การประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 10

การประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 10

เรื่อง “FCTC เพื่อสังคมไทยไร้ควันบุหรี่” วันที่ 24–26 สิงหาคม 2554 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น ถ.วิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ ความเป็นมา การประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติเป็นเวทีวิชาการในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันในแวดวงผู้ที่ทำงานด้านการควบคุมยาสูบทั้งนักวิชาการ นักวิจัย คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ภาคประชาสังคม ตลอดจนผู้สนใจทั่วไปที่จะมีโอกาสได้พบปะ แลกเปลี่ยน

รับฟังการนำเสนอข้อมูลวิชาการที่เกิดขึ้นในรอบปีเพื่อนำไปสู่การพัฒนางานด้านการควบคุมยาสูบในอนาคต

ในปี พ.ศ. 2554 องค์การอนามัยโลกได้ให้คำขวัญ “The WHO Framework Convention on Tobacco Control - FCTC” ให้แก่ประเทศสมาชิกและประชาคมโลก โดยให้ความสำคัญเพื่อให้ทุกประเทศให้ความสำคัญกับการดำเนินการตามกรอบ อนุสัญญาควบคุมการบริโภคยาสูบ ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ ปี ค.ศ.2005 (พ.ศ.2548) นานาชาติได้ให้การต้อนรับกับกฎหมายควบคุมยาสูบโลกฉบับนี้ ด้วยการมีสมาชิกในประเทศต่างๆ ลงนามในสนธิสัญญานี้ มากกว่า 170 ประเทศ ซึ่งเป็นสนธิสัญญาเดียวของโลกที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ สนธิสัญญานี้เป็นการยืนยันถึงสิทธิของประชาชน ในมาตรการด้านสุขภาพที่เข้มแข็งที่สุด และก่อให้เกิดความร่วมมือด้านกฎหมายควบคุมยาสูบระหว่างประเทศทั่วโลก ประเทศที่ร่วมลงนามในอนุสัญญาและพิธีสาร เป็นพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศรัฐภาคีต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ ซึ่งประเทศไทยได้ขานรับแนวทางดังกล่าวและได้ให้ความหมายเพื่อเป็นทิศทางในการขับเคลื่อนในสังคมไทย ด้วยคำขวัญว่า “พิทักษ์สิทธิตามกฎหมาย มุ่งสู่สังคมไทยปลอดบุหรี่” ซึ่งคำขวัญของสังคมไทยแสดงให้เห็นถึงเจตนารมย์ในการทำงานควบคุมยาสูบ โดยในส่วนของประเทศไทยได้กำหนดยุทธศาสตร์และมาตรการในการควบคุมการบริโภคยาสูบตามข้อกำหนดของอนุสัญญา โดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จึงมีคำสั่ง 218/2552 ลงวันที่ 10 มีนาคม 2552 เรื่องแต่งตั้งคณะอนุกรรมการและคณะทำงานจัดทำแผนควบคุมการบริโภคยาสูบแห่งชาติ โดยได้ดำเนินการจัดทำยุทธศาสตร์ควบคุมยาสูบแห่งชาติ พ.ศ.2553-2557 โดยผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการควบคุมการบริโภคยาสูบแห่งชาติ (คบยช.) แล้วเมื่อ 22 เมษายน 2553 โดยได้พัฒนาการดำเนินการควบคุมการบริโภคยาสูบของประเทศใน 8 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การป้องกันมิให้เกิดผู้บริโภคยาสูบรายใหม่ ยุทธศาสตร์ที่ 2 การส่งเสริมให้ผู้บริโภคลด และเลิกใช้ยาสูบ ยุทธศาสตร์ที่ 3 การลดพิษภัยของผลิตภัณฑ์ยาสูบ ยุทธศาสตร์ที่ 4 การสร้างสิ่งแวดล้อมให้ปลอดควันบุหรี่ ยุทธศาสตร์ที่ 5 การสร้างเสริมความเข้มแข็งและพัฒนาขีดความสามารถในการดำเนินงานควบคุมยาสูบของประเทศ ยุทธศาสตร์ที่ 6 การควบคุมการค้าผลิตภัณฑ์ยาสูบที่ผิดกฎหมายยุทธศาสตร์ที่ 7 การแก้ปัญหาการควบคุมยาสูบโดยใช้มาตรการทางภาษี และยุทธศาสตร์ที่ 8 การเฝ้าระวังและควบคุมอุตสาหกรรมยาสูบ

