เปิดเวทีเสวนา ‘จากบุหรี่ไฟฟ้าถึงเบียร์ไร้แอลกอฮอล์’

เปิดเวทีเสวนา ‘จากบุหรี่ไฟฟ้าถึงเบียร์ไร้แอลกอฮอล์’

กทม.21ส.ค.-ในเวทีเสวนา ‘บุหรี่ไฟฟ้าถึงเบียร์ไร้แอลกอฮอล์’ นักวิชาการยังยืนยันบุหรี่ไฟฟ้าและเบียร์ 0% เป็นอันตรายต่อสังคมและเยาวชน | เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา และศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ(ศจย.) ร่วมจัดงานเสวนาในหัวข้อ "จากบุหรี่ไฟฟ้าถึงเบียไร้แอลกอฮอล์ ทางเลือกเพื่อสุขภาพหรือการตลาดอาบยาพิษ"

นายวศิน พิพัฒนฉัตร ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวตอนหนึ่ง โดยยังคงยืนยันว่า บุหรี่ไฟฟ้าอันตราย แม้หลายสื่อหลายกลุ่มจะนำบทความที่ระบุว่าผ่านการวิจัยในต่างประเทศมาเผยแพร่บอกว่าไม่อันตราย แถมเป็นประโยชน์ต่อคนต้องการเลิกบุหรี่ด้วยซ้ำ จากข้อมูลที่ผ่านการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ พบว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีสารนิโคติน ก่อให้เกิดการเสพติดเหมือนบุหรี่ นิโคตินมีคุณสมบัติที่ก่อให้เกิดการเสพติดสูงกว่าเฮโรอีน แอลกอฮอล์ และกัญชา ซึ่งในอุตสาหกรรมยาสูบทราบดีตั้งแต่ปี 2493 ว่าสารดังกล่าวก่อให้เกิดการเสพติดและสามารถควบคุมปริมาณที่ก่อให้เกิดความพึงพอใจกับผู้เสพได้ แต่ปิดบังความจริงนี้ไว้

นายวศิน กล่าวด้วยว่า บุหรี่ไฟฟ้าบางยี่ห้อมีสารนิโคตินสูงเทียบได้กับบุหรี่แบบปกติ 20 มวน และมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถให้นิโคตินเร็วขึ้น 2.7เท่าเมื่อเทียบกับบุหรี่ไฟฟ้ายี่ห้ออื่นๆ เพื่อให้เกิดการเสพติดได้ง่ายขึ้น ตลอดจนการพัฒนารูปแบบของผลิตภัณฑ์ให้มีความทันสมัย น่าสนใจในสหรัฐอเมริกา มีรายงานว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มนักเรียนมัธยมเพิ่มขึ้นจาก1.2ล้านคน ในปี2560 เป็น 3.6 ล้านคน และในปี 2561 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 11.7 เป็นร้อยละ 20.8 ส่วนในทวีปยุโรป และเอเชีย ต่างก็มีผลการศึกษาที่สอดคล้องกันว่า วัยรุ่นซึ่งยังไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อนและลองใช้บุหรี่ไฟฟ้ามีแนวโน้มที่จะริเริ่มสูบบุหรี่แบบปกติในเวลาต่อมา และพัฒนาไปสู่การเสพติดยาเสพติดประเภทอื่น

อย่างไรก็ตามล่าสุดต้องขอบคุณรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายกรัฐมนตรีที่แสดงจุดยืนที่ชัดเจนไม่ให้มีการนำเข้า จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า ท่ามกลางความพยายามของกลุ่มธุรกิจนี้ หรือกลุ่มผู้สนับสนุน ที่ต้องการผลักดันให้ประเทศไทย สามารถเสพบุหรี่ไฟฟ้าได้ด้วยข้ออ้างสารพัด

ด้าน นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว นักวิชาการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยระบบสุขภาพและการแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า ศวส.ได้สำรวจกลุ่มตัวอย่างที่เคยดื่มเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ จำนวน4,000 คนทั่วประเทศ พบว่าร้อยละ 69 ที่เคยดื่มเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ยังคงดื่มเบียร์ที่มีแอลกอฮอล์ตาม ปกติเท่าเดิม ส่วนคนที่จะใช้เบียร์ไร้แอลกอฮอล์มาดื่มแทนเบียร์ปกตินั้น มีเพียงแค่ร้อยละ 4

นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ หรือประมาณ 3ใน 4 เมื่อได้เห็นแพ็คเกจเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ ทำให้นึกถึงเบียร์ที่มีแอลกอฮอล์ยี่ห้อที่เป็นบริษัทเดียวกัน และร้อยละ 40 ระบุว่า เมื่อเห็นโฆษณาเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ ยิ่งทำให้อยากซื้อเบียร์ที่มีแอลกอฮอล์ยี่ห้อนั้น

ด้วยผลสำรวจดังกล่าวยิ่งตอกย้ำว่า ภาครัฐจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องควบคุมเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ เพราะสิ่งที่บริษัททำถือเป็นกลยุทธ์การตลาดที่หาช่องโหว่ทางกฎหมาย แฝงโฆษณา ใช้สัญลักษณ์ แพ็คเกจ ที่เหมือนหรือคล้ายกับเบียร์ที่มีแอลกอฮอล์ สิ่งที่เป็นผลระยะยาว คือการเพิ่มยอดขายให้เบียร์ เพราะกฎหมายทำอะไรไม่ได้ ชื่อและตราสัญลักษณ์คล้ายกัน จนแทบจะแยกไม่ออกอยากฝากภาครัฐให้รู้เท่าทัน กำกับดูแลไม่ให้จดทะเบียนการค้า หรือใช้ตราสัญลักษณ์ที่ใกล้เคียงกัน ต้องแยกประเภทเพื่อให้มีความแตกต่าง คำนึงถึงผลกระทบเพราะหากมีการโฆษณามากขึ้น เท่ากับกระตุ้นการดื่ม ซึ่งปัจจัยที่ทำให้คนดื่มมี 3 อย่าง คือราคา การโฆษณา การเข้าถึง ซึ่งเครื่องดื่มเบียร์ 0% ตอบโจทย์ชักชวนให้เกิดนักดื่มหน้าใหม่ได้ทุกข้อ.-สำนักข่าวไทย

Credit : Click here

 


พิมพ์