เครือข่ายนักวิชาการ เครือข่ายครอบครัว และเยาวชน “ยื่นหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร” หลังพบ “พิรุธ” สภาฯ ตั้งกมธ.วิสามัญบุหรี่ไฟฟ้า พบรายชื่อคนเกี่ยวข้องกับบริษัทบุหรี่ ชี้ผิดอนุสัญญาควบคุมยาสูบองค์การอนามัยโลก วอนทบทวนใหม่ ทำภาพลักษณ์ประเทศเสียหาย พร้อมจับตาการเลือกประธาน กมธ.วิสามัญฯ ขอคนเป็นกลาง
มีความรู้ ยึดประโยชน์สุขภาพประชาชนเป็นหลัก
ที่รัฐสภา วันที่ 4 ต.ค.2566 เครือข่ายนักวิชาการ เครือข่ายผู้ปกครอง เครือข่ายครอบครัวและตัวแทนเด็ก เยาวชน 20 คน นำโดย ผศ.ดร.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ได้เข้าพบและยื่นหนังสือถึงนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ทบทวนการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษากฎหมายและมาตรการควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย เมื่อวันที่ 27 ก.ย.66 ที่ผ่านมา โดยนายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้รับหนังสือดังกล่าว
ผศ.ดร.นพ.วิชช์ กล่าวว่า การแต่งตั้งคณะกรรมาธิการฯ มีความไม่ปกติ เนื่องจากพบรายชื่อบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจบุหรี่อย่างน้อย 2 คน โดยบุคคลทั้งสองมีการเคลื่อนไหวผลักดันให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายอย่างต่อเนื่องในนามกลุ่มลาขาดควันยาสูบ ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับธุรกิจบุหรี่ยักษ์ใหญ่ โดยเป็นสมาชิกองค์กรสนับสนุนนิโคตินนานาชาติที่มีประวัติรับเงินสนับสนุนจากองค์กรบังหน้าของธุรกิจยาสูบ และหนึ่งในแกนนำกลุ่มลาขาดควันยาสูบเคยเป็นกรรมการบริหารองค์กรสนับสนุนนิโคตินนานาชาตินี้ และยังดำเนินกิจกรรมในนามองค์กรนี้อย่างต่อเนื่อง การแต่งตั้งบุคคลเกี่ยวข้องกับธุรกิจยาสูบ เข้าร่วมกำหนดนโยบายสาธารณะเกี่ยวกับการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบถือเป็นการขัดต่อกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมการบริโภคยาสูบขององค์การอนามัยโลก มาตรา 5.3 ที่ไทยเป็นรัฐภาคี และเป็นการทำลายภาพลักษณ์ของไทยด้านการควบคุมยาสูบในสายตานานาประเทศที่ไทยได้รับการยกย่องว่ามีความก้าวหน้าในระดับนานาชาตินอกจากนี้ข้อเสนอแนะที่จะออกโดยคณะกรรมาธิการวิสามัญฯชุดนี้จะขาดความน่าเชื่อถือ สร้างความเคลือบแคลงสงสัยจากสังคมว่ามีการแทรกแซงโดยธุรกิจยาสูบอีกด้วย
รศ.ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช รองผู้อำนวยการศูนย์ความรู้สำหรับ มาตรา 5.3 ของกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ไทยได้รับการคัดเลือกจากสำนักเลขาธิการกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก ให้เป็นที่ตั้งของศูนย์ความรู้สำหรับมาตรา 5.3 โดยเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อเป็นศูนย์กลางการให้ความรู้และสนับสนุนให้ประเทศต่างๆ ดำเนินมาตรการตามมาตรา 5.3 เพื่อป้องกันการแทรกแซงจากธุรกิจยาสูบ การที่ไทยดำเนินการละเมิดต่อมาตรา 5.3 เสียเองยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศเสียหาย จึงอยากเรียกร้องไปยังผู้เกี่ยวข้องพิจารณารายชื่อบุคคลที่จะเข้าไปเป็นคณะกรรมาธิการฯ อย่างรอบคอบอีกครั้งเพื่อไม่ให้ธุรกิจยาสูบเข้ามาแทรกแซงการดำเนินนโยบายบุหรี่ไฟฟ้าของประเทศ
