ราชวิทยาลัยวิชาชีพแพทย์ฯ 14 แห่ง ร่วมแสดงจุดยืน “หมอไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า : ข้อเท็จจริงที่ประชาชนต้องรู้” ด้าน ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ เผยผลกระทบนิโคตินสังเคราะห์ให้เสพติดสูง มิหนำซ้ำมีผลต่อเซ็กซ์เสื่อม 2.24 เท่า ขณะที่ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์ฯ ข้อมูลทำให้หลอดเลือดหดตัว ส่วนผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบให้ความร้อน ที่เรียกว่า HTPs
เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2568 ที่ โรงแรมแกรนด์ริชมอนด์ จ.นนทบุรี ราชวิทยาลัยวิชาชีพแพทย์แห่งประเทศไทย ได้จัด การเสวนาสื่อและแถลงข่าว "หมอไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า : ข้อเท็จจริงที่ประชาชนต้องรู้" โดยมีตัวแทนแพทย์จากราชวิทยาลัยวิชาชีพแพทย์แห่งประเทศไทยทั้ง 14 แห่ง ร่วมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ทำเครื่องหมายไม่เอา “บุหรี่ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบให้ความร้อน ที่เรียกว่า Heated Tobacco Product : HTPs”
บุหรี่ไฟฟ้า ต้องผิดกฎหมายต่อไป
ผศ.นพ.ธัญเดช นิมมานวุฒิพงษ์ ผู้แทนราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย แถลงจุดยืนว่า ในฐานะตัวแทนของสมาคม ราชวิทยาลัยวิชาชีพแพทย์ฯ ต่างๆ กว่า 10 แห่ง ขอแสดงจุดยืนไม่เอา “บุหรี่ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบให้ความร้อน ที่เรียกว่า Heated Tobacco Product : HTPs” ซึ่งงานวิจัยทั่วโลกบ่งชี้ว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีนิโคติน ซึ่งเป็นสารเสพติดที่มีฤทธิ์เสพติดสูงสุด และมีฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดหดตัว มีอันตรายต่อทุกระบบของร่างกายทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แตกต่าง คือ ในเด็กมีผลกระทบต่อสมองที่กำลังพัฒนาของเด็กตั้งแต่ในครรภ์ถึง 25 ปี ซึ่งธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้าได้ผลิต “TOY POD” บุหรี่ไฟฟ้าทรงการ์ตูน เพื่อพุ่งเป้าในเด็กเล็กลงถึงระดับประถมศึกษา นำมาสู่วิกฤตการระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า ยิ่งทำให้สถานการณ์ในปัจจุบันเลวร้ายหนักขึ้น รวมทั้งบุหรี่ไฟฟ้าส่งผลกระทบให้ผู้สูบ เกิดปอดอักเสบเฉียบพลันรุนแรง (EVALI ) ต้องเข้ารับการรักษาใน ICU ดังที่ปรากฏในข่าว
“เรามีจุดยืนและมีการรณรงค์ทุกระดับ ทั้งองค์กรแพทย์ สมาคมวิชาชีพต่างๆ ผู้ปกครอง และกำลังเดินหน้าสร้างความเข้าใจเพิ่มขึ้นในกลุ่มเด็กและเยาวชน เพราะจริงๆ คนที่จะสื่อสารเรื่องนี้ได้ดี คือ เยาวชนด้วยกันเอง เราต้องส่งเสริมความเข้าใจเรื่องนี้ และต้องหยุดยั้งไม่ให้เกิดกฎหมายอนุญาตให้ขายบุหรี่ไฟฟ้าอย่างถูกกฎหมาย เราต้องรักษาหรือคงมาตรการเดิมให้บุหรี่ไฟฟ้า เป็นสิ่งผิดกฎหมายต่อไป และต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่” ผศ.นพ.ธัญเดช กล่าว
