่น เช่น กัญชาหรือยาเสพติดที่รุนแรงขึ้น ส่งผลต่อสุขภาพกายและจิตใจของเยาวชน รวมถึงพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การดื่มแอลกอฮอล์และปัญหาสุขภาพจิต สารนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้ามีผลกระทบต่อสมองและสุขภาพจิตใจของวัยรุ่น ทำให้เกิดการเสพติดง่ายขึ้น มีผลต่ออารมณ์ ความคิด ส่งผลต่อสุขภาพร่างกาย เช่น ระบบทางเดินหายใจ และอาจนำไปสู่โรคปอดอักเสบจากบุหรี่ไฟฟ้า (EVALI) เพิ่มภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ จากข้อมูลปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้สูญเสียปีที่สุขภาพดี ของประเทศไทยปี พ.ศ. 2562 พบว่า ยาสูบทำให้สูญเสียถึงร้อยละ 8.6 นับเป็นอันดับสองรองจากเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า นิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้ากระตุ้นการหลั่งโดปามีน ทำให้เกิดการเสพติด และเป็นประตูนำสู่การสูบบุหรี่มวนและสารเสพติดอื่นเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งการศึกษาทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ พบความสัมพันธ์ของการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในวัยรุ่นกับปัญหาสุขภาพจิต เช่น ภาวะซึมเศร้า สมาธิสั้น ปัญหาทางพฤติกรรม และการทำร้ายตัวเอง สอดคล้องกับการศึกษาภาคตัดขวางจากประเทศไทย ในกลุ่มตัวอย่าง อายุ 10 - 19 ปี พบว่ากลุ่มเด็กและเยาวชนที่เคยใช้บุหรี่ไฟฟ้ามีภาวะเสี่ยงโรคซึมเศร้าถึง 53% และการใช้บุหรี่ไฟฟ้าอาจทำให้ปัญหาสุขภาพจิตที่มีอยู่แล้วแย่ลงคล้ายกับการใช้บุหรี่มวน ซึ่งกลุ่มผู้สูบบุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้าที่มีปัญหาสุขภาพจิตมีแนวโน้มที่จะใช้บุหรี่ไฟฟ้าต่อหลังจากเลิกบุหรี่มวนได้มากกว่ากลุ่มที่ไม่มีปัญหาสุขภาพจิต นอกจากนี้พบว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อเลิกบุหรี่มวนมีประสิทธิภาพด้อยและอันตรายกว่าใช้วิธีอื่น
นพ.ชยนันท์ สิทธิบุศย์ ผู้อำนวยการกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ข้อมูลจากระบบการเฝ้าระวังภาวะปอดอักเสบเฉียบพลันจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า ของกรมควบคุมโรค ผ่านโปรแกรมตรวจสอบข่าวการระบาด กองระบาดวิทยา พบว่า มีรายงานผู้ป่วยที่เข้าข่าย EVALI รวมจำนวนทั้งสิ้น 11 ราย โดยเกือบทั้งหมดเป็นเด็กนักเรียน อายุ 11 – 14 ปี มากกว่าครึ่งเป็นเพศหญิง (ร้อยละ 63.3) โดยอาการส่วนใหญ่ ได้แก่ หายใจลำบาก ไอ เหนื่อยหอบ ผล x-ray พบปอดถูกทำลาย ล้วนมีประวัติสูบบุหรี่ไฟฟ้ามาอย่างน้อย 90 วัน ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ยืนยันให้เห็นได้ชัดเจนว่า ‘บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายมากต่อสุขภาพ’
