14 ราชวิทยาลัยวิชาชีพแพทย์แห่งประเทศไทย ร่วมแถลงการณ์ “ไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า” ในวันแพทย์ไทย จี้ สภาเคร่งกฎหมายห้ามนำเข้า – ขาย –สูบในไทย หลังพบแพร่ระบาดเร็วกว่าโควิด พบป่วยปอดอักเสบหามส่งไอซียูอื้อ ห่วงสถานการณ์รุนแรงขึ้น
เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 67 ที่โรงแรมริชมอนด์ สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่และศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดการเสวนาสื่อมวลชนและการแถลงข่าว “หมอไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า”
โดย ศ.เกียรติคุณ นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวตอนหนึ่งว่า ขณะนี้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษากฎหมายและมาตรการควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย ซึ่งพบว่ามีผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้า 2 คน ร่วมเป็นกมธ.ด้วยถือว่า ผิดอนุสัญญาการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก ทั้งนี้ผลการศึกษาของกมธ.จะส่งสรุปเข้าสภาในเดือน ธ.ค.2567 ดังนั้นหากข้อมูลของเราที่ไปถึงมือ สส.ที่เห็นแก่สุขภาพของเด็กเป็นหลักก็จะได้ประกอบการอภิปราย ปัจจุบัน หลายประเทศที่เคยอนุญาตให้ขายจะกลับมาห้ามแล้ว เพราะคุมการระบาดในเด็กไม่ได้
“ที่เราพยายามสื่อสารคือไม่ว่ารายงานกมธ.จะออกมาอย่างไร ถือว่ามีไบแอส เพราะถูกวิ่งเต้นจากผู้แทนบุหรี่ รัฐบาลต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เหมือนที่บราซิลก็มีการวิ่งเต้น แต่รัฐบาลเขาฟังหมอกว่า 6 แสนคนที่ออกมาต่อต้าน ดังนั้นขอให้รัฐบาลไทยปฏิบัติตามข้อสั่งการของคณะรัฐมนตรีที่ออกมาก่อนหน้านี้ว่า ต้องควบคุมอย่างเข้มงวด” ศ.เกียรติคุณ นพ.ประกิต กล่าว
นพ.วันชาติ ศุภจัตุรัส รองประธานโครงการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาปลอดบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์ยาสูบฯ ภายใต้สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ กล่าวว่า ขอยืนยันว่า บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสารเสพติด ที่มีฤทธิ์ทำร้ายทุกระบบของร่างกาย โดยเฉพาะในเด็กและเยาวชนที่สมองส่วนหน้ายังไม่พัฒนาเต็มที่ ดังนั้นเนื่องในวันแพทย์ไทย 27 พ.ย. ผู้แทน 14 ราชวิทยาลัยวิชาชีพแพทย์แห่งประเทศไทย จึงร่วมประกาศเจตนารมณ์ ดังนี้ 1.ขอเรียกร้องให้รัฐสภาคงกฎหมายห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า ให้ความสำคัญกับอนาคตของชาติมากกว่าผลกำไรและภาษี ตามพ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ข้อ 2.ราชวิทยาลัยทุกแห่งส่งเสริมให้ “การไม่สูบบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้า เป็นค่านิยมดูแลสุขภาพทุกคน และนอกจาก “หมอไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า” แล้วขอเชิญคนไทยออกมาปกป้องลูกหลานโดยใช้ “# คนไทยไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า” เป็นวาระแห่งชาติ จากนี้เป็นต้นไป จนกว่าสภาจะพิจารณายืนยันการไม่ให้มีการนำเข้าและห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยต่อไป
