ดับฝัน “บุหรี่ไฟฟ้า” เผยลดสูบไม่เกิน 10% ชี้สร้างความสูญเสีย 500 ล้านบาท/ปี

ดับฝัน “บุหรี่ไฟฟ้า” เผยลดสูบไม่เกิน 10% ชี้สร้างความสูญเสีย 500 ล้านบาท/ปี

มีตัวเลขประมาณการค่าสูญเสียทางเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงกว่า 500 ล้านบาทต่อปี อีกทั้งยังระบุว่าบุหรี่ไฟฟ้าช่วยให้เลิกสูบได้ไม่เกิน 10% ซึ่งยังคงมีการเสนอให้คงมาตรการห้ามนำเข้า รวมถึงผลักดันให้สื่อสังคมออนไลน์แบนการโฆษณาซื้อขาย

ไทยยังคงห้ามผลิต-นำเข้า-จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า
ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันในวงกว้างถึงบุหรี่ไฟฟ้า ที่ควรจะคงการควบคุมไว้หรือปลดล็อก ซึ่งในการประชุมการขับเคลื่อนเชิงนโยบายการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าของประเทศไทย โดยศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคณะทำงานศึกษาทบทวนมาตรการควบคุมบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ หรือบุหรี่ไฟฟ้า ที่กระทรวงพาณิชย์แต่งตั้งขึ้น ได้เสนอความเห็นเพื่อการคงไว้ซึ่งมาตรการนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า อันเป็นมาตรการที่เหมาะสมในการคุ้มครองสุขภาพและปกป้องเยาวชนไทยจากภัยบุหรี่ไฟฟ้า

คุณจิระวัฒน์ อยู่สะบาย จากกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าขณะนี้บุหรี่ไฟฟ้าถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย เนื่องจากมีกฎหมายควบคุมอย่างเด็ดขาด เริ่มตั้งแต่การห้ามนำเข้า ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องกำหนดให้บารากู่ และบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า เป็นสินค้าต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ.2557 ซึ่งผู้ที่ฝ่าฝืนลักลอบนำเข้าจะต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับเป็นเงิน 5 เท่าของสินค้าหรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงให้ริบสินค้า และพาหนะที่ใช้ในการบรรทุกสินค้านั้นด้วย

นอกจากนี้ บุหรี่ไฟฟ้ายังเป็นสินค้าที่ห้ามขาย หรือให้บริการ ตามคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 9/2558 ซึ่งกำหนดโทษสำหรับผู้ประกอบธุรกิจทั่วไป ให้จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากผู้ที่กระทำผิดเป็นผู้ประกอบธุรกิจในฐานะผู้ผลิต ผู้สั่ง หรือผู้ที่นำเข้ามาเพื่อขาย ต้องรับโทษเพิ่มสูงขึ้นเป็นจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

รวมถึงหากมีผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าในสถานที่สาธารณะที่กำหนดให้เป็นเขตปลอดบุหรี่ เช่น ในโรงเรียน โรงพยาบาล ตลาด เป็นต้น ถือว่าฝ่าฝืนมาตรา 42 พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท และสำหรับกรณีของผู้ที่ช่วยซ่อนเร้น ซื้อ รับไว้ หรือมีบุหรี่ไฟฟ้าไว้ในครอบครอง ต้องได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 246 พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 ซึ่งมาตรการทางกฎหมายไทยถือว่าสอดคล้องกับนโยบายและมาตรการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าในหลายประเทศทั่วโลก

ด้าน ภญ.ดร.อรลักษณ์ พัฒนาประทีป คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า จากการประมาณค่าความสูญเสียที่เกิดจากบุหรี่ไฟฟ้าในเชิงเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข พบว่า ผลกระทบจากค่าใช้จ่ายในการรักษาและค่าเสียโอกาสในการเกิดโรคต่อปีเท่ากับ 534,571,710 บาท ซึ่งเป็นความสูญเสียทางเศรษฐศาสตร์และสุขภาพของเยาวชนและประชาชนไทยที่ต้องแบกรับภาระจากบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์

ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้ามีอัตราการเลิกบุหรี่ไม่เกิน 10%
ในส่วนประเด็นโทษของบุหรี่ไฟฟ้าที่กระทบต่อสุขภาพและสังคมนั้น พญ.นภารัตน์ อมรพุฒิสถาพร จากคณะแพทยศาสตร์ รพ. รามาธิบดี เปิดเผยว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์เสพยาสูบหรือเสพนิโคติน ที่ใช้การทำให้สารน้ำเกิดความร้อน และระเหยเป็นไอน้ำ โดยที่ไม่เกิดควันจากการเผาไหม้ ผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าในตลาดมากกว่า 95% มีสารนิโคตินเป็นส่วนผสมอยู่ในสารน้ำ ซึ่งทำให้ติดสารนิโคตินได้ โดยมีผู้นำบุหรี่ไฟฟ้ามาเป็นทางเลือกเพื่อเป็นตัวช่วยเลิกบุหรี่ แต่ข้อมูลพบว่าผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้ามีอัตราการเลิกบุหรี่เพียง 5-9% และหากคนที่สูบบุหรี่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นตัวช่วยเลิกบุหรี่เทียบกับคนที่ไม่ได้ใช้ โอกาสเลิกบุหรี่ยังลดลงไปกว่าเดิมถึง 27%

บุหรี่ไฟฟ้านอกจากมีนิโคตินที่มีอานุภาพการเสพติดสูงกว่าเฮโรอีน ผู้เสพสามารถเพิ่มสารนิโคตินในการสูบแต่ละครั้งได้สูงกว่าบุหรี่ธรรมดากว่า 3-10 เท่า ยังทำให้อัตราการเต้นของหัวใจสูง ความดันโลหิตสูง มีภาวะหลอดเลือดสมองหดตัวเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมอง มีโลหะหนัก เช่น นิเกิล โครเมียมที่มีพิษต่อปอด แคดเมียมที่มีพิษต่อไต สารก่อมะเร็งอย่าง เบนซีน อะเซตตัลดีไฮด์ เป็นต้น สารบางชนิดซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของตัวทำละลายของเหลวที่ใช้ในบุหรี่ไฟฟ้า เมื่อโดนความร้อนเป็นไอน้ำจะแปรเปลี่ยนเป็นสารก่อมะเร็งได้คือ ไดเอทธิลีนไกลคอล และสารกลีเซอรอล สารแต่งกลิ่นผลไม้หรือกลิ่นหอมเพื่อเพิ่มจำนวนนักสูบหน้าใหม่ก็มีฤทธิ์ทำลายเยื่อบุหลอดลม มีการปลดปล่อยอนุภาคขนาดเล็กมาก PM 2.5 และอนุภาคนาโนที่แทรกซึมเข้าร่างกาย เป็นการสะสมพิษไปก่ออันตรายในอวัยวะได้ทั่วร่างกาย ยังทำให้เกิดการติดบุหรี่กว่าเดิม โดยเฉพาะในผู้ที่ใช้คู่กันกับบุหรี่ธรรมดา เช่น ในอาคาร ในรถใช้บุหรี่ไฟฟ้า นอกอาคารใช้บุหรี่ธรรมดา เป็นต้น

