วอน "อนุทิน" ดัน "ยาเลิกบุหรี่" เข้าบัญชียาหลักฯ ชื่นชมจุดยืนห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า

วอน "อนุทิน" ดัน "ยาเลิกบุหรี่" เข้าบัญชียาหลักฯ ชื่นชมจุดยืนห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า

ข่าวสารบุหรี่ ฮิต: 353

วอน "อนุทิน" ดัน "ยาเลิกบุหรี่" เข้าบัญชียาหลักฯ ชื่นชมจุดยืนห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า เผยแพร่: 11 ธ.ค. 2562 15:47 โดย: ผู้จัดการออนไลน์ | องค์กรต้านบุหรี่ ยื่นหนังสือถึง "อนุทิน" ชื่นชมแสดงจุดยืนต้านนำเข้า "บุหรี่ไฟฟ้า" ชี้มีอันตรายชัดเจน พร้อมวอนช่วยผลักดัน "ยาเลิกบุหรี่" เข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ คุ้มทุนกว่ารักษาผู้ป่วยที่สูบบุหรี่ เผยมี 2.3 ล้านคนติดบุหรี่หนักจนเลิกไม่ได้

วันนี้ (11 ธ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่คงกฎหมายห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า เพราะบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตราย ซึ่งปรากฏให้เห็นแล้ว

ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ ประธานสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ กล่าวว่า ตามที่นายอนุทิน ได้ประกาศยืนยันการคงกฎหมายห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย และรับทราบถึงผู้ป่วยปอดอักเสบจากบุหรี่ไฟฟ้ารายแรกของประเทศไทย โดยระบุในเฟซบุ๊กของท่านว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีอันตราย และอันตรายได้ปรากฏให้เห็นแล้ว เลิกได้เลิกเถอะครับ ทั้งบุหรี่ปกติและบุหรี่ไฟฟ้า อันตรายทั้งหมด ดังนั้น ในนามของสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ ศจย. และภาคีเครือข่ายในการรณรงค์เพื่อการควบคุมยาสูบทั้งหลาย ขอกราบขอบพระคุณ นายอนุทิน เป็นอย่างสูงที่ห่วงใยสุขภาพของประชาชนคนไทย

ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี กล่าวว่า ในโอกาสนี้ภาคีเครือข่ายได้ขอความกรุณาต่อนายอนุทิน ให้ช่วยผลักดัน "ยารักษาโรคเสพติดยาสูบ" เข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อช่วยรักษาผู้สูบบุหรี่ที่มีพฤติกรรมการสูบหนัก ซึ่งในการให้ยาจะมีความคุ้มทุนมากกว่าการรักษาผู้ป่วยจากการสูบบุหรี่ แม้ว่ายาช่วยเลิกบุหรี่มีบริการอยู่แล้ว แต่ผู้ป่วยต้องจ่ายเงินเอง ซึ่งยาถือว่ามีความจำเป็นสำหรับรายที่ติดบุหรี่อย่างหนักจนไม่สามารถเลิกได้ด้วยเอง ซึ่งมีประมาณ 2.3 ล้านคน การทำให้ผู้ติดบุหรี่อย่างหนักได้เข้าถึงยาช่วยเลิกบุหรี่จะช่วยลดความสูญเสียด้านสุขภาพและค่าใช้จ่ายของรัฐได้มาก เพราะเมื่อเทียบความสูญเสียในผู้ป่วยโรคเดียวกัน ระหว่างผู้ที่สูบบุหรี่กับไม่สูบ พบว่าผู้สูบบุหรี่ต้องนอนโรงพยาบาลนานกว่าผู้ไม่สูบบุหรี่ร้อยละ 40 และรัฐจะต้องจ่ายค่ารักษาโรคให้แก่ผู้สูบสูงกว่าคนไม่สูบถึงร้อยละ 60

ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ผอ.ศจย. กล่าวว่า ปัจจุบันหลายประเทศได้ออกกฎหมายห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า เนื่องจากพบผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เดิมเปิดเสรีในการผลิตและขายบุหรี่ไฟฟ้า แต่ปัจจุบันมีสูบบุหรี่ไฟฟ้าป่วยปอดอักเสบรุนแรง 2,291 ราย ตาย 48 ราย ทำให้หลายรัฐในสหรัฐฯ เริ่มออกกฎหมายห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าแล้วเช่นกัน และในประเทศไทยก็ได้พบผู้ป่วยปอดอักเสบ จากบุหรี่ไฟฟ้าเป็นรายแรกของประเทศแล้ว ดังนั้นการที่ นายอนุทิน กล้าประกาศความจริงให้ประชาชนไทยได้รับรู้ว่า ‘บุหรี่ไฟฟ้ามีอันตราย และอันตรายได้ปรากฏให้เห็นแล้ว’ นับเป็นการกระทำที่กล้าหาญ ควรแก่การยกย่องเป็นอย่างยิ่ง เพราะถือว่าท่านได้ก้าวออกมาปกป้องประชาชนของท่านโดยไม่เกรงกลัวสิ่งใด อีกทั้งช่วยยืนยันถึงพิษภัยของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าที่มีอยู่จริง ไม่ให้ประชาชนหลงเชื่อข้อมูลผิดๆ

รายละเอียดข่าวที่: https://mgronline.com/qol/detail/9620000118292

พิมพ์