ข้อมูลทางวิชาการเรื่องการลงทุนเพื่อเพิ่มการเข้าถึงยาช่วยเลิกบุหรี่ในประเทศไทย

ข้อมูลทางวิชาการเรื่องการลงทุนเพื่อเพิ่มการเข้าถึงยาช่วยเลิกบุหรี่ในประเทศไทย

Policy Brief โดย ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) 17 มกราคม 2556 ข้อมูลทางวิชาการเรื่องการลงทุนเพื่อเพิ่มการเข้าถึงยาช่วยเลิกบุหรี่ในประเทศไทย นโยบายสนับสนุนการเลิกบุหรี่ (Offer help to quite tobacco use) เป็นหนึ่งใน 6 นโยบายที่องค์การอนามัยโลกยอมรับว่าเป็นนโยบายที่คุ้มค่าในการลงทุน

ตามแนวทาง MPOWER (Monitor, Protect, Offer, Warn, Enforce, and Raise) ในปัจจุบันแม้ว่าประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในประเทศชั้นนำของโลกที่สามารถนำ มาตรการควบคุมยาสูบต่างๆ มาปฏิบัติใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม แต่จำนวนผู้สูบยังคงสูงอยู่ สาเหตุหนึ่งคือการขาดระบบการให้บริการส่งเสริมการเลิกบุหรี่ และการขาดการเข้าถึงยาช่วยเลิกบุหรี่ข้อมูล ทางวิชาการสนับสนุนว่าการใช้ยาช่วยเลิกบุหรี่ ร่วมกับการให้คำปรึกษาในผู้ที่สูบบุหรี่วันละ 10 มวนขึ้นไปช่วยเพิ่มโอกาสเลิกบุหรี่สำเร็จ

จากการวิจัยพบว่าหากมีการใช้ยาเลิกบุหรี่ร่วมด้วย จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในอนาคตสำหรับการรักษาพยาบาลโรคต่างๆ อันเนื่องจากบุหรี่ประมาณอย่างน้อย 10,000 บาทต่อราย ยาช่วยเลิกบุหรี่ดังกล่าวได้แก่ varenicline, bupropion, nicotine gum และ nicotine patch นอกจากนี้ยังพบว่าทุกบาทที่ลงทุนไป ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายโดยรวมได้ตั้งแต่ 1.7 ถึง 19.8 บาท

Intervention Cost of Intervention Saving incurred Benefit-cost ratio QALY  gained Ranking
#1 #2
Counselling+nortriptyline* 736

14,591

19.8: 1

0.08

1

4

Counselling+varenicline 6,842 27,088 4.08: 1 0.24  2 1
Counselling+NRT gum 3,157 11,608 3.78: 1 0.24  3 5
Counselling+bupropion 5,270 17,147 3.38: 1 0.29  4 2
Counselling+NRT patch 8,870 14,875 1.78: 1 0.46 5 3


ใน แง่ผลกระทบเชิงงบประมาณ โดยใช้หลักการคำนวณที่คำนึงถึงบริบทในแง่จำนวนผู้สูบบุหรี่ จำนวนหน่วยบริการเลิกบุหรี่ และอัตราการเข้าถึงบริการของผู้สูบบุหรี่ ในปัจจุบันมีผู้สูบบุหรี่เป็นประจำ 9.5 ล้านคน ผู้สูบจำนวน 7.2 ล้านคนเป็นผู้สูบบุหรี่ 1-9 มวน (ร้อยละ 75) ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้ยาในการรักษา และมีผู้สูบจำนวน 2.3 ล้านคนที่เป็นผู้สูบบุหรี่ 10 มวนขึ้นไปต่อวันที่ควรได้รับคำปรึกษาร่วมกับยาในการรักษา (ร้อยละ 25) ในปัจจุบันมีหน่วยงานที่ให้บริการเลิกบุหรี่อยู่จำกัด ซึ่งสามารถรองรับผู้สูบบุหรี่ที่ต้องการเลิกได้ 250,775 คนต่อปี แต่ปัญหาที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือการมีผู้มารับบริการเลิกบุหรี่จำนวนน้อย หากสมมติว่ามีผู้สูบบุหรี่ที่ใช้บริการจากหน่วยบริการเลิกบุหรี่ ร้อยละ 50 ของศักยภาพที่มีอยู่ (125,338 คน) โดยให้ผู้ที่สูบบุหรี่ 1-9 มวน เข้าถึงบริการการให้คำปรึกษา และให้ผู้ที่สูบบุหรี่ตั้งแต่ 10 มวนขึ้นไปสามารถเข้าถึงยาได้ โดยกำหนดให้สัดส่วนยาที่ใช้เป็น ยาทดแทนนิโคตินแบบเคี้ยว nortriptyline และ bupropion อย่างละร้อยละ 30 และใช้ varenicline ร้อยละ 10 จะทำให้มีผลกระทบด้านงบประมาณอยู่ที่ 144 ล้านบาทในปีแรก หากตั้งเป้าหมายที่จะขยายการรองรับผู้ป่วยร้อยละ 20 ต่อปีในปีที่ 2-5 จะทำให้มีผลกระทบด้านงบประมาณ 144 ถึง 298 ล้านบาทต่อปี รวมเป็นเงินที่ต้องลงทุนเป็นจำนวน 1,068 ล้านบาทต่อ 5 ปี หากเมื่อคำนวณงบประมาณที่ลงทุนนี้ออกมาเป็นผลได้ พบว่าการลงทุนในปีแรกส่งผลให้ประหยัดค่าใช้จ่ายได้สูงถึง 2,207 ล้านบาท เมื่อคำนวณถึงการประหยัดค่าใช้จ่ายจากการลงทุนตลอด 5 ปีพบว่าจะประหยัดเงินได้สูงถึง 16,422 ล้านบาท

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
ยา ช่วยเลิกบุหรี่ควรได้รับการบรรจุให้อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของประชาชนไทย เนื่องจากการใช้ยาดังกล่าวส่งผลให้ประหยัดต้นทุนที่เกิดจากการรักษาโรคที่ เกิดจากการสูบบุหรี่ในอนาคต และยังทำให้ประชาชนมีชีวิตที่ยืนยาวออกไปอีกด้วย

เอกสารนี้ร่างโดย รศ.ดร.ณธร ชัยญาคุณาพฤกษ์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร วันพฤหัสบดีที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2556 อ้าง อิงจาก จิรบูรณ์ โตสงวน, ณธร ชัยญาคุณาพฤกษ์, จิตปราณี วาศวิท (2554) การประเมินต้นทุนอรรถประโยชน์และผลกระทบด้านงบประมาณของมาตรการส่งเสริมการ เลิกบุหรี่ในประเทศไทย. ใน โครงการศึกษาเพื่อพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ฉบับที่ 1. สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ: นนทบุรี; 193-207


พิมพ์