จากควันแรก…สู่ ICU บุหรี่ไฟฟ้า “ติดง่าย…ตายเร็ว”

จากควันแรก…สู่ ICU บุหรี่ไฟฟ้า “ติดง่าย…ตายเร็ว”

เด็กไทยกำลังตกเป็นเหยื่อบุหรี่ไฟฟ้า โดยที่ผู้ใหญ่ยังเถียงกันอยู่ว่าควรแบนหรือไม่? แพทย์และนักวิชาการด้านสุขภาพกำลังส่งเสียงเตือนดังลั่น เพราะตอนนี้ EVALI (โรคปอดอักเสบจากบุหรี่ไฟฟ้า) กำลังแพร่ระบาดในไทย เด็กวัยเพียง 10 ขวบ ก็เริ่มเสพติดบุหรี่ไฟฟ้าแล้ว และบางรายต้องเข้าห้องไอซียูเพราะปอดเสียหายหนัก!

ข้อมูลล่าสุดจากกรมควบคุมโรคและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เผยว่า มีผู้ป่วยที่เข้าข่าย EVALI ทั่วประเทศอย่างน้อย 11 ราย ในช่วงต้นปี 2568 โดยพบการแพร่ระบาดใน บุรีรัมย์ สุโขทัย และเลย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุเฉลี่ย 13-15 ปี และทุกคนซื้อบุหรี่ไฟฟ้าจากร้านในพื้นที่อย่างง่ายดาย

EVALI: บุหรี่ไฟฟ้าทำปอดพังในไม่กี่สัปดาห์!

รศ.พญ.หฤทัย กมลาภรณ์ หัวหน้าหน่วยโรคระบบหายใจ โรงพยาบาลรามาธิบดี อธิบายว่า EVALI ไม่ใช่แค่โรคไอเรื้อรังธรรมดา แต่มันทำให้ปอดอักเสบขั้นรุนแรง จนอาจถึงตาย!

“แค่สูบไม่กี่ครั้ง ก็เสี่ยงตายได้!” เพราะบุหรี่ไฟฟ้าเต็มไปด้วยสารพิษที่ทำลายปอดโดยตรง ไม่ว่าจะเป็น นิโคติน ฟอร์มาลดีไฮด์ โลหะหนัก และที่อันตรายที่สุดคือ Vitamin E Acetate ซึ่งเป็นสารเติมแต่งที่พบในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า ส่งผลให้ปอดอักเสบเฉียบพลันและแลกเปลี่ยนออกซิเจนไม่ได้

เคสตัวอย่างจากต่างประเทศ

หญิงอายุ 35 ปี สูบบุหรี่ไฟฟ้าผสม THC แค่ 2 สัปดาห์ ปอดขวาพังเกือบหมด เสียชีวิตใน 5 วัน!
หญิงอายุ 51 ปี สูบบุหรี่ไฟฟ้ากลิ่นมินต์ 2 เดือนต่อมา หายใจไม่ออก ปอดเต็มไปด้วยฝ้าขาว หมดทางรักษา!
ผู้ป่วยชายอายุ 19 ปี สูบบุหรี่ไฟฟ้าแค่ 4 วัน ไอหนัก เจ็บหน้าอก หายใจไม่ออก ต้องเข้า ICU และใช้เครื่องช่วยหายใจ 3 เดือนเต็ม!
นี่ไม่ใช่ “เรื่องเล็ก” แต่มันคือ “เรื่องชีวิต”

เด็กไทยติดบุหรี่ไฟฟ้าเร็วขึ้น อาการหนักขึ้น และตายเร็วขึ้น!

“อย่าคิดว่ามันเป็นของเล่น” พญ.ธญรช ทิพยวงษ์ ที่ปรึกษากรมการแพทย์ ชี้ว่า บุหรี่ไฟฟ้าเป็นประตูสู่สารเสพติดที่อันตราย เพราะจากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า เยาวชนที่เริ่มสูบบุหรี่ไฟฟ้า มีโอกาสติดยาเสพติดอื่นสูงขึ้นหลายเท่า

ปี 2567 พบว่า 37,696 คน ต้องเข้ารับการบำบัดจากสารเสพติด
ในกลุ่มนี้ มีจำนวนไม่น้อยที่เริ่มจากบุหรี่ไฟฟ้า ก่อนขยับไปใช้สารเสพติดอื่น
บุหรี่ไฟฟ้าเป็น ปัจจัยเสี่ยงอันดับ 1 ของภาวะเสียสุขภาพในเพศชาย และเป็นสาเหตุที่ทำให้คนไทยป่วยมากขึ้น
บุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ช่วยให้เลิกบุหรี่ แต่มันเป็นหลุมพรางใหม่ของนิโคติน