ขณะที่ ผศ.ดร.สุนิดา ปรีชาวงษ์ จากคณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาฯ เผยถึงรายงานการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มนักเรียนมัธยมที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นที่นิยมมากขึ้น โดยมีการใช้เพิ่มขึ้นถึง 74% อีกทั้งในปี 2560 มีงานวิจัยที่ศึกษาติดตามในระยะยาวเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า 9 เรื่อง ครอบคลุมกลุ่มวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ตอนต้น อายุระหว่าง 14-30 ปี พบว่าผู้ที่เคยใช้บุหรี่ไฟฟ้ามีโอกาสที่จะเริ่มสูบบุหรี่ 30.4% ในขณะที่ผู้ไม่เคยใช้แนวโน้มที่จะเริ่มสูบเท่ากับ 7.9% นอกจากนี้ผู้ที่เคยใช้บุหรี่ไฟฟ้ามีโอกาสที่จะเริ่มต้นสูบบุหรี่ชนิดอื่นๆ มากกว่าผู้ที่ไม่เคยลองใช้เกือบ 4 เท่า

หรือที่ไต้หวัน พบว่านักเรียนระดับมัธยมที่เคยใช้บุหรี่ไฟฟ้ามีแนวโน้มที่เริ่มสูบบุหรี่ในภายหลัง มากกว่าผู้ที่ไม่เคยใช้ และมีแนวโน้มที่จะใช้ทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ธรรมดาเพิ่มจาก 0.9% ในปี 2557 เป็น 1.6% ในปี 2559 ที่สำคัญยังทำให้มีโอกาสที่จะสูบกัญชามากกว่าคนที่ไม่เคยใช้ 3.47 เท่า ยิ่งอายุน้อยและใช้ทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและสูบบุหรี่ก็ยิ่งมีแนวโน้มสูบกัญชามากขึ้น จึงมีการห้ามโฆษณาว่าบุหรี่ไฟฟ้าที่ปราศจากนิโคตินเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยเลิกบุหรี่ แต่ยังมีช่องว่างของกฎหมายทำให้เยาวชนยังหาซื้อบุหรี่ไฟฟ้าได้ โดยเฉพาะทางอินเทอร์เน็ตเช่นเดียวกับไทย

พบใช้โซเชียลมีเดียเจาะตลาด ชงรัฐให้คุมเข้มห้ามขาย-โฆษณา
ขณะเดียวกันมีการพบว่ามีการใช้สื่อโซเชียลมีเดียเพื่อเจาะตลาดซื้อขาย และเข้าถึงกลุ่มเยาวชน ทำให้ในการประชุมการขับเคลื่อนเชิงนโยบายการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าของประเทศไทย ได้เสนอแนะไปยังหน่วยงานรัฐเพื่อขอให้ทาง Facebook และ Line คุมเข้ม โดยการห้ามขาย และห้ามโฆษณาบุหรี่ไฟฟ้า

ผศ.ดร.ศรีรัช ลาภใหญ่ ลอยสมุทร นักวิชาการจากวิทยาลัยนิเทศศาสตร์ ม.รังสิต กล่าวถึงผลจากการศึกษาสถานการณ์การแพร่กระจายผลิตภัณฑ์ยาสูบอิเล็กทรอนิกส์ในช่องทางการสื่อสารออนไลน์: ข้อเสนอแนะจากงานวิจัยต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและการควบคุมยาสูบในประเทศ ไทย พบว่าผู้ค้าบุหรี่ไฟฟ้าใช้สื่อออนไลน์และสื่อโซเชียลมีเดียทุกประเภทเพื่อการแพร่กระจายผลิตภัณฑ์ รวมจำนวน 357 ID โดย Facebook พบมากที่สุด รองลงมาคือ Line ตามด้วยเว็บไซต์, Instagram และ Twitter

ขณะที่ผลกระทบจากการเปิดรับสื่อโซเชียลมีเดียที่เผยแพร่บุหรี่ไฟฟ้า พบว่าก่อความเชื่อผิด โดย 34% เชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่เสพติด ส่วน 32.2% เชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่ก่อมะเร็งปอด และ 39% เชื่อว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าคือการสูบควันไอน้ำเท่านั้น ดังนั้นเพื่อควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพ ภาครัฐควรขอความร่วมมืออย่างเป็นทางการกับผู้ให้บริการช่องทางสื่อออนไลน์ที่สำคัญคือ Facebook Thailand และ Line Thailand โดยเฉพาะการห้าม โฆษณา การตลาดเพื่อจำหน่ายบุหรี่ทุกประเภท