นายไพศาล ลิ้มสถิตย์ กรรมการสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย กล่าวว่า ขอเสนอให้ท่านประธานรัฐสภา นำกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ มาตรา 5.3 มาแก้ไขระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อป้องกันการแทรกแซงของธุรกิจยาสูบผ่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ ซึ่งมีหลายประเทศที่นำมาตรา 5.3 มาบังคับใช้กับรัฐสภา เช่น อังกฤษ ออสเตรเลีย นอกจากนี้การนำมาตรา 5.3 มาใช้ยังเป็นการสอดรับกับนโยบายการสร้างรัฐสภาโปร่งใสอีกด้วย
นางฐาณิชชา ลิ้มพานิช ตัวแทนเครือข่ายผู้ปกครอง กล่าวว่า การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯชุดนี้ เพื่อศึกษาปัญหาและอุปสรรค วิเคราะห์ข้อมูล ข้อเท็จจริงจัดทำข้อเสนอแนะและหาแนวทางแก้ไขปัญหาบุหรี่ไฟฟ้า นับเป็นสิ่งที่น่าชมเชยเป็นอย่างยิ่ง ในนามของเครือข่ายครอบครัวและผู้ปกครองขอขอบคุณแทนคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและเยาวชน ที่จะได้รับการดูแลปกป้องจากอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า แต่ยังมีความกังวลเรื่องการแต่งตั้งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจยาสูบมาเป็นกรรมาธิการวิสามัญฯ ชุดนี้
“ขอให้สภาผู้แทนราษฎรยึดมั่นในพันธกรณีที่ไทยในฐานะภาคีอนุสัญญาควบคุมการบริโภคยาสูบขององค์การอนามัยโลก ยืนยันไม่นำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าโดยเครือข่ายฯจะติดตามการทำงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ชุดนี้ โดยเฉพาะการเลือกประธานกรรมาธิการวิสามัญในช่วงบ่ายวันนี้ (4 ต.ค.) ขอให้เลือกประธานที่มีความเป็นกลาง เลือกผู้ที่มีความรู้ ความเข้าใจ ตระหนักและยึดถือถึงผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนเป็นหลัก ขอให้เลือกผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจยาสูบไม่มีความคิด พฤติกรรมที่สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อให้ท่านได้ทำหน้าที่อย่างเป็นกลางในการดูแลสุขภาพของประชาชนและเยาวชนลูกหลานของเรา ซึ่งเป็นอนาคตของประเทศ”นางฐาณิชชากล่าว
ด้านนายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวภายหลังรับหนังสือว่าขอบคุณที่มาแสดงเจตจำนงไม่เห็นด้วยกับการเสนอกฎหมายเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ จากกรณีเด็กอายุ 14 ก่อเหตุยิงปืนในห้างสรรพสินค้า เชื่อว่าเป็นผลมาจากการสูญเสียสติปัญญาสมองได้รับผลกระทบจากสารเสพติดบางอย่าง เชื่อว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้ง 500 คนที่ประชาชนเลือกมาจะรักษาผลประโยชน์ของประชาชน ตระหนักได้ว่าสิ่งนี้จะส่งผลเสียต่อเด็กเยาวชน และยึดหลักความถูกต้องเป็นสำคัญ สำหรับการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษากฎหมายและมาตรการควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยนั้น ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นเพียงคนกลางในการนำประชุม ส่วนการอนุมัติจะเห็นชอบหรือไม่นั้นเป็นหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและหวังว่าสมาชิสภาส่วนใหญ่จะคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนมากกว่านายทุน หรือผู้ที่จะได้รับผลประโยชน์จากการค้าขายบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงโทษของบุหรี่ที่จะส่งผลเสียต่อสุขภาพประชาชนในอนาคต
Credit : https://www.banmuang.co.th/mobile/news/politic/348509