หลายคนยังเข้าใจผิดว่า “บุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่า” หรือ “บุหรี่ไฟฟ้าช่วยเลิกบุหรี่ได้” ซึ่งผิดมหันต์! 90% ของน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้ามีนิโคติน ซึ่งทำให้เสพติดรุนแรง สามารถเติมสารเสพติดอื่นลงไปได้ ทำให้เป็นช่องทางเสพยาเสพติดรูปแบบใหม่ มีข้อมูลองค์การอนามัยโลก (WHO) และงานวิจัยล่าสุดยืนยันว่า “บุหรี่ไฟฟ้าไม่ช่วยให้เลิกบุหรี่ แต่ทำให้ติดนิโคตินมากขึ้น!”

“เสียงเตือนจากบุรีรัมย์” เด็ก ป.6 ปอดพัง เพราะบุหรี่ไฟฟ้า!

ล่าสุด บุรีรัมย์กลายเป็นจุดศูนย์กลางของภัยบุหรี่ไฟฟ้า เมื่อมีเด็กวัย 11 ปี หรือชั้น ป.6 ต้องเข้า ICU หลังพบว่าสูบบุหรี่ไฟฟ้ามาตั้งแต่อายุ 10 ขวบ และดื่มน้ำกระท่อมร่วมด้วย

“หมอบอกว่าปอดเขาเสียหายหนัก ออกซิเจนในเลือดต่ำ และถ้าไม่หยุดตอนนี้ อาจไม่รอด!”

ครอบครัวของเด็กกล่าวทั้งน้ำตา นี่เป็นเพียง 1 ในหลายกรณีที่เกิดขึ้น แต่คำถามคือ “เราจะปล่อยให้เด็กไทยตกเป็นเหยื่อไปอีกกี่คน?”

“อย่ารอให้ลูกคุณอยู่ใน ICU!” ร่วมส่งเสียงถึงรัฐบาล

แพทย์และนักวิชาการเสนอแนวทางป้องกัน ดังนี้ คงกฎหมายห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด,ป้องกันเด็กและเยาวชน ด้วยการให้ความรู้ที่ถูกต้องกับผู้ปกครอง ครู และโรงเรียน,ลดจำนวนผู้สูบรายเดิม โดยเพิ่มการเข้าถึงการบำบัดเลิกบุหรี่ และรณรงค์ให้สถานศึกษาและชุมชนปลอดบุหรี่ไฟฟ้า

“บุหรี่ไฟฟ้า = ตั๋วไป ICU!” เลิกก่อน “ปอดหาย…ตายก่อนวัย”

บุหรี่ไฟฟ้าไม่ใช่เรื่องของ “แฟชั่น” หรือ “ความเท่” แต่มันคือกับดักที่พรากลมหายใจของลูกคุณไปอย่างเงียบ ๆ

วันนี้เด็ก ๆ อาจแค่ลอง พรุ่งนี้เขาอาจเสพติด และไม่นานหลังจากนั้น เขาอาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจตลอดชีวิต!

หมอเตือนกันมาต่อเนื่อง…แต่ปัญหายังไม่ลดลง ห้อง ICU กำลังเต็มไปด้วยเด็กที่คิดว่า “บุหรี่ไฟฟ้าไม่อันตราย”

บุหรี่ไฟฟ้า = ตั๋วตรงส่งเข้าเตียง ICU

ถ้าคุณยังลังเลว่า บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายจริงไหม?

ถามตัวเองว่า…ถ้าวันหนึ่งลูกคุณต้องใช้เครื่องช่วยหายใจไปตลอดชีวิต คุณจะยังคิดว่ามันเป็นเรื่องเล็กอยู่หรือเปล่า?”

อย่าลืมว่า “ปอด” ไม่ใช่อะไหล่ หาเปลี่ยนใหม่ไม่ได้ ปอดคนเรามีอยู่คู่เดียว ไม่มีอะไหล่เปลี่ยน ไม่มีศูนย์ซ่อม

อย่ารอจนถึงวันที่ต้องไปยืนหน้าห้อง ICU ร่ำไห้ปริ่มว่าจะขาดใจ ขณะฟังหมอบอกว่า” ปอดลูกคุณเสียหายหนัก…ช่วยอะไรไม่ได้แล้ว “เพราะเมื่อถึงวันนั้นคงสายเกินไป!

Credit : https://thepublisherth.com/13028-2/


พิมพ์