ชี้นานาชาติเริ่มคุมบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น
สำหรับสถานการณ์การใช้บุหรี่ไฟฟ้าในต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มอาเซียนได้มีการห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า ได้แก่ ประเทศบรูไน กัมพูชา ลาว สิงคโปร์ และติมอร์-เลสเต และในหลายประเทศของเอเชีย เช่น อิหร่าน จอร์แดน คูเวต เลบานอน โอมาน กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย ศรีลังกา ไต้หวัน ตุรกี เติร์กเมนิสถาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รวมถึงอิสราเอล เป็นต้น ซึ่งบุหรี่ไฟฟ้าบางยี่ห้อมีสารนิโคตินสูงถึง 59 mg/mL ซึ่งสูงกว่าบุหรี่ อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ 6-30 mg และเกินมาตรฐาน ของสหภาพยุโรปกำหนด

ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ผอ.ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ ม.มหิดล ได้ยกตัวอย่างในหลายความพยายามที่จะออกกฎหมายห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า โดยในฮ่องกง และอินเดีย หวั่นต่อการเสพติดของเยาวชนในประเทศ หรือสหรัฐอเมริกา สำรวจพบการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเด็กมัธยมศึกษามากกว่าวัยอื่น อีกทั้ง 90% ของผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าเริ่มต้นก่อนอายุ 18 ปี จะนำไปสู่การเสพยาเสพติดประเภทอื่น และเป็นอันตรายต่อการพัฒนาสมอง ดังนั้นการห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าจึงเป็นเรื่องสมควร เพราะนานาประเทศก็มีการควบคุมไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้น

ทั้งนี้ ล่าสุด นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศว่าจะคงมาตรการห้ามนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศ และยืนยันว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นอันตราย เพราะจะส่งผลต่อเด็กและเยาวชน ซึ่งคงต้องติดตามดูว่าจะมีความเข้มงวดในการประกาศต่อไปอย่างไร

ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ - ผอ.ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ ม.มหิดล
“ขอชื่นชม คุณอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่มีจุดยืนเพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนอย่างชัดเจน ศจย. ได้ให้ความสำคัญในประเด็นการวิจัยเพื่อควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อให้มีมาตรการจำกัดการเข้าถึง โดยเฉพาะการป้องกันนักสูบหน้าใหม่ในกลุ่มเยาวชน การคุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ และการศึกษาผลกระทบทางสุขภาพ เศรษฐกิจ โดยพบว่า ไทยเป็น 1 ใน 55 ประเทศทั่วโลกที่มีมาตรการปกป้องคุ้มครองจากบุหรี่ไฟฟ้า และมีกฎหมายหลายฉบับครอบคลุมว่า บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แสดงให้เห็นว่า ต้องการมุ่งที่จะคุ้มครองสุขภาพประชาชนไทย โดยเฉพาะเยาวชนของชาติ”

คุณอนุทิน ชาญวีรกูล - รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข
“ประเด็นบุหรี่ไฟฟ้าที่มีความพยายามที่จะนำเข้าและสื่อสารว่าช่วยลดเลิกบุหรี่ได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว กรมควบคุมโรคยืนยันว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีพิษภัย และห้ามนำเข้า 100 เปอร์เซ็นต์ หากจะนำเข้าต้องมีการแก้กฎหมาย ซึ่งในยุคนี้คงไม่มีใครทำเรื่องแบบนั้น เพราะจะเป็นอันตรายต่อเด็กและเยาวชน แม้จะมีนิโคติลในปริมาณน้อยกว่า แต่หากสูบผลลัพธ์ก็คือการเสพติดอยู่ดี ดังนั้น ฝากให้กรมควบคุมโรคและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สื่อสารสร้างความเข้าใจถึงพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้า”

Credit : Click here


พิมพ์