ด้าน ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์ ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า สารนิโคตินจากบุหรี่ไฟฟ้าจะมีลักษณะเป็นไอ สามารถจะลงปอดได้มากกว่าบุหรี่มวน ฉะนั้นอันตรายจะมากกว่า เราเป็นหมอมีความรู้ดีว่าบุหรี่ไฟฟ้าก่อผลกระทบต่อสุขภาพมากมาย แต่กลับใคร สส.คนไทยก็ไม่รู้มาพูดว่าไม่อันตราย ไม่รู้ว่าเขาเอาอะไรมาพูด ทั้งนี้ถ้าคนเป็นแม่สูบทั้งๆ ที่รู้ว่าอันตราย ต้องเรียกว่ามากกว่าเลวร้ายคือชั่วมากที่เอาควันบุหรี่ที่ไม่ดีมาทำร้ายลูก เพราะควันบุหรี่ไฟฟ้าสามารถส่งผ่านรกไปถึงทารกในครรภ์ได้ โดยกลไกคือสารเคมีทำให้ออกซิเจนที่เลี้ยงรกได้น้อยทำให้รกแข็ง อักเสบ แล้วทำหน้าที่ส่งเลือดไปเลี้ยงทารกได้ยาก เสี่ยงครรภ์เป็รพิษ รกลอก เสี่ยงแท้ง และมีผู้หญิงจำนวนมากเสียชีวิตจากกรณีนี้ด้วย นอกจากนี้ยังทำคลอดก่อนกำหนด แต่อาจจะวัดยาก เพราะแม่ที่สูบบุหรี่มักโกหกเพราะรู้สึกผิดบาปต่อลูก อย่างไรก็ตาม เลือดที่สามารถส่งผ่านรกไปถึงทารกได้ทารกก็จะได้รับผลกระทบต่อสุขภาพเหมือนผู้ใหญ่
นพ.ชยนันท์ สิทธิบุศย์ ผู้อำนวยการกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กล่าวว่า เชื่ออนาคตพบอีกมาก เพราะตอนนี้ยังควบคุมการระบาดไม่ได้ ปัจจุบันกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติมีมติออก 5 มาตรการคุมการระบาดคือสร้างองค์ความรู้ สร้างการตระหนักรู้ มีการเฝ้าระวัง และบังคับใช้กฎหมาย มีการพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่าย และ ยืนยันมาตรการห้ามนำเข้า ขาย ในไทย ทั้งนี้ที่ผ่านมา ตนพร้อมด้วย กมธ.ไปดูงานที่จีน เพราะเป็นแหล่งผลิตบุหรี่ไฟฟ้าส่งทั่วโลกกว่า 90% แต่เราถูกยึดโทรศัพท์ไม่ให้ถ่ายด้านใน
แต่ดูจากอาลีบาบาพบว่าเขาพยายามสร้างภาพมาตรฐานการผลิต ทั้งนี้แง่การกราบปรามในไทยมีปัญหาเยอะเพราะมีทั้งออนไซต์ ออนไลน์ เมื่อเร็วๆ นี้มีการตรวจตู้คอนเทนเนอร์พบว่ามีสำแดงเท็จนำเข้าพลาสติก แต่กลายเป็นบุหรี่มูลค่ากว่า 100 ล้านบาท ล่าสุดเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ตำรวจสอบสวนกลาง เจอและจับแหล่งผลิตในไทยพบมีแรงงานเมียนมา 20 กว่าคน ดังนั้นเรียกว่าสถานการณ์รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เพราะเราถึงขั้นเอสายการผลิตในไทยแล้ว แต่ตนค่อนข้าง เสียใจที่เชิญอาจารย์แพทย์ต่างๆ ไปให้ข้อมูล แต่สส.กลับไม่เชื่อ
ด้านรศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา ผู้แทนราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศ กล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้ากำลังสร้างวิกฤตสุขภาพของประชากร เป็นสถานการณ์ร้อนแรงที่หมอทนไม่ได้ เราพบว่าเมื่อปี 2564 คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปมีการสูบบุหรี่ไฟฟ้า 7.8 หมื่นคน แต่เพียง 2 ปีเพิ่มเป็น 7 แสนคน หรือเพิ่มเป็น 10 เท่า ซึ่งนอกจากโควิดแล้วตนยังไม่เคยเห็นอะไรที่แพร่ระบาดเร็วเหมือนบุหรี่ไฟฟ้าอีก ทั้งนี้เมื่อดูภาพรวมในรอบปี 2558 สูบ 3.3% ก็เพิ่มเป็น 17.6 % ในปี 2565 หรือเพิ่ม 5.3 เท่า เฉพาะผู้หญิงพบสูบ 1.9% เพิ่มเป็น 15% เท่ากับเพิ่มขึ้น 7.9 เท่า หากรัฐไม่ตระหนักเชื่อว่าอีก 5-6 ปี หญิงไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้าทั่วประเทศ ทั้งนี้เหตุที่แพร่เร็วเพราะภาพลักษณ์และการบิดเบือนข้อมูลว่าไม่เป็นอันตราย
