แพทย์เตือน บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายกว่า PM 2.5

แพทย์เตือน บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายกว่า PM 2.5

Press Release: ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ข่าวเผยแพร่: วันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2562 (วันที่ข่าวตีพิมพ์สามารถเผยแพร่ได้ทันที) แพทย์เตือน บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายกว่า PM 2.5 วิจัยล่าสุดพบก่อให้เกิด PM 2.5 สูงถึง 19,972 มคก./มล. ซ้ำเป็นสาเหตุของโรคหัวใจขาดเลือด เส้นเลือดในสมองตีบ

งานวิจัยล่าสุดพบสูบบุหรี่ไฟฟ้าเสี่ยงเกิดโรคเส้นเลือดสมองตีบสูงขึ้น 71%, โรคหัวใจวายเฉียบพลันสูงขึ้น 59%, กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดสูงขึ้น 40% นอกจากนี้ยังพบอัตราการสูบบุหรี่ธรรมดาในกลุ่มผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงขึ้นเป็น 2 เท่า

ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวถึง รายงานวิจัยใหม่โดย Dr. Paul M Ndunda และ Dr. Tabitha M Muutu แห่งคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัย Kansas ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เปิดเผยในงานประชุมวิชาการโรคหลอดเลือดสมองระดับนานาชาติ (the American Stroke Association’s International Stroke Conference 2019) พบความสัมพันธ์ระหว่างการสูบบุหรี่ไฟฟ้ากับการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด คือ สูบบุหรี่ไฟฟ้าเสี่ยงเกิดโรคเส้นเลือดสมองตีบสูงขึ้น 71%, โรคหัวใจวายเฉียบพลันสูงขึ้น 59%, กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดสูงขึ้น 40% เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้สูบบุหรี่ โดยงานวิจัยชิ้นนี้ได้ใช้ข้อมูลสำรวจพฤติกรรมด้านสุขภาพขนาดใหญ่ของสหรัฐอเมริกาที่มีกลุ่มผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้า 66,795 คนเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าจำนวน 343,856 คน ซึ่งจากผลวิจัยนี้ Dr. Ndunda แนะนำว่าคนไม่สูบบุหรี่ไม่ควรทดลองสูบบุหรี่ไฟฟ้า สำหรับคนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าอยู่ควรพิจารณาเลิกสูบ และหากสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อต้องการเลิกสูบบุหรี่มวนควรปรึกษาแพทย์ถึงวิธีที่ปลอดภัยมากกว่าซึ่งปัจจุบัน FDA ยังไม่อนุมัติให้บุหรี่ไฟฟ้าใช้เป็นอุปกรณ์ช่วยเลิกบุหรี่

ดร.พญ.เริงฤดี ยังได้เปิดเผยงานวิจัยของ Dr. Paul Melstrom และคณะจาก CDC ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ทำการทดลองในห้องปิดขนาด 52.6 ตร.ม. โดยในห้องมีคนสูบบุหรี่ไฟฟ้า 3 คนนั่งปนกับคนไม่สูบบุหรี่ 6 คน และให้คนสูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นเวลา 2 ชม. จากนั้นทำการวัดค่า PM 2.5 และฝุ่นขนาดที่เล็กกว่า (ultrafine particle) รวมทั้งปริมาณนิโคตินในอากาศ เสื้อผ้าและผนังห้อง การศึกษาพบว่า บุหรี่ไฟฟ้าประเภทเป็น tank เติมน้ำยา จะก่อให้เกิดฝุ่นพิษ PM 2.5 ในห้องดังกล่าว สูงสุดถึง 19,972 มคก./มล. (โดยค่าเฉลี่ยตลอดระยะเวลาที่ทดลองเท่ากับ 1,454 มคก. /มล.) ส่วนบุหรี่ไฟฟ้าประเภทแท่งแบบใช้ครั้งเดียว หรือ disposable e-cigarettes ทำให้เกิดฝุ่นพิษ PM 2.5 สูงสุดถึง 19,961 มคก./มล. (โดยค่าเฉลี่ยตลอดระยะเวลาที่ทดลองเท่ากับ 788 มคก. /มล.) นอกจากนี้ยังพบบุหรี่ไฟฟ้ามีสารนิโคตินสูง ตรวจพบปริมาณนิโคตินในกลุ่มที่ไม่ได้สูบบุหรี่ที่อยู่ในห้องขณะที่มีการสูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงขึ้นเกือบ 180 เท่าจากค่าปกติก่อนเริ่มทดลอง และพบสารนิโคตินตกค้างตามผนังห้อง พื้นห้อง ประตู หลังจากสูบบุหรี่ไฟฟ้าเสร็จแล้ว สูงขึ้นกว่า 10 เท่าเทียบกับก่อนมีการสูบ จากข้อมูลที่ได้พิสูจน์ถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าทั้งต่อตัวผู้สูบเองและคนรอบข้าง ย้ำวัยรุ่นไม่ควรทดลอง คนที่สูบอยู่แล้วควรจะเลิกเพื่อสุขภาพที่ดี และบุหรี่ไฟฟ้าไม่ใช่ทางเลือกของการเลิกบุหรี่

อ้างอิง: Paul Melstrom, et. al. (2017). Measuring PM2.5, Ultrafine Particles, Nicotine Air and Wipe Samples Following the Use of Electronic Cigarettes. Nicotine & Tobacco Research, 1055-1061.
Paul M Ndunda & Tabitha M Muutu. (2019). Electronic Cigarette Use is Associated with a Higher Risk of Stroke. the American Stroke Association’s International Stroke Conference 2019. https://newsroom.heart.org/news/e-cigarettes-linked-to-higher-risk-of-stroke-heart-attack-diseased-arteries
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ: หริสร์ ทวีพัฒนา นักวิชาการ ศจย. โทรศัพท์ 061-7244411 E-mail: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 


พิมพ์