ดังนั้นจึงเป็นภารกิจที่ท้าทายในการทำงานควบคุมยาสูบ ที่เรียกร้องพลังจากสถาบันสังคม หน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และบุคคลต่าง ๆ ในสังคมที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสื่อ ที่จะต้องร่วมมือกันในการสร้างบทบาทของทุกภาคส่วนในการควบคุมยาสูบ ที่สอดคล้องกับความมุ่งหวังดังที่ปรากฏในคำขวัญวันงดบุหรี่โลกในปีนี้ รวมทั้งรูปแบบบริการการเลิกบุหรี่ และสิ่งแวดล้อมที่ปลอดจากพิษภัยของบุหรี่ ซึ่งการจัดเวทีประชุมวิชาการฯ ครั้งนี้จึงถือเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจที่ภาคีผู้ร่วมจัดงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลายจะได้มีส่วนร่วมกันในการแสดงพลังในควบคุมยาสูบของประเทศไทย
ฉะนั้นศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย ศูนย์เลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์ มูลนิธิเพื่อสังคมปลอดบุหรี่ (SEATCA) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ จึงได้จัดให้มีการประชุมวิชาการ “บุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ” ครั้งที่ 10 เรื่อง “FCTC เพื่อสังคมไทยไร้ควันบุหรี่” เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เชื่อมโยงภาคีเครือข่าย รวมทั้งส่งเสริมการทำงานของประชาคม เพื่อผลักดันให้เกิดนโยบายสาธารณะ ที่จะส่งผลต่อการควบคุมการบริโภคยาสูบได้ในอนาคต

วัตถุประสงค์

  • เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางด้านวิชาการ และประสบการณ์การดำเนินงานควบคุมยาสูบของภาคีเครือข่ายกลุ่มต่างๆ
  • เพื่อหาแนวทางการดำเนินงานควบคุมการบริโภคยาสูบร่วมกัน
  • เพื่อเชื่อมประสานความร่วมมือในการควบคุมยาสูบในกลุ่มบุคคล องค์กร/สถาบันทั้งภาครัฐ/ภาคเอกชนและประชาชน

กลุ่มเป้าหมาย ผู้เข้าร่วมประชุมจากเครือข่ายต่าง ๆที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมยาสูบ ประมาณ 600 คน ประกอบด้วย

  • เครือข่ายวิชาชีพด้านสุขภาพได้แก่ แพทย์ เภสัชกร ทันตแพทย์ พยาบาล กายภาพบำบัด เทคนิคการแพทย์ สาธารณสุข หมออนามัย นักจิตวิทยา แพทย์แผนไทย แพทย์แผนจีน เวชนิทัศน์
  • หน่วยงานด้านการศึกษา ได้แก่ ครู อาจารย์ นักเรียน นิสิต นักศึกษา นักวิชาการ นักวิจัยจากสถาบันการศึกษาในทุกระดับชั้น
  • หน่วยงานราชการ ได้แก่ กรมควบคุมโรค กรมอนามัย สำนักงานสถิติแห่งชาติ กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร กรมสรรพากร สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ
  • กองบัญชาการทหารสูงสุด กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติฯ
  • องค์กรพัฒนาเอกชนสาธารณะประโยชน์ ได้แก่ มูลนิธิ สมาคม สถาบันที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการควบคุมยาสูบ
  • องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น ผู้ที่ปฏิบัติงานอยู่ในองค์การบริหารส่วนจังหวัด ตำบลและเทศบาล
  • บุคคลผู้สนใจทั่วไป เช่น พระสงฆ์ นักบวช อสม. ผู้ดำเนินรายการวิทยุชุมชน ประชาชนในชุมชนต่างๆ ที่สนใจเข้าร่วมประชุม

พิมพ์