ทั้งนี้ การขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าว ต้องร่วมกันหลายภาคส่วน ซึ่งในฐานะแพทย์คนที่ป่วยหนึ่งคงอาจทำให้เกิดการล้มละลายของครอบครัวหนึ่งได้ ซึ่งก็คือการล้มละลายของประเทศชาติ เราต้องช่วยกันเรื่องนี้
รศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา ผู้แทนราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้า และบุหรี่ไฟฟ้าแบบให้ความร้อน (Heated Tobacco Products : HTPs) ไม่ได้เป็นสารที่ลดอันตราย (Harm Reduction) เพราะมีรายงานทางการแพทย์ออกมาอย่างมากมายต่อเนื่อง ระบุว่า บุหรี่ไฟฟ้าทำให้เกิดการเสพติดได้ง่ายและในระดับที่รุนแรงกว่าที่เกิดจากการสูบบุหรี่มวน และยาสูบเป็นต้นเหตุของการป่วยและเสียชีวิตก่อนวัยอันควร เป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย ภาษีที่เรียกเก็บได้จึงไม่คุ้มค่ากับโรคที่เกิดจากบุหรี่ไฟฟ้า
ผลกระทบจากบุหรี่ไฟฟ้า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนการแถลงจุดยืนยังได้มีการเสวนาให้ข้อมูลข้อเท็จจริงเรื่องนี้ โดย รศ.นพ.สุทัศน์ กล่าวว่า ช่วงแรกของการออกมาโปรโมทบุหรี่ไฟฟ้านั้น บริษัทผู้ผลิตมักกล่าวอ้างว่า บุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่าบุหรี่มวนถึง 95% อ้างอิงงานวิจัยของอังกฤษ แต่ไม่กี่ปีที่ผ่านมามีการเฉลยว่า ผู้เชี่ยวชาญที่เขียนเรื่องนี้ เขียนจากความคิดของตัวเอง แต่ไม่ได้รวบรวมข้อมูลจากการศึกษาวิจัย เห็นได้ว่าตอนนี้การเปิดเผยข้อมูลเป็นเหมือนภเขาน้ำแข็งที่โผล่เหนือระดับน้ำนิดเดียวเท่านั้น แต่ภายใต้มีน้ำแข็งมหึมา หรือข้อมูลที่เราไม่เคยรู้อีกมาก โดยทุกวันนี้การขายผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าไม่ได้ขายเหมือนผลิตภัณฑ์เหมือนเมื่อก่อนแต่เป็นการขายนิโคติน ซึ่งเป็นนิโคตินที่มีศักยภาพในการดูดซึมสูงและมีผลต่อการเสพติด
รศ.นพ.สุทัศน์ กล่าวว่า นิโคตินที่อยู่ในบุหรี่ไฟฟ้ากว่าร้อยละ 90 ไม่ใช่นิโคตินตามธรรมชาติแต่เป็นนิโคตินสังเคราะห์เพื่อให้เกิดการเสพติดง่ายขึ้น ทำให้ความสามารถในการแทรกซึมเข้าไปในสมองง่ายและมากขึ้น ที่สำคัญบุหรี่ไฟฟ้าที่ทดลองใช้ครั้งแรกจะไม่มีอาการไอ แสบคอ เหมือนบุหรี่ทั่วไป ทำให้ดึงดูดเด็กๆมากขึ้น กลิ่นและรสชาติมีความหลากหลายมากกว่า 16,000 ชนิด โดยนิโคตินตัวนี้เรียกว่านิโคตินซอล(Salt Nic) จากที่ผมสัมภาษณ์เด็กทุกคนที่เคยสูบบุหรี่ไฟฟ้าบอกว่าสูบแล้วรู้สึกสมูท ฟินมาก นี่สะท้อนว่าการตลาดมุ่งไปที่เด็กๆชัดเจน
อย่างไรก็ตาม ไอของบุหรี่ไฟฟ้านั้น มีสารเคมีมากถึง 2,000 ชนิด ทำให้เกิดการอักเสบของเซลล์ผนังหลอดเลือด เซลล์เยื่อบุทางเดินหายใจและปอด และกดการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เกิดโรคเรื้อรัง เช่น โรคหลอดเลือดสมองตีบ หลอดเลือดหัวใจตีบและกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน โรคหืด โรคถุงลมโป่งพอง ลมรั่วปอดแตก และ EVALI ซึ่งงานวิจัยในหนูทดลอง พบว่า 1 ใน 4 ของหนูที่สูดดมควันบุหรี่ไฟฟ้าเกิดมะเร็งปอด และเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะระยะเริ่มแรก (pre-cancer) ยังพบว่า บุหรี่ไฟฟ้า ส่งผลต่อเซ็กซ์เสื่อม 2.24 เท่าจากฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน
“ดังนั้นจากหลักฐานเชิงประจักษ์ทางการแพทย์ที่มีในปัจจุบันจึงสามารถกล่าวได้ว่า ‘บุหรี่ไฟฟ้าไม่ปลอดภัย มีพิษภัยต่อสุขภาพมนุษย์อย่างชัดเจน’ ซึ่งการศึกษาในสหรัฐอเมริกา พบว่า ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลจากโรคที่เกิดจากบุหรี่ไฟฟ้าสูงเป็น 1,500 เท่า ของภาษีที่เรียกเก็บได้ เรียกว่า ภาษีที่ได้ไม่คุ้มกับสุขภาพอนาคตของชาติที่เสียหายจากบุหรี่ไฟฟ้า” รศ.นพ.สุทัศน์ กล่าว
HTPs คือผลิตภัณฑ์ยาสูบที่ใช้ความร้อน
รศ.ดร.นพ.ศักดา อาจองค์ วัลลิภากร ผู้แทนราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า HTPs คือผลิตภัณฑ์ยาสูบที่ใช้ความร้อนแทนการเผาไหม้ เพื่อลดการเกิดควันและสารพิษบางชนิดจากการเผาไหม้ของใบยาสูบที่นำมาหั่นฝอยหรือบด แต่ยังคงมีนิโคตินและสารเคมีที่ส่งผลต่อสุขภาพ แตกต่างจากบุหรี่ไฟฟ้าที่ใช้น้ำยาที่มีนิโคติน ซึ่งในงานวิจัยอิสระ พบว่าผู้ใช้ HTPs มีความเสี่ยงต่อสุขภาพแทบไม่ต่างจากผู้สูบบุหรี่มวน โดยไอจาก HTPs ยังคงมีสารอันตรายหลายชนิด เช่น Tar รวมถึงสารก่อมะเร็งกลุ่มไนโตรซามีน และมีนิโคติน (4.7-5.1 มก.) ใกล้เคียงบุหรี่มวน HTPs บางยี่ห้อปล่อยสารพิษบางชนิดมากกว่าบุหรี่มวน เช่น อะซีแนฟธีน ซึ่งเป็นสารประกอบโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (สารก่อมะเร็ง) 3 เท่า และสารฟอร์มัลดีไฮด์ไซยาโนไฮดริน (สารพิษร้ายแรง)
“ผลกระทบของบุหรี่ไฟฟ้าและ HTPs ต่อสมองเด็กที่กำลังพัฒนา
ซึ่งจากการศึกษาในสัตว์ทดลองและมนุษย์ พบว่านิโคตินทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสมองเด็กตั้งแต่ในครรภ์ถึงอายุ 25 ปี โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับความจำและการตัดสินใจ ส่งผลให้ความสามารถทางปัญญาลดลงในระยะยาว วัยรุ่นที่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีนิโคตินมีแนวโน้มเกิดปัญหาการเรียนรู้ ความจำ และสมาธิ รวมถึงมีความเสี่ยงสูงขึ้นต่อโรคทางจิตเวช เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล และแม้แต่โรคจิตเภทในอนาคต และการศึกษาระยะยาวพบว่าผู้ที่สูบบุหรี่ในวัยรุ่นมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคจิตเภทสูงกว่าคนทั่วไปถึง 2 เท่า ยิ่งสูบปริมาณมากก็มีความเสี่ยงสูงขึ้น
รศ.ดร.นพ.ศักดา กล่าวต่อว่า งานวิจัยจาก ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ (CDC) ยืนยันว่า ไอบุหรี่ไฟฟ้ามีผลกระทบของบุหรี่ไฟฟ้ามือสอง และมือสาม ที่ล้วนส่งผลกระทบต่อเด็ก พบว่า เด็กที่อาศัยในบ้านที่มีการสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีปัญหาโรคหอบหืด การเรียนรู้ ภาวะสมาธิสั้น และพัฒนาการล่าช้ามากกว่าบ้านที่ไม่สูบบุหรี่ไฟฟ้า แม่ที่ได้รับไอบุหรี่ไฟฟ้าในขณะตั้งครรภ์จะคลอดก่อนกำหนดและเด็กมีน้ำหนักแรกเกิดน้อย เด็กในแม่กลุ่มนี้จะมีความผิดปกติของการพัฒนาสมองและปอด ปากแหว่งเพดานโหว่และเกิดโรคไหลตายมากกว่าเด็กที่เกิดจากแม่ที่ไม่ได้รับไอบุหรี่ไฟฟ้า
นิโคติน สารเสพติด
