ห่วง "บุหรี่ไฟฟ้า" ทำลายสิ่งแวดล้อม ชี้แบตเตอรีลิเธียมไอออน ทำปนเปื้อนทั้งพลาสติก นิโคติน โลหะหนัก

ห่วง "บุหรี่ไฟฟ้า" ทำลายสิ่งแวดล้อม ชี้แบตเตอรีลิเธียมไอออน ทำปนเปื้อนทั้งพลาสติก นิโคติน โลหะหนัก

ข่าวสารบุหรี่ ฮิต: 671

นักวิชาการ ห่วง "บุหรี่ไฟฟ้า" ทำลายสุขภาพ พ่วงสิ่งแวดล้อม เหตุขยะจากบุหรี่ไฟฟ้า โดยเฉพาะแบตเตอรีลิเธียมไอออน ทำสิ่งแวดล้อมปนเปื้อน ทั้งพลาสติก นิโคติน โลหะหนัก วันนี้ (11 ต.ค.) รศ.ดร.เนาวรัตน์ เจริญค้า อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสุขาภิบาล คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะทำงานศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.)

กล่าวถึงกรณีคนตายจากบุหรี่ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ว่า ขณะนี้มีผู้เสียชีวิตจากบุหรี่ไฟฟ้าแล้ว 26 คน ใน 21 รัฐ และป่วยโรคปอด 1,299 ราย ใน 49 รัฐ ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการจาก ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม บุหรี่ไฟฟ้าไม่เพียงทำลายสุขภาพ ยังทำลายสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ซึ่งจากรายงานอันตรายจากขยะที่เกิดจากบุหรี่ไฟฟ้า โดยสำรวจการปนเปื้อนสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากบุหรี่ไฟฟ้าบริเวณอ่าวซานฟรานซิสโก ปี 2561-2562 โดยกลุ่มตัวอย่างคือ นักเรียนมัธยม 18,831 คน ในโรงเรียนมัธยม 12 แห่ง ผลการศึกษาพบว่า ของเสียจากผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้า มีพลาสติก นิโคติน และโลหะหนัก ตลอดจนสารพิษอื่นๆ ในแบตเตอรีลิเธียมไอออน เป็นอันตรายปนเปื้อนสิ่งแวดล้อม เนื่องมาจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้นอย่างก้าวกระโดดของเยาวชนในสหรัฐฯ ทำให้เกิดขยะทำลายสิ่งแวดล้อมจำนวนมาก

รศ.ดร.เนาวรัตน์ กล่าวว่า กลุ่มวิจัย Euromonito ระบุว่า ถ้าไม่มีการห้ามใช้บุหรี่ไฟฟ้าอย่างจริงจัง ในปี 2564 คนสูบบุหรี่ไฟฟ้าทั่วโลกจะสูงถึงประมาณ 55 ล้านคน และจะมีอุปกรณ์บุหรี่ไฟฟ้านับล้านที่จะถูกกำจัดอย่างไม่เหมาะสม ทั้งนี้ กล่าวได้ว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้านอกจากจะได้รับการประกาศว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพที่ร้ายแรง ยังสร้างภัยพิบัติครั้งใหญ่ในการทำลายสิ่งแวดล้อมอีกด้วย โดยในปี 2560 สหรัฐมีอุปกรณ์บุหรี่ไฟฟ้า 565 ประเภทในตลาด และมี 184 ชนิดที่ใช้แล้วหมดหรือใช้ครั้งเดียว ซึ่งเมื่อทิ้งผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะเป็นขยะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และอีกประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือการระเบิดของบุหรี่ไฟฟ้า โดยสถานการณ์การระเบิดของบุหรี่ไฟฟ้าของสหรัฐ ปี 2558 – 2559 ระบุว่า บุหรี่ไฟฟ้าเกิดระเบิดประมาณ 2,035 ครั้ง ทำให้มีผู้บาดเจ็บต้องเข้าฉุกเฉินของโรงพยาบาล ซึ่งเมื่อวันที่ 9 ต.ค. ที่ผ่านมา สหภาพแอร์โฮสเตสของสหรัฐ ได้เรียกร้องไปยัง สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติ ไม่ให้มีการนำบุหรี่ไฟฟ้าขึ้นเครื่องบิน เพราะเสี่ยงต่อการระเบิดบนเครื่องบิน

"ปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าไม่ใช่แค่ปัญหาเรื่องสุขภาพเท่านั้น ยังสร้างปัญหาให้เกิดกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ดีใจที่ประเทศไทยยังคงมาตรการห้ามนำเข้า ซึ่งถือเป็นมาตรการที่นอกจากจะคุ้มครองสุขภาพของคนไทยแล้ว ยังคุ้มครองสิ่งแวดล้อมอีกด้วย" รศ.ดร.เนาวรัตน์กล่าว

Credit : เผยแพร่: 11 ต.ค. 2562 14:29 โดย: ผู้จัดการออนไลน์
https://mgronline.com/qol/detail/9620000098188

พิมพ์