รศ.พญ.หฤทัย กมลาภรณ์ หัวหน้าหน่วยโรคระบบหายใจเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และประธานวิชาการสมาคมโรคระบบหายใจและเวชบำบัดวิกฤตในเด็กแห่งประเทศไทย กล่าวถึง EVALI ว่าเป็นภาวะปอดอักเสบรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับการใช้บุหรี่ไฟฟ้า เกิดจากสารต้องสงสัย คือ Vitamin E Acetate และสารพิษอื่นๆ รวมถึงนิโคตินในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าไปกระตุ้นการอักเสบอย่างรุนแรงในเซลล์เยื่อบุทางเดินหายใจและถุงลมปอด มีเมือกในปอดมาก หลอดลมไวต่อสิ่งกระตุ้น ทำลายสารลดแรงตึงผิวในปอด ทำให้แลกเปลี่ยนก๊าซในปอดบกพร่อง ร่างกายขาดออกซิเจน มีอาการไอเรื้อรัง หายใจลำบาก หอบเหนื่อย เจ็บหน้าอก ไข้ คลื่นไส้ เบื่ออาหาร อาเจียน ร่วมกับประวัติการใช้บุหรี่ไฟฟ้าภายใน 90 วันก่อนมีอาการ ภาพเอ็กซเรย์หรือซีทีแสกนทรวงอก พบฝ้าขาวในปอด (ปอดหาย) โดยตรวจไม่พบการติดเชื้อใดๆ อาจเกิดขึ้นภายในไม่กี่วันถึง 2 - 3 สัปดาห์ และเสี่ยงมากขึ้นหากใช้น้ำยาที่มี THC หรือ Vitamin E Acetate รักษาโดยให้สเตียรอยด์ลดการอักเสบ ผู้ป่วยส่วนมากต้องใช้เครื่องช่วยหายใจและเข้ารับการรักษาในไอซียู บางรายต้องใช้เครื่องพยุงปอดและหัวใจ (ECMO)
“มีรายงานการเสียชีวิตจาก EVALI ในช่วงการระบาดในสหรัฐอเมริกาถึง 2.4% ค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วย EVALI สูงถึงเกือบล้านบาท ในอเมริกาหากต้องเปลี่ยนปอด (Lung Transplant.) ค่าใช้จ่ายจะสูงถึง 10 ล้านบาท ผู้ป่วยที่รอดชีวิตจะมีสมรรถภาพปอดลดลง เหนื่อยง่าย หายใจไม่สะดวก หลายรายต้องใช้ออกซิเจนในระยะยาว ทำให้คุณภาพชีวิตเลวลงต้องพึ่งพาผู้อื่นตลอดชีวิต ซึ่งงานวิจัยจาก ศจย. ประเมินว่า EVALI ทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐศาสตร์ถึงรายละ 5 ล้านบาทเศษ” รศ.พญ.หฤทัย กล่าว
ผศ.ดร.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล สรุปว่า เสียงเตือนจากบุรีรัมย์ทำให้คนไทยทุกคนต้องตระหนักถึง การปกป้องเด็กและเยาวชนจากทั้งภัยบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเร่งด่วน ในขณะที่รัฐสภากำลังจะพิจารณามาตรการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า ซี่ง กรรมาธิการวิสามัญฯ เสนอ 3 แนวทางคือ 1) การคงกฎหมาย Total ban 2) การคงแนวทางที่ 1 ยกเว้น Heat Tobacco Product และ 3) การยกเลิกกฎหมายห้ามนำเข้า เสียงเตือนจากบุรีรัมย์และประเทศไทยในวันนี้คงจะเตือนรัฐสภาได้ว่า แนวทางที่ 1 ให้คงกฎหมายห้ามนำเข้าเป็นแนวทางที่เหมาะสมที่สุด ร่วมกับการที่ทุกภาคส่วนต้องหันมาร่วมมือร่วมใจกันปกป้องเด็กและเยาวชนโดย 1)การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด การเฝ้าระวังมิให้เกิดการกระทำที่ผิดกฎหมาย การควบคุมการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นรูปธรรม 2) ป้องกันและลดความเสี่ยง ส่งเสริมการให้ความรู้แก่เยาวชน ผู้ปกครอง และครูเกี่ยวกับอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า 3) เร่งรัดการช่วยเลิกบุหรี่ไฟฟ้าให้เข้าถึงง่าย ได้มาตรฐานครบวงจร โดยบูรณาการร่วมกันในทุกเครือข่ายภาคี และ 4) การเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย รณรงค์ให้สถานศึกษาและชุมชนปลอดบุหรี่ไฟฟ้า สนับสนุนกิจกรรมการสร้างสรรค์ที่ช่วยให้เยาชนไม่เข้าสู่พฤติกรรมเสี่ยง

รายละเอียดติดต่อ: หริสร์ ทวีพัฒนา นักวิชาการ ศจย. โทร: 061-7244411 Email: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.


พิมพ์