ผศ.ดร.วรภัทร รัตอาภา ผู้แทนราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสารเสพติดเช่นเดียวกับบุหรี่มวน เนื่องจากน้ำยาในบุหรี่ไฟฟ้ามีสารนิโคตินเป็นส่วนประกอบ ซึ่งเป็นสารที่ทำให้สมองเกิดการเสพติด รวมถึงการติดในเชิงวิธีการและพฤติกรรมการสูบบุหรี่ทั้งสองชนิดก็ไม่แตกต่างกัน หากสูบอย่างต่อเนื่องนอกจากส่งผลเสียต่อร่างกายแล้ว ยังสามารถทำให้เกิดการทนต่อยา ทำให้ร่างกายต้องการสูบในปริมาณที่เพิ่มขึ้น เมื่อหยุดสูบก็เกิดการถอน เช่น อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย หงุดหงิด วิตกกังวล สมาธิไม่ดี มีปัญหาการนอน การสูบบุหรี่ไฟฟ้าจึงทำให้ผู้สูบเกิดการเสพติดได้ไม่ต่างจากการสูบบุหรี่มวนและยาเสพติดชนิดอื่น
ซึ่งการศึกษาทั้งในต่างประเทศและในประเทศไทย พบว่า ภายหลังจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง สามารถทำให้การสูบบุหรี่มวนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ในการติดตามผู้สูบในระยะยาว พบว่าความถี่ของการสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีความสัมพันธ์กับการสูบบุหรี่มวนบ่อยขึ้นด้วย ในทางกลับกันยังพบว่า การสูบบุหรี่มวนก็ทำให้การสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในภายหลังด้วย
“การใช้บุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ช่วยให้เลิกสูบบุหรี่มวนได้จริง และยังทำให้เกิดการติดบุหรี่ทั้งสองชนิดเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาในปัจจุบันที่พบความชุกของการสูบบุหรี่ไฟฟ้า บุหรี่มวน หรือทั้งสองชนิดร่วมกัน (dual user) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น” ผศ.ดร.วรภัทร กล่าว
นอกจากนี้ การสูบบุหรี่ไฟฟ้ายังเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นประตูนำไปสู่การใช้สารเสพติดชนิดอื่น (gateway drug) เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กัญชา สารกระตุ้น (แอมเฟตามีน โคเคน) และยังพบว่ามีการใช้สารเสพติดอื่นเติมในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าโดยตรง นำไปสู่การเสพติดยาหลายชนิดได้ ดังนั้นหากมีมาตรการที่มีประสิทธิภาพ ป้องกันไม่ให้เริ่มต้นสูบบุหรี่ไฟฟ้าและบำบัดรักษาผู้สูบให้เลิกได้สำเร็จได้นั้น ไม่เพียงแต่ช่วยป้องกันผลกระทบด้านลบต่อสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ไฟฟ้า แต่ยังสามารถลดความเสี่ยงและผลกระทบของการติดสารเสพติดชนิดอื่นได้อีกด้วย
ห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าไม่กระทบการท่องเที่ยว
ดร.วศิน พิพัฒนฉัตร นักกฎหมาย และหน่วยวิชาการเครือข่ายนักสาธารณสุขจัดการปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ กล่าว่า การเลือกสูบบุหรี่ไฟฟ้า และ HTPs ไม่เป็นสิทธิตามกฎหมาย เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ทำลายสุขภาพและเป็นหนึ่งในสี่ของสินค้าที่เป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ ที่องค์การสหประชาชาติระบุว่าขัดขวางการพัฒนาอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อสุขภาพบุคคลอื่นจากผลบุหรี่ไฟฟ้ามือสองและมือสาม โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงคือกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งต้องได้รับปกป้องตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546
