ควันบุหรี่มือสอง อันตรายมากกว่าที่คิด

ควันบุหรี่มือสอง อันตรายมากกว่าที่คิด

ผศ.ดร.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าบุหรี่คร่าชีวิตประชากรโลกมากถึง 8 ล้านคนต่อปี ในจำนวนนนี้ 1.2 ล้านคน คือผู้ที่สัมผัสกับ ‘ควันบุหรี่มือสอง’ (Secondhand Smoke, SHS) โดยประเมินว่า SHS คร่าชีวิตเด็กมากถึง 65,000 รายต่อปี ซึ่งเด็กมีความเสี่ยงสูงกว่า 50-100%

ที่จะพัฒนาโรคที่เกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจแบบเฉียบพลัน เช่นเดียวกับโรคหอบหืดและการเสียชีวิตแบบฉับพลัน ในขณะที่ผู้ใหญ่ที่ได้รับ SHS ระยะยาว โรคที่พบคือมะเร็งปอด โรคเส้นเลือดหัวใจและสมองตีบ การสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พ.ศ.2564 พบว่า 23.7% ของคนสูบบุหรี่มีการสูบในบ้าน จึงมีคนไทยหลายล้านคนได้รับ SHS ในบ้าน โดยพบว่า ในทุก 10 ครัวเรือน จะมี 5 ครัวเรือนที่มีคนสูบบุหรี่ และมี 3 ครัวเรือนมีการสูบภายในบ้าน ทำให้จะมีเด็กไม่ต่ำกว่า 5 ล้านคนเป็นอย่างน้อย ที่ได้รับ SHS ในบ้าน

“ทั้งนี้รายงานภาระทางเศรษฐศาสตร์และการพยากรณ์โรคของเด็กก่อนวันวัยเรียน พ.ศ.2562 โดย ศจย.ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า การที่มีผู้สูบบุหรี่มีในบ้าน ก่อให้เกิด SHS ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพเด็กเล็กอายุ 6 เดือน - 5 ปี ด้วยภาวะหอบเฉียบพลัน ซึ่ง 67% มีโอกาสเจ็บป่วยแบบฉุกเฉินซ้ำ และ 32% มีอาการหนักจนต้องนอนโรงพยาบาล โดยเด็กที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยภาวะหอบเฉียบพลัน พบว่าต้นทุนเฉลี่ยของการรักษาผู้ป่วยเด็ก 1 ราย เท่ากับ 20,269 บาท ทั้งประเทศคิดเป็นค่าใช้จ่ายราว 779 ล้านบาท และไอบุหรี่ไฟฟ้า SHS ก่อให้เกิดอันตรายด้วยเช่นกัน นอกจากนี้งานวิจัยของสหรัฐอเมริกา ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ Thorax พบว่า การที่เด็กได้รับไอบุหรี่ไฟฟ้า SHS ในบ้านมีโอกาสป่วยเป็นหลอดลมอักเสบเพิ่ม 40% และอาการหายใจลำบากเพิ่ม 53%” ผศ.ดร.นพ.วิชช์ กล่าว

ผศ.ดร.นพ.วิชช์ กล่าวสรุปว่า สุขภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างหนึ่งที่มนุษย์ทุกคนทั้งผู้สูบและผู้ไม่สูบควรได้รับตามมาตรฐานสูงสุด การริดรอนสิทธิของผู้ที่อาศัยใกล้ชิดในบ้านเดียวกับผู้สูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ทำให้อาจเกิดโรคภัยไข้เจ็บจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้นการเลิกสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อตัวคุณและครอบครัวที่คุณรัก จึงเป็นของขวัญอันล้ำค่าในปีใหม่ปีนี้ โดยสามารถเข้าถึงบริการเพื่อเลิกได้ทันทีที่ คลินิกฟ้าใสในโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศ หรือสายด่วนเลิกบุหรี่ 1600

รายละเอียดติดต่อ: หริสร์ ทวีพัฒนา นักวิชาการ ศจย.
โทร: 061-7244411 Email: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
Press Release
ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.)
ข่าวเผยแพร่: วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2565 (วันที่ข่าวตีพิมพ์สามารถเผยแพร่ได้ทันที)


พิมพ์