บุหรี่...ภัยร้ายทำลายสิ่งแวดล้อม ส่งผลกระทบทุกขั้นตอน

บุหรี่...ภัยร้ายทำลายสิ่งแวดล้อม ส่งผลกระทบทุกขั้นตอน

โทษของบุหรี่ใช่แค่เพียงผลต่อสุขภาพร่างกายเท่านั้น แต่ข้อมูลจากหลายฝ่ายทำให้พบว่ากระบวนการที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่ในทุกขั้นตอนยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย นั่นหมายความว่า ไม่เพียงแต่ผู้สูบบุหรี่เท่านั้นที่จะได้รับผลกระทบ แต่คนรอบข้าง สังคมโดยรวมก็พลอยได้รับผลกระทบไปด้วย เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก 31 พฤษภาคมของทุกปี ในปีนี้อนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดประเด็นรณรงค์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากยาสูบ ซึ่งมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ได้จัดสัมมนาภาคีเครือข่ายและแถลงข่าวเนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก 2565 “บุหรี่ทำลายสิ่งแวดล้อม” เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อปกป้องสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากยาสูบ ด้วยการสร้างความตระหนักให้แก่ประชาชนถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากวงจรการปลูก การผลิต การจัดจำหน่ายยาสูบ ของเสีย และขยะที่เกิดจากการสูบบุหรี่

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่โลก กล่าวว่า ปีนี้พิเศษกว่าทุกปีที่ผ่านมา เพราะนี่เป็นครั้งแรกที่องค์การอนามัยโลกได้กำหนดประเด็นรณรงค์เกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากยาสูบขึ้นมารณรงค์ เมื่อที่ผ่านมาจะเน้นหนักไปทางสุขภาพต่อตัวผู้สูบและคนรอบข้าง รวมทั้งด้านเศรษฐกิจ ซึ่งในความเป็นจริงๆ แล้วยาสูบสร้างความเสียหายมากกว่าที่คิด โดยเฉพาะขยะก้นบุหรี่และถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่หลายหน่วยงามเริ่มให้ความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ที่มีการออกกฎหมายห้ามสูบบุหรี่บนพื้นที่ชายหาด หลังจากในต่างประเทศได้มีการห้ามมานานแล้ว เช่น ประเทศอเมริกาที่มีห้ามกว่าครึ่งและในเดือนกรกฎาคมนี้ สเปนจะเป็นประเทศแรกในยุโรปที่มีการห้ามสูบบุหรี่ที่ชายหาดทั่วประเทศ

แพทย์หญิง โอลิเวีย นีเวอราส ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไม่ติดต่อ องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวถึงเหตุผลในการขับเคลื่อนของปีนี้ว่า เนื่องจากบุหรี่ทำลายสิ่งแวดล้อมในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การปลูกต้นยาสูบ การผลิต จัดจำหน่าย การสูบ และขยะจากบุหรี่ ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งแก่สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ โดยมีการประมาณการว่าความสูญเสียทางสุขภาพและเศรษฐกิจที่เกิดจากการสูบบุหรี่นั้น มีมูลค่าสูงถึง 3.5 แสนล้านบาทต่อปี เทียบเท่ากับ ร้อยละ 2.1 ของ GPD

ทั้งนี้ ก้นบุหรี่ที่มีส่วนผสมของพลาสติกที่ย่อยสลายยากแล้ว ยังมีสารเคมีกว่า 4,000 ชนิดปกเปื้อนลงสู่ดิน โดย 70 ชนิดเป็นสารก่อมะเร็ง โดยในแต่ละปีบุหรี่ประมาณ 4.5 ล้านล้านมวนถูกทิ้งลงสู่สิ่งแวดล้อม จัดเป็นขยะที่ถูกทิ้งมากที่สุดและเป็นขยะที่พบบ่อยที่สุดบนชายหาด และในแต่ละปีพื้นที่ประมาณ 1.25 ล้านไร่ทั่วโลกถูกแผ้วถางเพื่อการเพาะปลูกและบ่มใบยาสูบ ดังนั้น มาตรการควบคุมการสูบบุหรี่จึงดีต่อทั้งสุขภาพ เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.เนาวรัตน์ เจริญค้า ภาควิชาวิศวกรรมสุขาภิบาล คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ เสริมว่า ความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมจากยาสูบนั้น ทำให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่า ทำให้ดิน น้ำ และอากาศเสื่อมโทรม ยาสูบผลิตขยะพลาสติกและขยะพลาสติกที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพจากตัวกรอง บรรจุภัณฑ์ รวมถึงขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งขยะเหล่านี้มีส่วนทำให้นกทะเล 1 ล้านตัวและสัตว์ทะเล 100,000 ตัว ตายจากมลพิษพลาสติกทุกปี

“อยากเรียกร้องไม่ให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายในประเทศไทย เพราะจากการสำรวจแค่ไฮสคูลที่เดียวก็พบว่าสร้างขยะเกลื่อนกลาด จากการสำรวจพฤติกรรมการทิ้งขยะยังพบว่า ประมาณร้อยละ 65 ของผู้สูบบุหรี่ทิ้งก้นบุหรี่อย่างไม่เหมาะสม (เช่น บนทางเท้า ชายหาด ฯลฯ) ก้นบุหรี่ซึ่งเป็นเศษของตัวกรองบุหรี่พลาสติกเป็นรูปแบบของขยะยาสูบที่มีสารก่อมลพิษและเป็นพิษอันดับต้น ๆ ที่พบในแหล่งน้ำต่าง ๆ ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 10 ปีในการย่อยสลาย โดยขยะจากก้นบุหรี่ประมาณ 2.5 พันล้านชิ้นต่อปีถูกพบในประเทศไทย ในขั้นตอนการเพาะปลูกยาสูบเพียงอย่างเดียว ต้องใช้น้ำในปริมาณเท่ากับคนหนึ่งคนใช้น้ำตลอดทั้งปี วัฏจักรทั้งหมดของบุหรี่หนึ่งมวนนับตั้งแต่การปลูก การผลิต การกระจายผลิตภัณฑ์ การใช้และการกำจัดนั้น จะต้องใช้น้ำประมาณ 3.7 ลิตร ดังนั้น หากผู้สูบบุหรี่ปกติทั่วไปเลิกสูบบุหรี่จะสามารถประหยัดน้ำได้มากถึง 74 ลิตรต่อวัน” ดร.เนาวรัตน์ กล่าว...

Credit : https://www.hfocus.org/content/2022/05/25109


พิมพ์