การห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าไม่กระทบการท่องเที่ยว เพราะจำนวนของนักท่องเที่ยวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังจากสถานการณ์โควิด 19 และยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อีกทั้งอัตรานักท่องเที่ยวที่เข้ามาในไทยก็สูงกว่าประเทศใกล้เคียงที่อนุญาตให้ขายบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายด้วย รวมทั้งไม่กระทบต่อชาวไร่ยาสูบเพราะนิโคตินที่ใช้ในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า เป็นนิโคตินสังเคราะห์ที่ไม่ได้มาจากใบยาสูบ
“หากยกเลิกการห้ามการนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าแล้วมาออกกฎหมายควบคุมแทน จะเกิดการระบาดของบุหรี่ไฟฟ้ายิ่งขึ้น ไทยเคยมีปัญหาเรื่องการออกกฎระเบียบต่างๆ ล่าช้ามากไม่ทันกับการระบาด รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายไม่เข้มงวด ประสบการณ์ของบุหรี่มวนที่ขายได้ถูกกฎหมายก็ยังมีปัญหาเรื่องธุรกิจใต้ดินถึงร้อยละ 25 แนวทางแก้ปัญหาคือ การบังคับใช้กฎหมายให้เข้มงวดและต้องเข้าร่วมพิธีสารว่าด้วยการขจัดการค้าผลิตภัณฑ์ยาสูบผิดกฎหมายขององค์การอนามัยโลกซึ่งขณะนี้หน่วยงานของรัฐก็ยังไม่ยอมเข้าร่วม นอกจากนี้ การอนุญาตให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายก็ไม่ได้ทำให้การยาสูบแห่งประเทศไทยสามารถผลิตขายและมีรายได้เพิ่ม เพราะเทคโนโลยีเหล่านี้มาจากต่างประเทศที่มีการใช้เทคโนโลยีก้าวหน้ากว่าไทย รวมทั้งการตลาดยุคดิจิทัล” ดร.วศิน กล่าว
ดร.วศิน กล่าวต่อว่า รายงานขององค์การอนามัยโลก พบว่าประเทศที่ห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จาก 34 เป็น 43 ประเทศในปี 2566-2567 เนื่องจากประเทศที่เคยอนุญาตให้ขายบุหรี่ไฟฟ้าไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดในกลุ่มเด็กและเยาวชนได้ จึงเปลี่ยนมาห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าแทน เช่น เวียดนาม คาซัคสถาน และปากีสถาน ฯลฯ อีกทั้งในประเทศที่อนุญาตให้ขายบุหรี่ไฟฟ้าโดยที่ห้ามขายในเยาวชนอายุน้อยกว่า 18-24 ปี ก็ยังมีการระบาดในเยาวชน
ที่สำคัญงานวิจัย ใน 75 ประเทศที่มีการสำรวจ Global youth Tobacco Survey (GYTS) พบว่า ประเทศที่ห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าจะต้องมีอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชนต่ำกว่าประเทศที่ไม่ห้าม ตัวอย่างเช่น สิงคโปร์ที่มีมาตรการในการห้ามบุหรี่ไฟฟ้า มีการสำรวจของ GYTS ปี 2560 อยู่ที่ร้อยละ 11.8 รัฐบาลจึงเพิ่มความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย ทำให้อัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชนลดลงเป็นร้อยละ 10.1 ได้อย่างมีประสิทธิภาพในปี 2563