การประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12

การประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 12

เรื่อง “กลลวงโฆษณาของพ่อค้าบุหรี่” ระหว่างวันที่ 3 – 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น ถ.วิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ การประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติเป็นเวทีวิชาการในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันในแวดวงผู้ที่ทำงานด้านการควบคุมยาสูบทั้งนักวิชาการ นักวิจัย คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ภาคประชาสังคม ตลอดจนผู้สนใจทั่วไปที่จะมีโอกาสได้พบปะ แลกเปลี่ยน

รับฟังการนำเสนอข้อมูลวิชาการที่เกิดขึ้นในรอบปีเพื่อนำไปสู่การพัฒนางานด้านการควบคุมยาสูบในอนาคต
ในปี พ.ศ.2556 องค์การอนามัยโลกได้ให้คำขวัญ “Ban tobacco advertising, promotion and sponsorship” ให้แก่ประเทศสมาชิกและประชาคมโลก ซึ่งประเทศไทยได้ขานรับแนวทางดังกล่าวและได้ให้ความหมายเพื่อเป็นทิศทางในการขับเคลื่อนในสังคมไทย ด้วยคำขวัญว่า “ไม่ใช้ ไม่รับ ไม่สนับสนุนโฆษณายาสูบร้าย ทำลายชีวิต” ซึ่งประเด็นดังกล่าว อยู่ในกรอบอนุสัญญาฯ มาตรา 13 โดยมีเป้าหมายดังนี้ (1) ภาคีทุกฝ่ายพึงตระหนักว่า การห้ามอย่างครอบคลุมเพื่อมิให้มีการโฆษณายาสูบ ส่งเสริมการขายยาสูบ และการให้การสนับสนุนโดยยาสูบนั้นจะช่วยลดปริมาณการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบ (2) ให้ภาคีแต่ละฝ่ายดำเนินการห้ามอย่างครอบคลุมเพื่อมิให้มีการโฆษณายาสูบ ส่งเสริมการขายยาสูบและการให้การสนับสนุนโดยยาสูบ ทั้งนี้ เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญของภาคีนั้นนอกจากนี้ ภายใต้บังคับบริบทแวดล้อมทางกฎหมายและวิธีการทางเทคนิคซึ่งภาคีนั้นสามารถนำมาใช้ได้ ความในข้อนี้ให้รวมถึง การห้ามอย่างครอบคลุมเพื่อมิให้มีการโฆษณายาสูบข้ามพรมแดน การส่งเสริมการขายยาสูบหรือการให้การสนับสนุนโดยยาสูบ ซึ่งเริ่มขึ้นจากภายในอาณาเขตของรัฐตนในเรื่องนี้ภายใน 5 ปี นับแต่วันที่อนุสัญญานี้มีผลบังคับกับภาคีรายนั้น ให้ภาคีแต่ละฝ่ายดำเนินมาตรการทางนิติบัญญัติ มาตรการทางบริหารมาตรการทางปกครอง หรือมาตรการอื่นๆ ที่เหมาะสม (3) ให้ภาคีทุกฝ่ายร่วมมือกันพัฒนาเทคโนโลยี และวิธีการอื่นที่จำเป็นต่อการเอื้อให้การโฆษณายาสูบข้ามพรมแดนหมดสิ้นไป และ (4) ให้ภาคีพิจารณาถึงการขยายความในอนุสัญญานี้ โดยพิธีสารซึ่งกำหนดมาตรการที่เหมาะสมให้มีความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อการห้ามอย่างครอบคลุม มิให้มีการโฆษณายาสูบ การส่งเสริมการขายยาสูบ และการให้การสนับสนุนของยาสูบอันมีลักษณะข้ามพรมแดน
ดังนั้นจึงเป็นภารกิจที่ท้าทายในการทำงานควบคุมยาสูบ ที่เรียกร้องพลังจากสถาบันสังคม หน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และบุคคลต่าง ๆ ในสังคมที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสื่อ ที่จะต้องร่วมมือกันในการสร้างบทบาทของทุกภาคส่วนในการควบคุมยาสูบ ที่สอดคล้องกับความมุ่งหวังดังที่ปรากฏในคำขวัญวันงดบุหรี่โลกในปีนี้ รวมทั้งรูปแบบบริการการเลิกบุหรี่ และสิ่งแวดล้อมที่ปลอดจากพิษภัยของบุหรี่ ซึ่งการจัดเวทีประชุมวิชาการ ฯ ครั้งนี้จึงถือเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจที่ภาคีผู้ร่วมจัดงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลายจะได้มีส่วนร่วมกันในการแสดงพลังในควบคุมยาสูบของประเทศไทย
ฉะนั้นศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย ศูนย์เลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์ มูลนิธิเพื่อสังคมปลอดบุหรี่ (SEATCA) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ จึงได้จัดให้มีการประชุมวิชาการ “บุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ” ครั้งที่ 12 เรื่อง “กลลวง โฆษณา พ่อค้าบุหรี่” เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เชื่อมโยงภาคีเครือข่าย รวมทั้งส่งเสริมการทำงานของประชาคม เพื่อผลักดันให้เกิดนโยบายสาธารณะ ที่จะส่งผลต่อการควบคุมการบริโภคยาสูบได้ในอนาคต


พิมพ์