ทั้งๆ ที่ความจริงมีสารเคมีเป็นพันๆ ชนิด โดยราวๆ 2 พันชนิดที่ทางการแพทย์ไม่รู้จัก จึงไม่รู้ว่าอนาคตจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง แต่ที่แน่ๆ ผลกระทบที่เราพบแล้วแน่นอนคือเมื่อไอบุหรี่ไฟฟ้าเข้าสู่ร่างกายจะทำเกิดปฏิกิริยาการอักเสบที่เซลล์ผนังหลอดเลือดที่อยู่ตามอวัยวะสำคัญ โดยไม่รู้ว่าจะจบการอักเสบอย่างไร
แต่ที่แน่ๆ ระยะสั้นทำให้เกิดลิ่มเลือดตามจุดต่างๆ ถ้าทำอุดตันที่หลอดเลือดหัวใจก็ทำให้หัวใจวายเสียชีวิต อุดตันที่เส้นเลือดสมองก็เกิดสโตรก อุดตันเส้นเลือดปลายมือ ปลายเท้า ก็ทำให้เป็นแผลเรื้อรัง สูญเสียอวัยวะ นอกจากนี้ยังกดภูมิคุ้มกัน กดการทำงานเซลล์เม็ดเลือดขาวต่อต้านเชื้อโรคได้น้อยลง เชื้อโรคต่างๆ เข้าสู่ร่างกายง่ายขึ้น นานขึ้น กำจัดยาก โอกาสติดเชื้อในกระแสเลือดสูง ที่สำคัญคือทำให้เซ็กส์เสื่อม มะเขือเขา นกเขาหลับ 2.34 เท่า เพราะลดการหลั่งฮอร์โมนเทสเตอร์โรนและลดการผลิตสเปิร์ม เกิดปอดอักเสบรุนแรง 2 เท่า ปอดแตก โรคหืดเพิ่ม 74% ถุงลมโป่งพอง 75% โรคเบาหวาน 2.79% เท่า คุมน้ำตาลยาก เป็นโรคอ้วน
และส่งผลต่อผิวหนัง เช่น เรื้อนกวาง เหี่ยวย่น ผื่นแพ้ สิวฝ้า ฟันเหลือง ผิวแห้ง นอกจากนี้มีทดลองหนูให้ดมควันบุหรี่ไฟฟ้า 5 วันต่อสัปดาห์ วันละ 4 ชั่วโมง ต่อเนื่อง 1 ปี พบว่าหนู 9 ใน 40 ตัวเป็นมะเร็งปอด อีกจำนวนหนึ่งพบเซลล์เยื่อบุกระเพาะปัสสาวะกำลังเปลี่ยนเป็นมะเร็ง ดังนั้นผลกระทบบุหรี่ไฟฟ้าจะเกิดผลกระทบกับสุขภาพเร็วกว่า แรงกว่าบุหรี่มวน เปรียบเหมือนรถเมลสาย 8 จึงขอวิงวอนในฐานะอายุรแพทย์ ขอทุกคนอย่าเป็นหนูทดลองให้เจ้าของผลิตภัณฑ์หรือคนขาย ซึ่งเขาได้กำไรมหาศาล ขณะที่เราก็สูญเสียมหาศลเช่นกัน
ขณะที่ พล.ร.ต.หญิง พญ.สุพิชชา แสงโชติ ผู้แทนราชวิทยากุมารแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปกติเด็กก่อนวัยเรียนมักมีปัญหาป่วยเรื้อรัง น้ำมูกไหล หอบเฉียบพลันมากอยู่แล้ว ส่วนหนึ่งเพราะคนในบ้านสูบบุหรี่ กระทั่งปี 2565 พบเด็กป่วยมากขึ้นสอบสวนโรคพบคนในบ้านสูบบุหรี่ไฟฟ้า และเพื่อนที่โรงเรียนสูบ ล่าสุดปี 2567 พบผู้ป่วยเด็กหญิงอายุ 11 ปี ที่จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเดิมป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรงอยู่แล้วแต่สามารถรักษา คุมโรคได้ดี ทำกิจกรรมได้ปกติ แต่ต่อมา 1 เดือนก่อนเข้าโรงพยาบาลพบว่ามีอาการเหนื่อยง่าย ไอ มีเสมหะมาก กระทั่งไม่ไหวต้องมารพ.รักษาในไอซียู เอ็กซเรย์พบปอดอักเสบ ซักประวัติไม่มีคนในครอบครัวสูบบุหรี่ รักษาเต็มที่แต่ไม่ตอบสนองการรักษา ต้องใส่ท่อช่วยหายใจระหว่างนั้นสอบถามเด็กยอมรับว่าสูบบุหรี่ไฟฟ้า จึงรีบให้ยากลุ่มสเตียรอยด์ ทำให้อาการดีขึ้น จากนั้นเด็กเล่าว่าสูบบุหรี่ไฟฟ้าได้ 6 เดือน โดยหาซื้อได้ง่ายในซอยข้างบ้าน จึงเพลิดเพลินกับการทดลองบุหรี่ไฟฟ้าหลายสี หลายรส กระทั่งป่วยต้องมารพ.
"นิโคตินจะทำลายสมองส่วนหน้า ทำให้การทำงานเกี่ยวกับสมองส่วนนี้ลดลง 3-4 เท่า หรือ 100 คะแนน จะทำได้แค่ 30 คะแนน ไม่วันข้างหน้าแก้ปัญหาไม่ได้ ชอบอยู่คนเดียว คิดไม่ออก คิดช้า คุมอารมณ์ไม่ได้ ก้าวร้าว หงุดหงิด เอาแต่ใจ ความจำลดลง ยิ่งหากได้รับตั้งแต่อยู่ในครรภ์จะมีผลกระทบต่อระบบหายใจผิดปกติ หอบ หืด และอื่นๆ เสียชีวิตจากระบบประสาทผิดปกติได้ 4%น้ำหนักตัวน้อย สมาธิสั้น ในการทำลองในหนูพบไปเปลี่ยนแปลงดีเอ็นเอ หมายความว่าจะกระทบไปถึงรุ่นลูก รุ่นหลานด้วย" พล.ร.ต.หญิง พญ.สุพิชชา กล่าว